การที่อิตาลีเป็นทั้งสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต), สมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพยุโรป (อียู) ประเด็นเกี่ยวกับคนที่จะมาบริหารประเทศคือเรื่องสำคัญ แม้ภายนอกเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่เมื่อมีการยุบสภา เท่ากับเป็นการระงับความคืบหน้า ในการจัดทำงบประมาณปี 2566 และการปฏิรูปที่จำเป็นอย่างมาก อีกทั้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป วันเวลาของรัฐบาลผสมในกรุงโรม ก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว

แม้ดรากีสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลอิตาลี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับอียู ด้วยความเอาใจใส่ต่อการฟื้นตัวจากการระบาดโรคโควิด-19 แต่คณะรัฐมนตรีของเขากลับมีความไม่พอใจมากขึ้น เมื่อทุกพรรคร่วมรัฐบาล ต่างจับจ้องไปที่การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค. 2566 โดยดรากียอมรับว่า ความขัดแย้งมีเพิ่มขึ้นภายในคณะรัฐมนตรีต่อการปฏิรูปที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของอิตาลีจะไม่หยุดชะงักเช่นกัน เพราะรัฐบาลรักษาการน่าจะสามารถดำเนินการและปฏิบัติงานต่อไปได้ ด้วยแผนงบประมาณปี 2566 ซึ่งจะมีการลงมติผ่านร่างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า พรรคฝ่ายขวาจัดของนางจอร์เจีย เมโลนี มีแนวโน้มที่จะขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลชุดต่อไป แม้เธอจะมีมุมมองชาตินิยมเกี่ยวกับปัญหาการย้ายถิ่น สังคม และวัฒนธรรม แต่เมโลนี คือนักการเมืองฝ่ายขวาที่มีความมุ่งมั่น

DW News

หากพรรคฝ่ายขวาชนะการเลือกตั้งของอิตาลี ข้อตกลงความร่วมมืออาจเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่หากสถานการณ์ต่างออกไปจากนี้ หมายความว่า การเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปใหม่ ต้องใช้เวลานานขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะการเมืองของอิตาลีมีความไม่แน่นอนสูง ประชาชนเปลี่ยนใจตลอดเวลา อีกทั้งพรรคการเมืองยังอ่อนแอ และมีปัญหาความแตกแยกภายในด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อิตาลีคือผู้รับเงินทุนฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติโควิด-19 รายใหญ่ที่สุดของอียู อยู่ที่ประมาณ 191,000 ล้านยูโร (ราว 7 ล้านล้านบาท) แต่เนื่องจากเงินดังกล่าวผูกติดกับการปฏิรูปหลายสิบครั้ง จึงมีความกังวลว่า อิตาลีอาจไม่สามารถชำระเงินกู้งวดต่อไปได้

แม้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนให้ความเห็นว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากระบบเงินทุนของอียูเป็นแบบ “เกือบอัตโนมัติ” แต่การปฏิรูปโครงสร้างบริหาร อาจเพิ่มความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ขณะเดียวกัน การล่มสลายของรัฐบาลดรากี ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อความสามารถในการบัญญัตินโยบาย และการปฏิรูปในระยะสั้น แต่การร่นเวลาการเลือกตั้งให้เกิดเร็วขึ้น น่าจะดีกว่าปล่อยให้เกิดภาวะชะงักงัน กับการขับเคลื่อนนโยบาย.

เลนซ์ซูม