“…มีผลวิจัยที่ชี้ว่ากัญชาสามารถส่งผลต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้…” …นี่เป็นเนื้อความสำคัญตอนหนึ่งจากบทความเรื่อง “โจทย์ใหญ่ไร้ข้อกำหนด ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังปลดล็อกกัญชาเสรี” โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์, รัศมีจันทร์ เสาวคนธ์ นักวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์, ดร.สลิลธร ทองมีนสุข อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ได้ศึกษาวิจัย “ผลจากการใช้กัญชาที่มีต่อการขับขี่”

ไทย “ปลดล็อกกัญชา” เพื่อเศรษฐกิจ-การแพทย์

หากแต่ “ผลลบด้านสุขภาพเป็นประเด็นเซ็งแซ่”

และรวมถึงกรณี “เมากัญชาแล้วขับ” ที่ก็ “น่าห่วง!!”

ทั้งนี้ กับบทความ “โจทย์ใหญ่ไร้ข้อกำหนด ความปลอดภัยบนท้องถนน หลังปลดล็อกกัญชาเสรี” โดยนักวิชาการ-นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ ณ ที่นี้ในวันนี้…มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “กัญชา” ที่ก็ “น่าพินิจอย่างมาก” ซึ่งโดยสังเขปมีดังนี้คือ… การปลดล็อกกัญชานำมาซึ่ง “ความกังวล” ของหลายภาคส่วน รวมถึงประเด็น บริโภคกัญชาแล้วจะมี “ผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่” ในลักษณะเดียวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่?-เพียงใด? จะซ้ำเติมปัญหา “อุบัติเหตุทางถนน” ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่? และหากเป็นเช่นนั้นควรจะต้องมีวิธีการป้องกันและรับมืออย่างไร?   

“กัญชา” นั้นมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือ “สารเมา” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า “THC” ซึ่งนักวิชาการ-นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุไว้ในบทความว่า… ผลจากการใช้ “กัญชา” ต่อความสามารถในการขับขี่นั้น แม้การศึกษาของ National Highway Traffic Safety Administration หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า… ความสามารถในการขับขี่อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสาร THC ในเลือด และอาจไม่สร้างความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากไปกว่าผู้ขับขี่ทั่วไป แต่ก็มีผลการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย เช่น ผลการศึกษาของ Godfrey D. Pearlson และคณะ แสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาส่งผลกระทบต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้อย่างชัดเจน แม้จะน้อยกว่าสารเสพติดชนิดอื่นเมื่อเปรียบเทียบกัน เช่น แอลกอฮอล์ โดย การใช้กัญชาอาจกระทบต่อความว่องไว ต่อปฏิกิริยาการตอบโต้ รวมทั้งต่อการใช้สมาธิขับขี่ และต่อความสามารถในการรับรู้

ในบทความของทางทีดีอาร์ไอระบุไว้อีกว่า… แม้จะยังไม่พบข้อมูลสถิติจากแหล่งใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าการใช้กัญชาทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น เพราะที่ผ่านมายังไม่สามารถหาวิธีที่จะพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างผลของการใช้กัญชากับความสามารถในการขับขี่จากการศึกษาต่าง ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดอาจไม่ได้ส่งผลต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยตรง แต่ก็ ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการใช้กัญชาไม่สร้างความเสี่ยงใด ๆ ในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศ… ประเทศ อุรุกวัย ถือว่า ผู้ขับขี่ที่ตรวจเลือดและพบว่ามีสาร THC มีความบกพร่องในการขับขี่ ขณะที่ อังกฤษ และ แคนาดา มีการ กำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ไม่เกิน 2 ng/mL ส่วน เยอรมนี กำหนดให้ผู้ขับขี่มี THC ได้ ไม่เกิน 1 ng/mL โดยตรวจเฉพาะในเลือดส่วนเซรั่ม (Blood Serum)

ที่ สหรัฐอเมริกา ทั้ง 50 รัฐ มีการจัดการ “กัญชา” ด้วยวิธีเดียวกับแอลกอฮอล์ โดยนำกรณี “เมากัญชาแล้วขับ” เข้าระบบกฎหมายว่าด้วยการขับรถภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละรัฐนั้นแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ… 1.ไม่ยอมรับให้มีสาร THC ในผู้ขับขี่ได้เลย, 2.กำหนดให้เป็นความผิดสำหรับการมีความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ในบางระดับ, 3.กำหนดว่าเป็นความผิดจากการพิจารณาว่าผู้ขับขี่ได้รับผลกระทบในการขับขี่จากการใช้กัญชาหรือไม่, 4.กำหนดให้มีความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ได้ไม่เกิน 5 ng/mL

จากข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาในเรื่องนี้กรณีนี้จากแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… ประเด็น “ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่” เป็นประเด็นที่ “ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง” สำหรับประเทศที่ปลดล็อกกัญชา แม้จะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนโดยตรงถึงผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แต่ก็มีผลวิจัยที่ชี้ว่า…

“กัญชาสามารถส่งผลต่อความสามารถบางอย่างที่สำคัญต่อการขับขี่ได้” …ประกอบกับมี “ข้อแนะนำเรื่องการใช้กัญชา” ที่มีส่วนที่เกี่ยวกับการขับรถด้วย ดังปรากฏในแถลงการณ์ของทาง มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เนื้อหามีว่า…ผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง

ทั้งนี้… “ประเทศไทยก็ควรต้องเร่งศึกษาผลกระทบของการใช้กัญชาต่อความสามารถในการขับขี่ เพื่อกำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจราจรสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อการป้องกัน อุบัติเหตุจากกรณีขับขี่ภายใต้อิทธิพลของกัญชา โดยอาจพิจารณากำหนดความเข้มข้นของสาร THC ในเลือดของผู้ขับขี่ในระดับ 0 ng/mL เพื่อตอกย้ำว่าการขับขี่หลังการใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และควรเตรียมจัดเก็บข้อมูลสถิติอุบัติเหตุที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาเพื่อศึกษาและจัดทำนโยบายที่เหมาะสม” …นี่ก็เป็นอีกหลักใหญ่ใจความจากเนื้อหาในบทความของ ทีดีอาร์ไอ เรื่องดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็นการ “กิน-ดื่ม” และโดยเฉพาะการ “ดูด”

กับประเด็น “ใช้กัญชาแล้วขับ” นี่ก็นับว่า “น่าห่วง”

ทั้งกับผล “ง่วง!!-เมา!!” และโดยเฉพาะ “หลอน!!”.