สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท

ถือเป็นโครงการรถไฟไฮสปีดสายแรกของประเทศไทย มีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ เป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

อธิบดีขร. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ฉายภาพรวมการก่อสร้างโครงการได้ผลงาน 12% ก่อสร้างเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 3 สัญญา ล่าช้ากว่าแผนจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คลี่คลายการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติไม่เป็นปัญหาอุปสรรคเหมือนที่ผ่านมา งานในส่วนที่ค่อนข้างยากได้ผ่านไปแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะทำให้การก่อสร้างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สิ้นปี 65 คาดว่างานก่อสร้างจะคืบหน้าถึง 20% และจะก่อสร้างแล้วเสร็จรวมทั้งทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 69 เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเปิดบริการประชาชนต้นปี 70 ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ติดตามงาน 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว, ช่วงกุดจิก-โคกกรวด และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ทั้ง 3 สัญญา ผู้รับจ้างรอเข้าพื้นที่ก่อสร้างในส่วนของพื้นที่เวนคืนเอกชน และชาวบ้าน

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการฯ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศบังคับใช้ต่อไป ช่วงรอประกาศบังคับใช้กฎหมาย ผู้รับจ้างได้เร่งงานก่อสร้างในส่วนของพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ได้ผลงาน 92.5% เตรียมติดตั้งช่วงสะพานสุดท้าย (Last Span) ของทางยกระดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.65 ถือเป็นสัญญาที่ 2 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จต่อจากสัญญาแรก1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ส่วนสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด 37.4 กม. คืบหน้า 27.78% รอเข้าพื้นที่เวนคืน 10 กม. จะแล้วเสร็จ ม.ค.67 ส่วนสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย 12.9 กม. คืบหน้า 23% รอเข้าพื้นที่เวนคืนบริเวณสถานีสระบุรี ประมาณ 86 ไร่ จะแล้วเสร็จปลายปี 67

สำหรับอีก 11 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง 12.2 กม. คืบหน้า 1.21% สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 21.6 กม. คืบหน้า 7.08% สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 12.3 กม. คืบหน้า 2.26% สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร 21.8 กม. คืบหน้า 0.04% สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กม. คืบหน้า 1.88% สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.6 กม. คืบหน้า 0.06%

ขณะที่อีก 3 สัญญา ยังรอลงนามสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า 30.2 กม. สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 15.2 กม. สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กม.

อธิบดี ขร. ยังอัพเดทโครงการฯเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 3 แสนล้านบาทด้วยว่า รฟท. ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หากมีแนวโน้มราบรื่นดี คาดว่าจะเสนอโครงการฯ ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติประมาณเดือน ต.ค.65 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในปลายปี 65 ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีน

ด้านนายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ รฟท. บอกว่า หาก ครม. เห็นชอบโครงการฯ รฟท. จะใช้เวลาประกวดราคา (ประมูล) 7 เดือน น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.66 ใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณราว 4 ปี แบ่งก่อสร้างไม่เกิน 10 สัญญา เพื่อความรวดเร็ว พื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้เขตรถไฟเดิมเกือบทั้งหมด เวนคืนน้อยมาก

สามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71 ใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กม.ต่อ ชม. เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย 609 กม. ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที.

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเริ่มงานก่อสร้างโครงการสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างคันทางเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ปี 60 เมื่อต้นปีโครงการก้าวสู่ปีที่ 5 ได้ผลงานก่อสร้าง 3.53% ขณะนี้ผลงานเกิน 10% ถ้าทำได้ตามนี้ รอกันอีก 5 ปี รวม 10 ปีพอดิบพอดี ที่จะได้ใช้บริการรถไฟไฮสปีดสายแรกของประเทศไทย

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…