วิกฤติโควิด-19 ระลอกนี้ เริ่มต้นเดือน ส.ค. นอกจาก ศบค. จะตัดสินใจล็อกดาวน์ต่ออีก พร้อมขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม เป็น  29 จังหวัด แนวพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตกที่ติดกับประเทศเมียนมา ไล่จากภาคเหนือ อ.แม่สอด จ.ตาก จากภาคกลาง จ.กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ทอดยาวไปถึงภาคใต้ตอนบน ชุมพร และระนอง ช่วงนี้ถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษเช่นกัน หลังจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้แสดงความกังวลว่า กำลังขยับใกล้ระดับ เลวร้ายถึงขีดสุด

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้ว ตอนที่ 1 ถึงความเคลื่อนไหวการรับมือตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีพื้นที่อาณาบริเวณติดต่อกับเมียนมา 5 อำเภอ สำหรับตอนที่ 2 ตามไปดูความเคลื่อนไหวพื้นที่ จ.กาญจนบุรี  ซึ่งเป็น1 ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้มซึ่งทางศบค.ประกาศล็อกดาวน์  มีพื้นที่แนวชายแดนติดต่อเมียนมา เป็นระยะทางยาวถึง 370 กม. อีกทั้งยังมีช่องทางธรรมชาติที่เป็นป่าเขา จึงเป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในการสกัดกั้นชาวต่างด้าว มีทั้งหลบหนีเข้ามาทำงาน หนีภัยปัญหาความวุ่นวายในประเทศ และวิกฤติโควิด กำลังติดเชื้อรุนแรง ทำให้ต้องจัดหาสถานที่กักตัวเพื่อช่วยตามหลักมนุษยธรรม

กาญจนบุรีตั้งด่านสกัด 11 จุด 5 อำเภอ

สถานการณ์ล่าสุด นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี  เรียกประชุม ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดกาญจนบุรี  ครั้งที่ 6  เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 พ.ต.อ.พงษกร อุปพงษ์ รอง ผบก.ภ.จว.กาญจนบุรี พ.อ.บรรเจิด จันทร์ส่งเสริม รอง ผอ.รมน.กาญจนบุรี นายรณภพ เวียงสิมมา ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางในควบคุมดูแลพื้นที่ตามแนวชายแดน รวมทั้งได้ร่วมหารือเพื่อให้การปฏิบัติงานมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

โดยในที่ประชุม มีการสั่งตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จากเดิม 7 จุด เป็น 11 จุด ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ทั้ง 5 อำเภอของ จ.กาญจนบุรี ได้แก่ อ.เมืองกาญจนบุรี, ด่านมะขามเตี้ย, ไทรโยค, ทองผาภูมิ และสังขละบุรี  ตลอด 24 ชั่วโมง  เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมไปถึงสังเกตอาการของผู้เดินทางและพฤติกรรมเสี่ยงของการติดต่อโรค  ในส่วนของประชาชนมีความจำเป็นเหตุฉุกเฉิน ที่จะต้องออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ต้องขออนุญาตจากนายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย ส่วนการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่อำเภอระหว่างเวลา 04.01-20.59 น. ต้องแจ้งหรือแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจจุดสกัด ในที่ตั้งของแต่ละอำเภอ 

นอกจากนี้ยังกำชับให้ฝ่ายปกครองอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ทั้ง 5 อำเภอ ติดตามสอดส่องดูแลในพื้นที่ ในด้านการลักลอบอพยพและจุดซุ่มตัวของกลุ่มต่างด้าว รวมทั้งรายงานมายังจังหวัดกาญจนบุรีอย่างเร่งด่วน เนื่องจากยังคงมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองได้ต่อเนื่อง ปัจจุบันจัดสถานที่สำหรับกักตัว แยกไปไว้เฉพาะ อาทิ สถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร หรือ (OQ) ที่จัดตั้งขึ้นภายในบริเวณกองร้อย ตชด.ที่ 136 ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค มียอดสะสม 277 คน ออกไปแล้ว 246 เหลือ 31 คน และกำลังเตรียมสร้างรพ.สนาม ขนาด 250 เตียง ส่วน สถานที่กักกันเขาชนไก่ อ.เมืองกาญจนบุรี มียอดแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อ อยู่ในระหว่างการดูแลรักษา 419 คน

ขณะเดียวกันในพื้นที่ จ.ระนอง แนวชายแดนด้านทิศตะวันตกของประเทศไทยตอนล่าง มีเขตแดนติดต่อกับ จังหวัดเกาะสอง เมียนมา เป็นระยะทางกว่า 200 กม. ตั้งแต่ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ไปถึง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ที่สำคัญ ระยะทาง 80 กม.จากพื้นที่ปากน้ำระนอง ไล่ขึ้นไปถึง อ.กระบุรี ก็มีเพียงแม่น้ำกระบุรี เป็นแนวเขตกั้น บางจุดแม่น้ำมีความกว้างเพียง 10 เมตรเท่านั้น ในช่วงที่สถานการณ์ปกติ ตลอดแนวแม่น้ำกระบุรี มีหลายจุด ที่ผ่อนปรนให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ ทำการค้าขายสินค้าท้องถิ่น ทั้งสัตว์น้ำและสินค้าเกษตรอื่นๆ ระหว่าง ชาวระนอง กับ ชาวเกาะสอง แต่ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 1 จุดผ่อนปรน และด่านชั่วคราวทั้งหมดถูกปิดถาวร

