…..ผมไปเยี่ยมลูกศิษย์ ณ รพ. ในอำเภอยากจนห่างจาก กทม. 5 ชั่วโมงเดินทางด้วยรถส่วนตัว รพ.นี้สามารถดูแลคนไข้หนักปานกลางได้จำนวน 60 เตียง โดยแพทย์จบใหม่ 11 คน ปัจจุบันไม่มีแพทย์เฉพาะทาง

เช่นเดียวกับอีกสองแห่งในจังหวัดเดียวกัน รพ.แห่งนี้มีจุดตรวจหาเชื้อโควิดในลำคอและโพรงจมูก กรณีคนไข้อาการไม่หนักหรือไม่ฉุกเฉิน ถ้าตรวจพบเชื้อ หมอจะให้การดูแล บริเวณจุดตรวจ ไม่ปล่อยให้คนไข้มาปะปนกับรายอื่นๆ ที่โถงรอตรวจคนไข้นอกทั่วไป   

ช่วงสงกรานต์ รพ.นี้เจอแจ๊กพอต ทีมพยาบาลและเวรเปลห้องฉุกเฉินติดเชื้อจากคนไข้ฉุกเฉินและติดเชื้อโควิด ทำให้พวกเธอและเขาต้องกักตัว 14 วัน กระทบถึงพยาบาลประจำแผนกอื่นต้องถูกระดมมาทำหน้าที่แทน การกักตัว 14 วันหมายถึงการขาดรายได้ของลูกจ้างรายวันในฐานะเวรเปล และการขาดรายได้ในส่วนค่าเวรสำหรับพยาบาล คิดเป็นสัดส่วนรายได้จำนวนไม่น้อยสำหรับบุคลากรกลุ่มนี้ที่มีรายได้จำกัด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแพทย์ 

ใช่หรือไม่ ว่านี่คือส่วนหนึ่งของผลพวงจากการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมเมื่อเข้าสงกรานต์

ต้นตอแพร่เชื้อโควิดดังกล่าว คือ ชาวบ้านที่ไปจับจ่ายห้างดังแห่งหนึ่งในจังหวัด แล้วนำเชื้อไปแพร่ในหมู่บ้านซึ่งพยาบาลประจำ รพ.นี้เล่าให้ผมฟังว่า ยังคุ้นชินกับการใช้ชีวิตเดิมก่อนโควิดระบาด นั่นคือ นิยมกินข้าว (มักพ่วงเหล้า) ด้วยกัน คลุกคลีใกล้ชิดสนิทสนม ทันทีที่ข่าวการแพร่เชื้อโควิดในอำเภอนี้ไปถึงจังหวัด ห้างดังแห่งนั้นก็ถูกปิดกิจการชั่วคราว และดูเหมือนจะซบเซายาวแม้เปิดกิจการแล้ว

เมื่อผมสังเกตในจังหวะเดินทางกลับ กทม.หลังเยี่ยมลูกศิษย์ (ปลายเดือนพฤษภาคม) เช่นเดียวกัน หมู่บ้านนั้นก็ถูกสั่งปิด (งดการเคลื่อนย้ายเข้าออกเคหสถาน และกักตัวกลุ่มเสี่ยง) ผลดีต่อทั้งอำเภอนี้คือ ยอดกลุ่มเป้าหมายขึ้นทะเบียนรอฉีดวัคซีนมากถึงร้อยละ 99 ถ้าวัคซีนมาตามนัดก็แจ๋วเลย

ความเงียบเหงาตาม รพ.ทั้งสามแห่ง แสดงว่า ชาวบ้านกลัวจะติดเชื้อโควิดจึงไม่ไป รพ.เช่นเคย ยกเว้นหนักหนาสาหัสจริง ด้านหนึ่งจึงอนุมานได้ว่า โควิดระบาดอาจลดต้นทุนของ รพ.เหล่านี้ได้ เงินเหมาจ่ายรายหัวของ รพ.จึงประหยัดไปในส่วนนี้ยกเว้นค่ายาที่ รพ.พยายามจัดส่งให้คนไข้โรคเรื้อรัง เพราะมา รพ.ไม่ได้ อีกด้านหนึ่งค่าใช้จ่ายในการรับมือกับโควิดก็เพิ่มขึ้น เช่น ค่าดัดแปลงสถานที่ ค่าน้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาตรวจหาเชื้อ ชุดป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากร ฯลฯ

น่าสนใจมั้ยครับ ว่าตกลงผลกระทบจากโควิดด้านต่างๆ ต่อบริการ รพ.และคนไข้เป็นเช่นไร จะได้มีบทเรียนไว้เตรียมการรับมือโรคอุบัติใหม่อย่างโควิดที่คงจะมาอีกในอนาคต เว้นเสียแต่ว่า มนุษย์จะเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดการบริโภคอย่างที่เคยเกิดก่อนโควิดมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก คำว่า Degrowth (แปลว่า ลดปริมาณการบริโภค) จากนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงไม่ได้รับการขานรับ เท่ากับคำว่า Green growth (บริโภคแนวใหม่แต่ไม่ลดปริมาณ)

ในต่างประเทศมีรายงานว่า โควิดบั่นทอนการเข้าถึงบริการป้องกันโรค เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีน เป็นต้น พิจารณาในแง่นี้ เลยนึกถึงข้อสังเกตจากคุณหมอของหนึ่งในสาม รพ.กลุ่มนี้ ว่า พบคนไข้เบาหวานเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันมากขึ้น (น้ำตาลสูงปรี๊ดจนโคม่า เลือดเป็นกรดเพราะสารคีโตนคั่งจากการคุมเบาหวานไม่ได้) ส่อนัยว่า การส่งยาให้ถึงบ้านแทนการดูแลที่แผนกคนไข้นอกอาจไม่เพียงพอ ขนาดช่วงก่อนโควิด รพ.แห่งนี้ก็มีคนไข้เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมายมากจนต้องลดค่าเป้าหมายลง แม้ว่า รพ.มีแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรม

กลับมาบ้าน ได้ยินเสียงคนในบ้านบ่นว่า ต้องงดไปจับจ่ายในห้างติดแอร์เพราะคนแน่นมาก นัยว่าเพราะ กทม.สั่งปิดตลาดสด เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ระหว่างตลาดสดซึ่งเป็นที่เปิดโล่ง กับในห้างติดแอร์ แล้วผู้คนแห่กันมาจับจ่ายเพราะไปตลาดสดไม่ได้ ที่ใดเสี่ยงต่อโควิดแพร่ระบาดมากกว่ากัน

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด