ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังมาถึงโค้งสุดท้าย แต่ละฝ่ายต่างก็งัดกลยุทธ์มาหาเสียงดึงคะแนนนิยมให้ตัวเอง  สิ่งหนึ่งที่เป็นที่จับตาในการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ถึง 7 แสนคนนี้ คือ “การเสนอแผนและแนวคิดจากคนรุ่นใหม่” ทีมงานของผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละคนก็มีคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเสนอ แนวคิดที่ทันสมัย  ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเมืองใหญ่  ตอบโจทย์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังตื่นตัวอยู่ทั่วโลก

ในส่วนทีมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 8 ตัวเต็งรอบนี้ มีคนรุ่นใหม่น่าสนใจคือ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม NEWDEM  ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ.2562 เขาเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ไปรับตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานที่สนใจ อาทิ เป็นผู้จัดการโครงการที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme  : UNEP) – ดูแลโครงการด้านการจัดการขยะ และพลังงานทดแทน เป็นกรรมการคณะสิ่งแวดล้อมขององค์กรเสรีนิยมสากล (Liberal International) (วาระ 4 ปี: 2561-65) และยังดำรงตำแหน่งอาจารย์โครงการวิเทศคดีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สอนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ )

พรพรหม มีภาพเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะบิดาคือนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ก็เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรคประชาธิปัตย์ แต่วันนี้เขาเลือกจะเป็นทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมให้นายชัชชาติ  เพราะเห็นว่า นโยบายการหาเสียง วิธีหาเสียง ไปถึงการทำงานแบบ “รักษ์โลก”ของนายชัชชาติตรงกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ และตรงกับกระแสตื่นตัวทั่วโลกเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนหรือ climate change  โดยพรพรหมได้ร่วมมีส่วนในการนำเสนอนโยบายให้กับทีมงานของนายชัชชาติ ที่เตรียมตัวในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ปี 62

“สาเหตุที่ผมลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับมติที่ไปร่วมรัฐบาล” พรพรหมเล่า “จากนั้นก็หันไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ผมสนใจ และในปี 62 ก็ได้ฟังวิสัยทัศน์คุณชัชชาติ และเห็นว่า น่าสนใจเพราะเขาชูเรื่องทำเมืองให้น่าอยู่  ชูเรื่องการแก้ปัญหาอะไรที่เป็นเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมกะโปรเจคที่ต้องใช้เงินมาก  เมื่อผมแจ้งกับคุณพ่อ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และยังส่งเสริมให้ลองทำงานท้องถิ่นด้วย จากที่คุณพ่อมีประสบการณ์เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน ก็ทราบว่า งานท้องถิ่นมีอะไรมาก สามารถช่วยพัฒนาได้มาก  เมื่อผมเข้าทีมคุณชัชชาติในปี 64 ก็เข้ามาเพิ่มเติมในบางเรื่อง จากที่เขาเตรียมนโยบายมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผมเสนอว่า นโยบายควรเพิ่มเรื่อง Net Zero คือการปรับตัวกับโลกร้อนด้วย”

เมื่อถามว่า กทม. จะมีแนวทางร่วมปรับตัวลดโลกร้อนอย่างไร ความเห็นของพรพรหมคือ “อันดับแรก หน่วยงาน , ยานพาหนะของ กทม.มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะมาก อย่างหน่วยงานของ กทม. ก็มีศาลาว่าการเขต 2 แห่ง สำนักงานเขต และหน่วยงานในสังกัดอื่นๆ  และยังมียานพาหนะอย่างรถขยะ รถผู้บริหาร รถเทศกิจ ซึ่งอาคารก็มีการใช้พลังงาน รถก็ใช้พลังงาน มันมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น กทม.ต้องแก้ไขตัวเองก่อนเพื่อเป็นแบบอย่าง มันต้องมีระบบคำนวณว่า ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของ กทม. ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แล้วก็คิดต่อว่า จะวางแผนลดก๊าซอย่างไร เช่น สำหรับพลังงานในอาคาร เราปรับใช้แผงโซล่าเซลล์ได้หรือไม่ รถของ กทม.เปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ( EV ) ได้หรือไม่ และต้องมีแผนกำจัดขยะกองใหญ่ ที่เป็นตัวปล่อยก๊าซมีเทนด้วย”

พรพรหมมีความคิดอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการซื้อคาร์บอนเครดิต “มันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ  คือต่างประเทศมันมีโมเดลในการขายคาร์บอนเครดิตอยู่แล้ว ว่า ถ้าคุณลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไร คุณได้ค่าตอบแทนเท่าไร แต่ไทยยังไม่มีระบบของตัวเอง ในต่างประเทศ ถ้าคุณทำอะไรลดก๊าซเรือนกระจก จะมีบริษัทตัวกลางไปประเมินราคาแล้วหาตลาดรับซื้อ บริษัทประเมินราคาชื่อดังคือ gold standard กับบริษัท Verra ในภูมิภาคนี้ตลาดรับซื้อคาร์บอนเครดิตจะอยู่ในสิงคโปร์”

“ผมยกตัวอย่างว่า อย่างชุมชนมีพื้นที่รกร้าง ก็รวมตัวกันปลูกต้นไม้   หรือกระทั่งอย่างเขตบางขุนเทียนนี่ ปลูกป่าชายเลนมันช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เยอะ เมื่อมีการรวมตัวกันสร้างพื้นที่สีเขียว กทม.ก็อาจต้องมีหน่วยงานที่เข้าไปคำนวณค่าคาร์บอนเครดิตแล้ว กทม.รับซื้อค่าเครดิตเหล่านั้น เป็นรายได้ให้ชุมชน โดย กทม.กำหนดราคาตลาดได้ หรือเราจะมีนโยบายส่งเสริมเอกชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า rewilding  ให้มันมีต้นไม้เยอะๆ กรองอากาศ ระบบรากดูดซับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกทางหนึ่ง สำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่ใช้ประโยชน์  เราอาจต้องมีมาตรการจูงใจเช่น ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน หรือให้ กทม.เช่า แต่หากเขาต้องการขายที่  กทม.ก็คืนที่ดินได้  ที่ต้องคิดคือมาตรการอย่างไรจูงใจให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น มีการอบรมรุกขกรในการตัดแต่งต้นไม้อย่างเหมาะสม ในส่วนต้นไม้ที่ กทม.ปลูก”

“ในส่วนของยานพาหนะหรืออาคารของ กทม. ก็ต้องมีการจูงใจให้ลดการใช้ไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED หรือโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ถ้าทาหลังคาเป็นสีขาว พอโดนแสงอาทิตย์มันก็ไม่ดูดกลืนความร้อนเหมือนหลังคาสีเข้ม มันก็ช่วยลดอุณหภูมิ โรงเรียนเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ก็ได้”

นโยบายของชัชชาติอีกเรื่องหนึ่งที่พรพรหมมีส่วนผลักดันคือ “ผู้ว่าฯเที่ยงคืน” ที่สร้างความปลอดภัยให้กับคนเลิกงานยามค่ำคืนและกระตุ้นเศรษฐกิจ พรพรหมอธิบายว่า “ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยระดมไอเดียเรื่องนี้ มันมาจากความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ผมเลิกงานดึกนะ แต่อยากไปวิ่งที่สวนสาธารณะกลับปิดตั้งแต่ 2 ทุ่ม คิดว่า จะขยายเวลาเปิดถึงเที่ยงคืนได้หรือไม่นะ กทม.ยังเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนในช่วงกลางคืนไม่มากพอ อย่างเรื่องการเดินทางกลับบ้าน ผมเคยลงพื้นที่ร่วมกับคุณชัชชาติที่หน้าเซนทรัลเวิลด์ ราวสี่ทุ่มกว่า พบว่า คนรอรถเมล์เยอะมาก แต่รถเมล์มีน้อย แล้วรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ปิดเที่ยงคืน ถ้ารถไม่พอเขาก็ต้องนั่งแทกซี่ มันมีมิติเรื่องการใช้ชีวิต ความสะดวกในการเดินทาง และความปลอดภัย”

“อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจของคนกลางคืน มีผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์กลางคืนมาก หาบเร่แผงลอยกลางคืนก็มี เราจะช่วยคนตัวเล็กในเรื่องนี้แบบเชิงรุกได้อย่างไร อย่างการเปิดสถานประกอบการ อาจต้องคิดถึงเรื่องการทำโซนนิ่ง ว่าตรงไหนมีศักยภาพ อาจไปต่อรองกับมหาดไทยขยายเวลาเปิดให้เขาเพิ่มในโซนนั้นได้หรือไม่  เพราะคนเที่ยวกลางคืนเขาก็จะออกมาเที่ยวหลังเลิกงานราวสามสี่ทุ่ม  หลายร้านก็ร้านเล็ก ถ้าไม่ทำครัวขายอาหารด้วยเปิดแค่แป๊บเดียวก็ไม่คุ้มทุน เรื่องการโซนนิ่ง บางจุดก็น่าสนใจอย่างเยาวราช มีซอยที่เรียกว่า ‘ซอยนานาเยาวราช’ อยู่ในย่านตึกเก่า เป็นบาร์แบบย้อนยุคสวยมาก และมีร้านที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยด้วย  ถ้าเรามองย่านไหนมีศักยภาพ กทม.ก็ต้องเข้าไปเจรจาระหว่างผู้ประกอบการกับผู้อยู่อาศัยให้อยู่ร่วมกันได้”

เมื่อถามว่า การพูดคุยจะเป็นอย่างไร พรพรหมอธิบายว่า “ก็ต้องมีมาตรการเรื่องการดูแลพื้นที่ไม่ให้รบกวนคนที่อาศัยอยู่ละแวกที่จะโซนนิ่งด้วย เช่น ต้องมีการจัดเก็บขยะกลางคืน  มีมาตรการอะไรไม่ให้คนออกมารวมกลุ่มกันนอกร้าน  หากแขกจะสูบบุหรี่ก็ต้องมีพื้นที่ไม่ให้ไปรบกวน ประเด็นสำคัญคือเรื่องเสียง ถ้าไปดูอย่างลอนดอนหรือเบอร์ลิน การอนุญาตเปิด ท้องถิ่นต้องดูเรื่องผนังเก็บเสียงในร้าน  และต้องดูแลเรื่องการอำนวยความสะดวกอย่างการจราจร หรือความปลอดภัย อย่างเรื่องเสาไฟหรือกล้องวงจรปิดเพิ่ม เรื่องการพูดคุยต้องมีตัวกลาง ที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อาจต้องมีคณะทำงานโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องไปดูปัญหาแต่ละโซนและมีมาตรการที่เหมาะสม”

เรื่องสตรีทฟู้ดกลางคืนของกรุงเทพฯ ก็เป็นเสน่ห์หนึ่ง อย่างตลาดรถไฟรัชดา พรพรหมมองว่า การจัดระเบียบเพื่อสุขอนามัยและเอื้อผู้ค้าก็จำเป็น อย่างในสิงคโปร์ มี Hawker center  ป็นย่านสตรีทฟู้ด เราอาจเพิ่มโอกาสโดยหาพื้นที่ใกล้ที่ท่องเที่ยว จราจรสะดวก ดูแลสุขอนามัยได้ มาทำตลาดนัดกลางคืน เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน  และยังมีชีวิตกลางคืนอีกรูปแบบหนึ่งคือการออกมาทำงานนอกบ้านกลางคืน อย่างคนทำงานหลายๆ คนให้เวิร์คฟอร์มโฮมบ่อย ๆ ก็เบื่อ เขาก็อยากได้พื้นที่ทำงานอื่นตอนกลางคืนบ้าง เป็น Co-working space  กทม.น่าจะสนับสนุนพื้นที่ตรงนี้ด้วย อย่างห้องสมุดต่างๆ ในแต่ละเขต หรือเป็นพื้นที่ใหญ่ในย่านคนเยอะ อย่างหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เคยเป็นธนาคารกรุงเทพสาขาสะพานผ่านฟ้า หรือมิวเซียมสยาม ก็เป็นทางเลือกได้สำหรับเป็น Co-working space 24 ชั่วโมง”               

หลังจากนี้ พรพรหมก็ยังเป็นหนึ่งในฝ่ายทีมงานและนโยบายของชัชชาติต่อไป และเขาหวังว่า นโยบายที่เสนอไปจะสามารถทำได้จริง แต่เมื่อถามถึงอนาคตทางการเมืองว่า เขาสนใจจะกลับมาเล่นการเมืองระดับชาติหรือไม่ คำตอบคือการปฏิเสธว่า “ขณะนี้ยังไม่คิดครับ เพราะผมกำลังสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อยากทำงานนี้ต่อ” 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”