แพงทั้งแผ่นดินจริงๆ นอกจากข้าวของเครื่องใช้พาเหรดกันขึ้นราคา ค่าเดินทางต่างๆแพงขึ้น ค่าพลังงาน (ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน)ปรับตัวสูง และสิ่งที่กำลังจะแพงตามมา คือ “ค่าไฟฟ้า” งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.65 จากการปรับขึ้นค่า “เอฟที” หรือค่าไฟฟ้าผันแปรจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง-อัตราเงินเฟ้อ-อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจะปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้านี้ กลายเป็ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย

จากปัญหาดังกล่าว ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับอดีตรมว.พลังงาน เกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นในเดือนก.ย.นี้

ต้นเหตุของปัญหามาจาก 3 เรื่อง

“ผมอยากจะหัวเราะทั้งน้ำตา เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าในประเทศล้นอยู่ในระบบถึง 50% เพราะ 8 ปีที่ผ่านมามีการให้ใบอนุญาตกันไว้เยอะ เรามีอภิมหาเศรษฐีจากธุรกิจไฟฟ้า แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลงเป็นหนี้ถึง 1.17 แสนล้านบาท ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เห็นว่ากำลังจะขาดสภาพคล่อง เพราะแบกหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท และคนไทยต้องใช้ไฟแพงหน่วยละ 4.72 บาท ราคานี้ไม่ได้ช่วยให้กฟผ.สามารถใช้หนี้ได้ แต่แค่ประคองตัว เพราะถ้าจะช่วยกันใช้หนี้ของกฟผ. ค่าไฟต้องเป็นหน่วยละ 6.12 บาท ซึ่งคงตายกันหมดทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ”

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน จากพรรคเพื่อไทย พูดให้เห็นภาพกว้าง ก่อนจะวกเข้ามาในรายละเอียดของปัญหาว่ามาจาก 3 เรื่อง คือ 1.ปริมาณก๊าซที่ขุดในอ่าวไทย (แหล่งเอราวัณ) และก๊าซจากเมียนมาที่ส่งผ่านท่อเข้ามายังโรงไฟฟ้าราชบุรี มีปริมาณขาดหายไปเยอะ โดยก๊าซจากอ่าวไทยมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ได้สัมปทานรายเก่า กับรายใหม่ มีปัญหากันเรื่องการส่งมอบพื้นที่และการรื้อแท่นขุดเจาะ แต่รัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ไม่เข้ามาเคลียร์ตั้งแต่แรก จึงทำให้ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยหายไปเยอะ

ส่วนแหล่งก๊าซในเมียนมา ท่อส่งก๊าซได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมา กับกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันอเมริกาพยายามบีบไทยไม่ให้ซื้อก๊าซจากเมียนมา หลังจากมีการรัฐประหารในเมียนมา เพราะรายได้จากการขายก๊าซให้ไทยถือเป็นรายได้หลักของเมียนมาที่เป็นเงินตราจากต่างประเทศ

เมื่อปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยและก๊าซจากเมียนมา ซึ่งเป็นต้นทุนราคาถูกของโรงไฟฟ้าในไทยต้องขาดหายไปในปริมาณพอสมควร จึงต้องมีการสั่งนำเข้าก๊าซ “แอลเอ็นจี” ใส่เรือเข้ามาด้วยอุณหภูมิติดลบ 160 องศาฯ เข้าใจว่านำเข้าแอลเอ็นจีมาจากประเทศกาตาร์ในราคาแพงกว่าก๊าซในอ่านไทยและก๊าซจากเมียนมาหลายเท่าตัว เพื่อนำมาเข้าโรงผลิตไฟฟ้า

โดยขณะนี้มีการแย่งกันซื้อ “แอลเอ็นจี” กันมากในตลาด ทำให้ราคาถีบตัวขึ้นไปสูง เพราะประเทศในยุโรปที่เคยใช้ก๊าซจากรัสเซีย แต่เมื่อมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศในยุโรปจึงต้องหันมาใช้แอลเอ็นจีเหมือนกัน

2.เมื่อราคาแอลเอ็นจีปรับตัวขึ้นไปสูงมาก โรงไฟฟ้าบางส่วนในบ้านเรา จึงหันไปใช้น้ำมันดีเซลมาเผาแทนแอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่บังเอิญว่าโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องซ่อมบำรุงประจำปี ปริมาณน้ำมันดีเซลจึงขาดแคลน สุดท้ายต้องนำเข้าน้ำมันดีเซลจากสิงคโปร์ในราคาแพงอีก

ค่าความพร้อม-เอกชนควรช่วยรับผิดชอบ!

3.ภาระในการจ่าย “ค่าความพร้อม” สูงมาก ประมาณเดือนละ 8 พันล้านบาท เนื่องจาก 8 ปีที่ผ่านมา คุณให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไว้เยอะ ใครๆก็วิ่งเพื่อให้ได้ใบอนุญาตไว้ก่อนสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้าไว้รอ จะเรียกไฟฟ้าหรือไม่เรียกไฟฟ้า แต่กฟผ.ต้องจ่ายค่าความพร้อม ใครได้ใบอนุญาตแล้วไม่มีการขาดทุน ไม่จ่ายไฟก็ได้เงิน ตรงนี้ตนมองว่าเอาเปรียบกันมากไปนิดหนึ่ง ทั้งที่ภาคเอกชนควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย

“คือมีการให้ใบอนุญาตกันจนปริมาณไฟฟ้าล้นในระบบ แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์โตเฉลี่ยปีละ 1% กว่าๆ ปริมาณไฟฟ้าจึงเหลือมาก โดยปกติทุกรัฐบาลจะคำนวณการใช้ไฟฟ้าควบคู่ไปกับจีดีพี ถ้าจีดีพีโต 1% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะต้องเพิ่มขึ้น 1.8% แต่นี่คุณให้ใบอนุญาตกันไว้เยอะ แต่จีดีพีโตน้อย ปริมาณไฟฟ้าจึงล้นระบบ และคนไทยควรใช้ไฟราคาถูกเพราะไฟมีเยอะ แต่เปล่าเลยเราต้องใช้ไฟแพงเกือบหน่วยละ 5 บาท ซึ่งเรื่องไฟฟ้าล้นระบบ รมว.พลังงานพยายามบอกว่า ไฟที่ล้นคือไฟที่ไม่มีความเสถียร คุณพูดเหมือนคนอื่นโง่ เนื่องจากปัจจุบันแบตเตอรี่มีการพัฒนาประสิทธิภาพไปมาก สามารถเก็บไฟได้ 24 ชั่วโมง และจ่ายไฟได้อย่างเสถียรในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันแสงแดดในประเทศไทยมีมาก เฉลี่ยวันละ 4-5 ชั่วโมง เมื่อแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพก็สามารถเก็บไฟไว้พอใช้และมีความเสถียรแน่นอน”

ไฟแพงกว่า“เวียดนาม”และหลายประเทศอาเซียน

นายพิชัยกล่าวต่อไปว่าพล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ จึงเละเทะหมด พอมีคนออกมาโวยเรื่องค่าการกลั่นกันมากๆ ค่าการกลั่นก็ลดลง แต่ค่าการตลาดพุ่งขึ้นไปถึง 4-5 บาท แล้วปล่อยให้ไฟฟ้ามีราคาแพง แพงเพราะ 3 เรื่องในข้างต้น เมื่อค่าไฟแพง กิจกรรม-กิจการต่างๆมีปัญหาหมด เนื่องจากโลกอนาคตจะหันมาใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ถ้าค่าไฟแพง รถไฟฟ้าก็จะมีปัญหา โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆมีปัญหา สุดท้ายต้องย้ายหนีไปอยู่เวียดนามที่ค่าไฟฟ้าถูกแค่หน่วยละ 2.74 บาท และค่าไฟไทยยังแพงกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน

ถามว่าแล้วจะแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพงได้อย่างไร ตนมีสิ่งที่จะแนะนำอยู่ 3 เรื่องเหมือนกัน คือ 1.เร่งเจรจาปัญหาการขุดก๊าซในอ่าวไทยให้จบเร็วๆ ระหว่างผู้ได้รับสัมปทานรายเก่า กับรายใหม่ เพราะตรงนี้คือแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศที่ส่งเข้ามายังโรงแยกก๊าซ แล้วส่งต่อไปยังโรงไฟฟ้า ถือว่าเป็นก๊าซราคาถูกกว่าการนำเข้า “แอลเอ็นจี” หลายเท่าตัว

2.รัฐบาลไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อขุดก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ ตรงนี้จะทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นเลยทีเดียว โดยเฉพาะรายได้จากค่าภาคหลวง รายได้จากการเก็บภาษีธุรกิจต่อเนื่อง เราลองนึกภาพดูว่าแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ขุดกันมากว่า 30 ปี ตอนนี้ยังไม่หมด ส่วนแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็มีปริมาณมากเช่นกัน ถ้าไม่เร่งขุดขึ้นมาใช้ ในอนาคตโลกเปลี่ยนผ่านหันไปใช้พลังงานอย่างอื่นทดแทน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ส่วนก๊าซและน้ำมันอาจไม่มีใครใช้กันแล้ว เนื่องจากสังคมโลกกำลังรณรงค์เรื่องลดโลกร้อน-คาร์บอนเครดิต ความสำคัญของก๊าซและน้ำมันจะค่อยๆหมดไป

เร่งเจรจา“กัมพูชา”-หยุดให้ใบอนุญาต!

“ผมอยากให้รัฐบาลเร่งไปเจรจากับกัมพูชา คุณประยุทธ์รีบทำให้สำเร็จเร็วๆ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยทำเดี๋ยวมีกระแสดราม่าเรื่องขายชาติ ขายแผ่นดิน เรื่องแบ่งแยกดินแดน หรือเอาทรัพย์สินไปประเคนให้ต่างชาติ อะไรต่างๆมากมาย แต่ถ้าคราวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะไปคุยกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างแน่นอน เนื่องจากแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อน 2 ประเทศ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ประเทศจะมีรายได้มาเป็นสวัสดิการให้ประชาชน และช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

3.หลังจากนี้ไม่ต้องให้ใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้ากับเอกชนรายไหนแล้ว! ยกเว้นพลังงานของอนาคต คือลมและแสงอาทิตย์ เพราะปัจจุบันเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นในระบบ มีไฟเหลือล้น แต่ประชาชนใช้ไฟแพง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหนี้แสนล้านบาท กฟผ.เป็นหนี้แสนล้านบาท แต่เอกชนที่มีใบอนุญาตไปนอนกอดไว้กลับรวยเอาๆ ไม่ต้องจ่ายไฟก็ได้เงิน (ค่าความพร้อม) แบบนี้ถือว่าเอาเปรียบกันไปหน่อย

กำลังการผลิตไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน สามารถรองรับ “จีดีพี” ของประเทศไทยได้ถึง 5% เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี โดยไม่ต้องออกใบอนุญาตให้ “เสือนอนกิน” และสภาพของประเทศไทยเวลานี้ที่จีดีพีเติบโตน้อยอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ภาคธุรกิจบอบช้ำกันมานานภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลยที่จีดีพีจะโตแบบปุ๊บปั๊บ 5% ได้ในเวลาอันรวดเร็ว.