ตอนนี้กระแสในอินเทอร์เน็ต หนังที่มาแรงที่สุดคือเรื่อง “คังคุไบ” ซึ่งเป็นหนังที่อ้างอิงมาจาก ชีวประวัติของนักต่อสู้เพื่อสิทธิของหญิงค้าบริการทางเพศในอินเดีย ที่บอกว่า “อ้างอิงมา” เพราะก่อนจะ ฉายก็มีคดีฟ้องร้องกับทายาท หรือบุตรบุญธรรมของคังคุไบ ที่บอกว่า เธอไม่ใช่โสเภณี แต่เป็นนักรณรงค์เท่านั้น ข่าวว่าสู้คดีกันสามสี่ปีในที่สุดศาลอินเดียก็อนุมัติให้ฉาย ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบได้ เพราะตัวจริงของคังคุไบเสียชีวิตไปแล้ว

ในหนัง คังคุไบถลำเข้ามาสู่วังวนการค้าบริการทางเพศเพราะถูกหลอก แฟนหนุ่มหลอกเธอไปขายซ่องไม่กี่รูปี จนหญิงสาวได้เห็นปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ การถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคนของโสเภณีในอินเดีย จึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “คนเท่ากัน” ตามสโลแกนที่คนไทยชอบ ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นหนังเรต PG-13 ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ดังนั้นผู้ปกครองก็แนะนำให้เยาวชนอายุเกิน 13 ปีดูได้ เพื่อให้เข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้

และด้วยความที่คนไทยมีอารมณ์ขันร้ายๆ ก็เอาประเด็นเกี่ยวกับเรื่องคังคุไบเป็นโสเภณีมาทำเป็น meme แซวกันสนุกสนาน ประเภท “ช่วยด้วยครับ แฟนผมดูคังคุไบแล้วอยากไปขายตัว”, “หล่อนดูหนังแล้วอยากเป็นคังคุไบ แต่ชีวิตจริงให้เขาฟรีตลอดบางครั้งแถมเงินอีก” หรือล้อว่า กะเทยจะพุ่งไปพาหุรัดเพื่อหาส่าหรีมาแต่งเลียนแบบคังคุไบบ้าง ก็ว่ากันไป มันก็เป็นกระแสจากหนังที่พูดถึงอาชีพที่คนไทยรู้จักดี แต่หลายคนทำเป็นไม่ยอมรับ

ลูกชายคังคุไบเดือด ลั่น Gangubai เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม  หนังบิดเบือนจนคนเข้าใจผิด

เข้าใจว่า คังคุไบนั้น ทางผู้สร้างมี ความโลกสวย อยากเชิดชูเกียรติสตรี จึงไม่ได้มุ่งนำเสนอด้านที่เป็น “พลังที่แท้จริง” ของอาชีพโสเภณีนัก คือการ ใช้เซ็กซ์เข้าต่อรอง หรือแสวงหาอำนาจ แต่เหมือนกับคนที่หันมาสนับสนุน หรือให้ใจคังคุไบในเรื่อง เพราะเห็นถึงอุดมการณ์อยากต่อสู้เพื่อ “เกียรติโสเภณี” ของเธอ ซึ่งบางคนดูไปก็บอกว่า มันเป็นลักษณะที่ไม่สมจริงไปหน่อย หรือเรียกว่ามองโลกสวย ทั้งที่พื้นที่ที่คังคุไบอยู่มันคือ พื้นที่ที่อำนาจถูกกำหนดด้วยเซ็กซ์

แล้ววรรณกรรมเกี่ยวกับโสเภณีในประเทศไทย ที่เอามาดัดแปลงเพื่อพูดถึงสิทธิของโสเภณีมีหรือไม่? มันก็มีอยู่ ได้ข่าวเหมือนกับว่าจะสร้าง “ทองประกายแสด” บทประพันธ์ของ สุวรรณี สุคนธา กันอีกแล้ว หลังจากสร้างมาหลายหน นางเอกชื่อทองดี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แม่ทองประกาย ทำงานในบาร์ และก็ ใช้เสน่ห์ของตัวเอง เป็นอำนาจในการต่อรองหาผลประโยชน์จากผู้ชายแต่ละคนๆ นับไปนับมานางทองประกายนี่มีผัว 8 คน

ทองประกายแสดเป็นนิยายที่เขียนมานานมาก สุวรรณี สุคนธา จัดเป็นนักเขียนที่ “เปรี้ยว” ในยุคนั้นที่กล้าสร้างนางเอกที่ใช้อำนาจทางเพศในการปั่นหัวผู้ชาย หรือค่อนข้างมีเสรีทางเพศมากกว่านางเอกของนักเขียนอื่นในยุคเดียวกัน อีกเรื่องที่สุวรรณีเขียนแนวๆ เดียวกันคือ “คนเริงเมือง” สร้างตัวละคร อีพริ้ง ดังเสียทั่วเมือง และสร้างหนังสร้างละครไม่รู้กี่รอบเหมือนกัน ..ซึ่งถ้าเอานิยายเกี่ยวกับอาชีพทำงานกลางคืนหรือโสเภณีมาสร้าง ทองประกายแสด นี่ดูเหมือนจะตรงกับ mind set ของคนทำงาน sex worker ในไทย (หรืออาจระดับสากลไปเลยก็ได้)

ทองประกายแสด เรื่องย่อ ทองประกายแสด

ไอ้ที่ว่าตรง ก็คือ mind set หลักคือ การตักตวง กอบโกยให้ได้มากที่สุดในช่วงที่ยังอยู่ในแวดวงอาชีพ บางคนมาทำงานตรงนี้เพื่อโอกาสได้เจอ “ช้างเผือก” หรือมีคนอุปการะให้สบายไปตลอด ไม่มีใครอยากขายไปจนวันตาย และขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีใครที่คิดจะต้องลุกขึ้นมา “ปฏิวัติวงการโสเภณี” ใดๆ เพียงแค่ต่างคนต่างทำงานกัน ชิงดีชิงเด่นกัน ใครจับช้างเผือกได้ มีคนมาเปย์เงิน ให้ของแบรนด์เนมแพงๆ ก็เอามา “ขิง” หรือเอามาอวดกัน เสร็จสมอารมณ์หมายได้รู้สึกเหนือกว่าชาวบ้านแล้วก็แยกย้ายไปทำงานต่อ หาช้างเผือกรายใหม่

บางรายไม่ได้มี “ช้างเผือก” ดูแลรายเดียว แต่เป็นประเภทสับรางเป็น คือมีคนมา “ผูกปิ่นโต” อยู่หลายเจ้า อย่างให้แขกต่างประเทศเลี้ยง ช่วงแขกต่างประเทศไม่อยู่ ก็ให้แขกไทยเลี้ยงหรือจ่าย และบางคนก็เอาไปเปย์ให้แฟนตัวเองต่อ หรือไม่ก็ละลายไปกับวงการพนัน วงการยาเสพติด เพราะมองว่า อาชีพนี้เงินมันหาง่าย ค่อยไปตายเอาดาบหน้า..สิ่งที่น่าสนใจคือ ในวงการค้าประเวณีชาย ที่ขาย..ไม่เรียกว่าแอบหรือเปล่า เพราะก็เห็นโพสต์ลงทวิตเตอร์กันโจ้งๆ คือ “รับงานไฮ” หมายถึงออฟเด็กไปแล้วต้องให้เด็กเล่นยาด้วยเพราะเด็กขอเล่นเอง ในประเทศไทยใช้ยาเสพติดระหว่างมีเซ็กซ์มาก

Photo by Dainis Graveris on Unsplash

เอาจริงคือ อาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกในบ้านเรานี่ มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ และหลังๆ คือสังคมก็ยอมรับการมีอยู่ การรวมตัวเพื่อการต่อรองสิทธิ ต่อรองเกียรติอะไรก็ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดีพอ ประกอบกับมีพวก “ศิลปินอิสระ” คือไม่สังกัดที่ไหน ก็เยอะ มาทำแค่พอหาเงินซื้อของก็เยอะ มีเด็กเอ็นฯที่พร้อมรับงานเซ็กซ์อีก พวกนี้ เขาไม่ได้ต้องการแสดงตัวว่าทำอาชีพนี้พอที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้การขับเคลื่อนทางสังคมของผู้ค้าประเวณี (sex worker) แข็งแกร่ง   

แล้วเราควรจะขับเคลื่อนโสเภณีเสรีอย่างไร?  ก็เห็นมี พรรคก้าวไกล เสนอกฎหมาย และก็มี ภาคประชาชน เสนอกฎหมาย ต่างฝ่ายต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่หลักใหญ่ใจความที่สำคัญคือ “ให้มันถูกกฎหมาย ถ้าขายตำรวจไม่จับ” ก็พอ ซึ่งถามจริงว่า เอาแค่นั้นพอเหรอ? ไม่คิดถึงเรื่องการหาอาชีพไว้เลี้ยงตัวหลังปลดระวางหรือติดโรค หรือเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเลยเหรอ ? หรือแบบโยนส่งๆ ว่า “แค่แต่ละคนมีจิตสำนึกในการจัดการตัวเองก็พอแล้ว”

ก่อนจะพูดเรื่องจิตสำนึก พูดถึงเรื่องความรู้กันก่อนก็ดี กลุ่มคนความรู้น้อย ต่างด้าว เข้ามาในวงการนี้มาก  เอาเป็นว่า ถ้าไปถามผู้ค้าประเวณีชายที่เป็นเด็กดอย บางรายยังมีความเชื่ออยู่เลยว่า “สดกับผู้หญิงไม่ติดเอชไอวี” ..ง่ายๆ เชื่อว่าเอชไอวีติดแต่จากเกย์ ว่าซั่น บางคนต้องรอ “ออกดอก” ก่อนถึงจะไปตรวจแล้วพบว่าเป็นซิฟิลิส เอาเอ็นจีโอไปอบรมก็ไม่ทั่วถึง แถมมีกรณี เล่นไฮ เข้ามาเยอะอีกในช่วงนี้ทำให้ยิ่งปล่อยปละละเลยต่อการป้องกันตัว

ลองคิดดูว่า ถ้ามีนโยบายให้ขึ้นทะเบียนการประกอบอาชีพบริการทางเพศ แต่ข้อมูลต้องถูกปกปิด เปิดเผยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับ การตรวจเลือดและติดตามผลสุขภาพหากติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น จะดีหรือไม่? หรือกระทรวงมหาดไทยก็รับทราบเพราะการเปิดสถานบริการขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ถ้ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีความเสี่ยงเข้าไปทำงาน ต้องดึงออกจากระบบมาหางานการอื่นให้ทำ

Photo by Maru Lombardo on Unsplash

ส่วนเรื่องเกียรติยศของผู้ประกอบอาชีพนี้ ก็เห็นว่า ในสังคมเมือง หลังๆ เขาก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เปิดกว้างเรื่องเซ็กซ์มากขึ้น การตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชนในระยะหลังทำให้คนเราเคารพเรื่องสิทธิในร่างกายมากขึ้น จะไม่เคารพถ้ารู้ว่า “ตัวเองเป็นแหล่งแพร่โรค พวกติดยาแล้วสร้างปัญหาต่อสังคม แล้วยังดึงดันจะทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น” แต่รอยต่อระหว่างรุ่น ก็ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังอนุรักษ์นิยม ไม่ได้เข้าใจหรือเคารพเรื่องสิทธิในร่างกายนัก..ทางออกเกี่ยวกับเรื่องการมีศักดิ์ศรีของกลุ่มอาชีพนี้ในประเทศไทยคือ “เลือกอยู่ในสังคมที่อยู่แล้วสบายใจ” ไปดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากสร้างอะไรแนวๆ คังคุไบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับอาชีพโสเภณี พยายามนึกถึงวรรณกรรมเก่าๆ ของไทยที่ตรงๆ ก็เช่น “รอยมลทิน” ของทมยันตี ซึ่งเขียนนานแล้วเหมือนกัน แต่เอามาตีความใหม่ได้ ในทำนองที่นางเอกก็มีความเป็นมนุษย์และด้านละเอียดอ่อน อยากได้รักและถูกรักเหมือนคนทั่วไป อยากให้สังคมรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเข้าสู่วงการนี้แต่เพราะมันจำเป็นถึงที่สุด ดังนั้น อย่ามองพวกเขาเป็นของน่ารังเกียจ และรับรู้ว่า พวกเขาก็ปฏิบัติตนอย่างให้เกียรติผู้อื่น ไม่ใช่แบบว่า “ถ้าทำงานนี้ก็ร้ายๆ แรงๆ”

หรือไม่ก็ถ้าเห็นว่ารอยมลทินเก่าไป ลองพล็อตขึ้นมาใหม่ก็ได้ ใครอยากพล็อตลองไปทำการบ้านตาม “ย่านหลัก” สิ วัตถุดิบน่าสนใจเอามาปรับใช้ได้เพียบ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณรูปภาพจาก Netfilx เเละ Unsplash