วันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิ.ย.

ต้องยอมรับว่าระยะหลังหลายประเทศทั่วโลกปรับทัศนคติรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดยาเสพติดที่ไม่ใช่เพียงปราบปราม เช่นประเทศไทยที่ค่อยๆ ทำความเข้าใจ เปิดมุมมองใหม่ กระทั่งมีการปลดล็อกสถานะพืชเสพติดบางชนิดให้สามารถใช้ส่วนที่เป็นประโยชน์ ยกตัวอย่าง การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชา และการใช้ตามวิถีพื้นบ้านของกระท่อม ขณะที่อีกด้านยังเดินหน้าปรับแก้กฎหมายยาเสพติดใหม่ โดยเฉพาะบทลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติการณ์มากขึ้น

เร็วๆ นี้มีอีกประเด็นน่าสนใจ เป็นการผลักดันจากฐานเล็กๆ ก่อนสู่สังคมผู้ใหญ่นั่นคือ ความร่วมมือระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงศึกษาธิการ ในการบรรจุหลักสูตรสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดที่มากขึ้นในระบบการเรียนการสอน

เมื่อยาเสพติดมีโอกาสแทรกซึมอย่างไม่มีข้อยกเว้นเด็ก-ผู้ใหญ่ การติดอาวุธให้เท่าทันโทษภัยจึงจำเป็น…

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เองก็ยอมรับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็น “วัยเสี่ยงสูง” การให้ความรู้เรื่องยาเสพติดที่ถูกต้องควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิตจึงสำคัญ เปรียบเสมือนวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เข้มแข็ง เป็นที่มาของการที่ ป.ป.ส. ได้ให้นักวิชาการด้านการศึกษา พัฒนาและจัดทำคู่มือการสอนยาเสพติดได้สำเร็จ ก่อนเริ่มนำไปสอนในรายวิชาสุขศึกษา หรือประยุกต์ใช้ในกิจกรรมหรือรายวิชาอื่นๆ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2564 ของนักเรียนในระดับประถมศึกษา 1-6 และระดับมัธยมศึกษา 1-6 หรือเทียบเท่า

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวมีการพัฒนาชุดความรู้เนื้อหายาเสพติดที่เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงมีการจัดแผนกิจกรรมเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านยาเสพติดตามเป้าหมายของ ป.ป.ส. และเชื่อมโยงกับการเพิ่มทักษะชีวิตตามเป้าหมายหลักสูตรแกนกลาง โดยแต่ละระดับชั้นจะกำหนดสาระการเรียนรู้ที่ค่อยๆ พัฒนาไปสู่ทักษะการใช้ชีวิตจริง เช่น

ระดับชั้น ป.1 จะให้ทำความรู้จักกับยาเสพติด โทษภัยที่เน้นเรื่องร่ายกาย ระดับชั้น ป.2 เริ่มใส่โทษภัยที่เน้นเรื่องสมอง ระดับชั้น ป.3 ให้เริ่มเรียนรู้ข้อปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง ระดับชั้น ป.4 เพิ่มทักษะการปฏิเสธ รู้วิธีป้องกันตัวเองจากการชักชวน ระดับชั้น ป.5 เพิ่มการใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด การตรวจสอบข้อมูล และผลกระทบจากยาเสพติดทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ระดับชั้น ป.6 รู้จักประเภทยาเสพติด การใช้ยาในทางผิด การแพร่ระบาด เพื่อสร้างทักษะคิด วิเคราะห์และตัดสินใจ

จากสถิติของ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแต่ละปี หากจำแนกตาม “ฐานความผิด” จะพบว่าเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ “ครึ่งหนึ่ง” มาจากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งสิ้น อาทิ

ปี 2561 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ 22,609 คน เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 11,352 คน
ปี 2562 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ 20,842 คน เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 10,634 คน
ปี 2563 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ 19,470 คน เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด   9,600 คน

เฉพาะในปี 2563 ซึ่งมีจำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 9,600 คดี คิดเป็นร้อยละ 49.31 ของคดีทั้งหมด รองลงมาคือคดีที่มีฐานความผิดอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.การพนัน จำนวน 4,140 คดี คิดเป็นร้อยละ 21.26 ที่เหลือเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 2,028 คดี ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย จำนวน 1,705 คดี ฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ จำนวน 790 คดี ฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด จำนวน 770 คดี และฐานความผิดเกี่ยวกับความสงบสุข เสรีภาพ ชื่อเสียงและการปกครอง จำนวน 43 คดี

สถิติข้างต้นย้ำภาพยาเสพติดคือหนึ่งปัจจัยหลักก้าวพลาด ผลักเด็กและเยาวชนสู่สถานพินิจฯ ซึ่งอีกมุมหนึ่งคล้ายภาพจำลองปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำสถานที่ควบคุมผู้กระทำผิดในวัยผู้ใหญ่ ส่วนมากหรือกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ต้องโทษความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด

หวังว่าการเริ่มต้นบรรจุหลักสูตรเรียนรู้โทษภัยยาเสพติดมากขึ้นตั้งแต่วัยนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางอนาคตชาติได้ไม่มากก็น้อย

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน
[email protected]