ระนองชุมพรเปิดศูนย์เฝ้าระวังชายแดน

ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผวจ.ระนอง เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อภายในจังหวัดระนองถือว่าเบาบางลงแต่ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการติดเชื้อในกลุ่มคนไทย จากที่ในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ค. เป็นการพบติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทยถึง 2 ใน 3 ขณะที่ชาว จ.ระนองรับวัคซีนไปแล้วถึงร้อยละ 53  ในส่วนแรงงานต่างด้าวราว 40,000 คน กำลังจะได้รับวัคซีนจากกลุ่มอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะมีการดำเนินการในเร็วๆนี้ ทราบว่าขณะนี้ในประเทศเมียนมา มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะจากตอนกลางของประเทศ หลายครั้งเราสามารถจับกุมชาวเมียนมาลักลอบเข้ามาในประเทศไทยผ่านทาง จ.ระนอง มีเพียงแม่น้ำกระบุรีกั้นเขตแดน ตรงนี้มีความยาวกว่า 60 กม. เป็นช่องทางธรรมชาติที่เดินทางเข้าออกได้ ทำให้เราเป็นห่วงจุดนี้มาก

ผวจ.ระนอง กล่าวต่อว่า ล่าสุดทาง  พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 ได้สั่งเปิดศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไวรัสโคโรนา  2019 ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดระนอง-ชุมพร เพื่อสกัดกั้นแรงงานต่างด้าว โดยทาง ฝ่ายทหาร จะรับผิดชอบด่านนอกสุดลาดตระเวนเขตชายแดน ชั้นรองลงมาเป็นหน้าที่ ฝ่ายปกครอง  ตั้งจุดสกัดในพื้นที่กระบุรี 8 จุด และชั้นในสุดให้ ฝ่ายตำรวจ และชุมชน ร่วมกันสอดส่องดูแล เชื่อว่ามาตรการที่เรากำหนดขึ้นมาจะสกัดกั้นการนำเข้าเชื้อจากภายนอกประเทศได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนท่าเทียบเรือศุลกากร ยังอนุญาตให้เรือขนส่งสินค้าเข้าออกได้ตามปกติแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด คือ ห้ามคนในเรือสินค้า หรือ คนงานขึ้นฝั่งโดยเด็ดขาด และเรือสินค้าทุกลำจะต้องออกจากท่าเทียบเรือก่อนเวลา 18.00 น. โดยมี ศรชล. แรงงานจังหวัด ฝ่ายปกครอง ศุลกากร คอยควบคุมตลอดเวลา

ทหารช่วยตรวจเข้มทั้งทางน้ำทางบก

พล.ต.ศานติ สกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา (ระนอง-ชุมพร) มีช่องทาง/ท่าข้าม/ที่ลุยข้าม 39 ช่องทาง โดยถูกต้องตามกฎหมาย 5 จุด (จุดผ่านแดนถาวร 4 จุด จุดผ่อนปรนการค้าชายแดน 1 จุด) นอกจากนั้นยังมีช่องทางธรรมชาติ จุดท่าข้ามและลุยข้าม อีก 34 ช่องทาง กระจายทั้งทางน้ำและทางบกตลอดแนว ครอบคลุมจังหวัดระนองและชุมพร กองทัพภาค 4 ซึ่งรับผิดชอบการป้องกันแนวชายแดน ได้ปรับแผนการทำงาน ด้วยการจัดวางกำลังเป็น 3 แนว  คือ พื้นที่ตามแนวชายแดน กำลังทางบก วางกำลังเป็นชุดเฝ้าตรวจชายแดน ลาดตระเวนเฝ้าตรวจ ควบคุมภูมิประเทศสำคัญตามแนวชายแดน และเสริมช่องว่างด้วยชุดปฏิบัติการทางบก

ส่วนทางน้ำ วางกำลังจุดตรวจเกาะสะระนีย์  อ.เมืองระนอง และชุดปฏิบัติการฉลามลาดตระเวนทางน้ำและชายฝั่ง ส่วนในพื้นที่ชั้นกลาง จัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ/จุดสกัดในพื้นที่ จ.ระนอง และ ชุมพร จำนวน   6 จุด ปฏิบัติภารกิจเชิงรุกตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อพบผู้ลักลอบหรือผู้ต้องสงสัย และสนับสนุนกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองในการตั้งจุดตรวจพื้นที่ชั้นใน การทำงานของฝ่ายทหารจะเป็นไปตามนโยบายการปฏิบัติในการสกัดกั้น คือ การสกัดกั้นการลักลอบการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ (โดยเน้นการนำไปสู่การขยายผลจับกุมขบวนการ), การสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าทางการเกษตร, การสกัดกั้นการลักลอบนำถังออกซิเจนออกนอกราชอาณาจักร และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ตามแนวชายแดน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกกรณี

นพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์แนวโน้มผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าวจะลดลง แต่ในสถานการณ์ด้านชายแดน ยังไม่สามารถวางใจได้ ยังคงต้องเข้มงวดมาตรการการคัดกรอง ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงตลอดแนวชายแดนของจังหวัดระนอง ทั้งทางบกและและทางน้ำ ส่วนพื้นที่ตอนในก็มีด่านตรวจโควิด อยู่ 5 ด่าน ใน 4 อำเภอ และในชุมชนมีชุดของกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ติดตามข่าวความเคลื่อนไหว หวังว่าจะสามารถสกัดชาวต่างด้าวไม่ให้เข้ามาในเขตชั้นในได้ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้อง เราก็ปฏิบัติและให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเช่นเดียวกับคนไทย ตามกำลังและความสามารถที่เรามีอยู่อย่างสูงสุด.