ในปี ๒๕๖๓ หนึ่งในนโยบายแห่งรัฐที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดห้าอันดับแรก คือ นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิทุกที่ นโยบายนี้สืบเนื่องมาจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อสิบปีก่อน ซึ่งริเริ่มดำเนิน แบบสายฟ้าแลบ ด้วยการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงครั้งเดียวก็ตัดสินใจเดินเครื่องกันเลย

คนวงในเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนหนึ่งของการประชุม ได้ยินประโยคทำนองว่า “ท่านเลขาฯ พร้อมใช่มั้ย” เป็นคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นประธานที่ประชุมนั้น ต่อหัวหน้าหน่วยราชการหนึ่งที่เป็นกลไกสำคัญด้านการจ่ายเงินชดเชยโดยบูรณาการเงินจากสามกองทุนสุขภาพหลัก (ประกันสังคม บัตรทอง สวัสดิการราชการ) สิ้นเสียงของนายกรัฐมนตรี “พร้อมครับ” คือเสียงตอบของหัวหน้าหน่วยราชการท่านนั้น

โปรดสังเกตว่า เวลาที่ภาวการณ์นำทางการเมืองเด่นชัดจริงจังเช่นนี้ กลไกแบบเรือเกลือ (อืดอาด) ของหน่วยราชการจะตอบสนองโดยพลัน ข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยงโดยพาดพิงกฎกติกา เป็นเรื่องที่เอาไว้ก่อนได้เสมอ

หลังดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิทุกที่ได้สามปีหกเดือน ผู้ขอใช้สิทธิสะสมเกือบเก้าแสนราย โดยร้อยละ ๑๑ เข้าเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินนิยามว่าสีแดงหรือวิกฤต โปรดสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่รวมผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าใช้บริการ รพ.รัฐ เพราะขอบเขตการให้บริการของนโยบายนี้คือ รพ.เอกชนทั่วประเทศ

เดิมทีก่อนมีนโยบายนี้เมื่อสิบปีก่อน มีข้อร้องเรียนว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินมักได้รับการปฏิเสธจาก รพ.เอกชน ถ้าไม่สามารถจ่ายค่าบริการด้วยตนเอง แม้ว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาล ๒๕๔๑ ระบุว่า ใน มาตรา ๓๖ ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแล ให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยตามมาตรา ๓๓/๑ ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการ รักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของ สถานพยาบาลนั้น…ถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการต้องจัดการให้มีการจัดส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม ทั้งนี้ตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ….ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

พ.ร.บ.สถานพยาบาลมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๒๕๔๑ แต่กว่าจะปรากฏนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมมีช่องว่างอยู่กว่ายี่สิบปี แสดงให้เห็นสัจธรรมว่า กฎหมายในกระดาษกับกฎหมายที่ผลจริงจังไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป

เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งสำหรับการที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้คือ องค์ประกอบของผู้รักษากฎหมายฉบับนั้นๆ. บรรดาคณะกรรมการสถานพยาบาลในฐานะผู้รักษากฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาลจำนวน ๑๗ คน มีเพียงคนเดียวที่เป็นตัวแทนจากผู้บริโภคโดยตรง ที่เหลือคือหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้แทน รพ.เอกชน เมื่อองค์ประกอบเป็นเช่นนี้ย่อมอนุมานได้ว่า การตีความเนื้อหากฎหมายว่าควรมีการบังคับใช้อย่างไร เมื่อใด จึงหนีไม่พ้นเจตคติ ความเชื่อและผลประโยชน์ที่ติดตัวแต่ละบุคคลในคณะกรรมการฯ “ตลอดเวลาที่ผมเป็นประธานชุดนี้ ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่ที่ประชุมมีมติลงโทษรพ.เอกชนที่ละเมิดกฎหมาย”…..คำกล่าวของอดีตรักษาปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งในฐานะประธานคณะกรรมการสถานพยาบาล

ในรายงานประจำปี ๒๕๖๓ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวถึงสถานภาพปัจจุบันของการดำเนินนโยบายโดยระบุจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์ จำนวนผู้ที่เข้าเกณฑ์สีแดง และอื่นๆ แต่ไม่ปรากฏว่า ผลการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นประการใด คำอธิบายที่น่าจะเป็นมากที่สุดคือ ไม่มีการติดตามผลการรักษาให้ถึงที่สุด  เมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หน่วยงานหลักที่ดูแลการดำเนินนโยบายเวลานั้นคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดให้รพ.เอกชนรายงานผลการรักษาเมื่อจำหน่ายผู้ป่วยออกจากรพ. จึงมีการวิจัยพบว่า ร้อยละ ๒๑ ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ป่วยฉุกเฉินจะเสียชีวิตหรือไม่ทุเลา ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ(ร้อยละ ๑๖ และ ๘) ตามลำดับ ทำนองเดียวกันกรณีบาดเจ็บฉุกเฉิน ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ป่วยฉุกเฉินร้อยละ ๒๕ จะเสียชีวิตหรือไม่ทุเลา ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ(ร้อยละ ๒๓ และ ๑๓) ตามลำดับ

จริงอยู่ว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิทุกที่ สามารถเพิ่มจำนวน รพ.เอกชน ที่ร่วมให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากกว่านโยบายในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะจ่ายชดเชยให้ รพ.เอกชน ได้ในสัดส่วนมากกว่า และยังมีเกณฑ์คัดแยกภาวะฉุกเฉินกำกับการเข้าใช้สิทธิ  แต่การไม่มีกลไกติดตามผลการรักษาจนถึงที่สุดย่อมชวนให้เกิดคำถามคาใจว่า คุณภาพบริการเหมาะสมเพียงพอจริงหรือไม่ และความเท่าเทียมของการได้รับบริการอย่างมีคุณภาพเป็นเช่นไร นอกจากนี้ การกำหนดเกณฑ์จำแนกความรุนแรงเร่งด่วนโดยไม่มีการติดตามผล ก็ชวนให้ถามว่า ถ้าผู้ป่วยสีเหลืองกลายเป็นสีแดงในเวลาต่อมา ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลทันท่วงทีหรือไม่เพียงใด.

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด