“มานคร นอนวัด” เป็นกิจกรรมที่น่าจะมีการศึกษา ต่อยอด ขยายผลต่อไปในหลาย ๆ กิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เพราะสามารถดึงคนเข้าวัดเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นวัยรักสนุก รักการท่องเที่ยวและห่างไกลการเข้าวัดเข้าวามากพอสมควร

แต่ในช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จับมือกัน ผุดกิจกรรม “เข้าพรรษาแนวใหม่” หรือเรียกกันในชื่อ “มานคร นอนวัด” ซึ่งแนวคิดนี้ “นายองอาจ พรหมมงคล” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน อธิบายให้ฟังว่า ทางเรามีแนวคิดในการเชิญชวนคนลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วิถีใหม่ แล้วได้มาเห็นรูปแบบการจัดกิจกรรมของผู้ประกอบการในพื้นที่บ้านวัดเราะ ซึ่งเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในรูปแบบของการตั้งแคมป์ ปลอดเหล้า

เรียกว่า พอแนวคิดตรงกันก็เลยจับมือใช้ประเพณีเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้น เชิญเครือข่ายนักศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม วางรูปแบบกิจกรรม 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ 1.กิจกรรมทางศาสนา คือ เวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา ฟังเทศน์ ตื่นเช้ามาก็ตักบาตร 2.กางเต็นท์ และมีกางเต็นท์นอน มีลานกิจกรรมของครอบครัวต่าง ๆ และ 3.การแสดงบนเวทีที่มีทั้งศิลปะพื้นบ้าน เช่น มโนราห์ ดนตรีสมัยใหม่ โดยศิลปิน 3 กลุ่มคือ ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินที่แสดงในร้านผับบาร์ในพื้นที่ และศิลปินจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

“เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยดึงวัยรุ่นให้หันมาเข้าวัดมากขึ้น โดยมีการตั้งแคมป์ ที่กำลังได้รับความนิยม และดนตรีเป็นสิ่งดึงดูด กิจกรรมภายในงานก็แฝงกิจกรรมชวนเลิกเหล้า ตามทฤษฎี Nudge (สะกิด) เชื่อว่าจะทำให้เกิดพฤติกรรมลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยไม่รู้สึกฝืน โดยเฉพาะเราเชื่อว่า เมื่อเข้ามาร่วมกันเป็นครอบครัว ซึ่งมีลูก ๆ อยู่ด้วยนั้น จากการศึกษาของเราพบว่าหากลูกชวนพ่อแม่เลิกเหล้าจะทำให้เกิดผลสำเร็จมาก”

ดังนั้นจึงตั้งเป้าว่าใน 50 ครอบครัวที่มาร่วมกิจกรรมนั้น น่าจะมีสัก 80% ที่สามารถงดเหล้าได้ในช่วง 3 เดือน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาวด้วย ซึ่งทางเราเตรียมต่อยอดรูปแบบดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัดและทั่วประเทศต่อไป เช่น กิจกรรมตั้งแคมป์ วิ่งงดเหล้า

อีกหนึ่งคนสำคัญคือ “ณัฐพล จะสูงเนิน” หรือ “ปาล์ม” ผู้จัดงานมานครนอนวัดและกลุ่มแคมป์วัดเราะ หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก่อตั้ง “คาเฟ่แคมป์” เล่าว่า ที่ผ่านมา ตนและเพื่อน ร่วมกันทำคาเฟ่แคมป์ ที่ใช้การขายกาแฟเป็นตัวดึงดูดลูกค้า ต่อมาในระยะหลังได้พยายามฟื้นหลักการ “บวร” เพื่อทำให้พื้นที่ชุมชนของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เริ่มใช้ลานวัด และขยายไปพื้นที่โดยรอบวัดให้ปลอดเหล้า-บุหรี่ ระยะเวลา 1 ปีกว่า ๆ ก็พลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแลนด์มาร์คของนักดื่ม ให้ปลอดแอลกอฮอล์ได้จนแทบจะเป็นศูนย์ ส่งผลให้ขโมยหายไป ผลที่ตามมาคือคนในพื้นที่ “แฮปปี้” เพราะครอบครัวมีความสุข กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านกันเยอะขึ้น

จึงคิดว่าควรชูการทำงานแบบ “บวร” เข้าไปทุกกิจกรรม โดยล่าสุดได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ จัดกิจกรรมเข้าพรรษาแนวใหม่โดยการชวนประชาชน เยาวชนมาตั้งแคมป์ทำกิจกรรมเวียนเทียน ตักบาตร ชมศิลปวัฒนธรรม หรือมานครนอนวัด แคมปิ้งงดเหล้า

“ตอนเรามาใหม่ ๆ หน้าวัดเป็นเหมือนแลนด์มาร์คของคนกินดื่ม เพราะบรรยากาศดี คนคิดว่ากินได้ กินแล้วทิ้งขวดเกลื่อน เศษแก้วเต็มไปหมด เราพยายามติดป้ายรณรงค์ ประกาศผ่านเครื่องเสียง พ่อค้า แม่ค้าร่วมกันเตือนปากต่อปาก ตอนนี้ที่นี่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบจะเป็นศูนย์แล้ว ถ้าผมเปิดคาเฟ่แคมป์ มีดนตรี ทุกคนจะรู้เลยว่าปลอดเหล้าเบียร์แล้ว พ่อค้า แม่ค้าก็จะร่วมด้วย ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบุหรี่ ผมอยากขยายพื้นที่ จัดโซนที่ชายหาดให้ชัดเจน ทำให้พื้นที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวเรา ลูกหลานเรา ที่สำคัญการทะเลาะวิวาทส่งเสียงดังก็จะหายไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้”.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง