“แผ่นเสียง” นอกจากชวนผู้ฟังย้อนสัมผัสบรรยากาศวันวาน แผ่นเสียงที่ผ่านวันเวลาผ่านการเก็บรักษาที่ดี ยังส่งต่อสร้างประสบการณ์การฟังให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นกิจกรรม เป็นไลฟ์สไตล์ เกิดเป็นคอมมูนิตี้

แผ่นเสียงเก่า ๆ ยังบอกเล่าหลากเรื่องราวน่าศึกษาหลายมิติ ทั้งนี้พาตามรอยแผ่นเสียง ฟังเพลงจากแผ่นเสียงเก่า โดย ขวัญฤทัย ขาวสะอาด บรรณารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และ ปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ให้ความรู้ผ่านนิทรรศการ แผ่นเสียงในสยาม ซึ่งจัดแสดงนำแผ่นเสียงหายาก เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ ฯลฯ บอกเล่าประวัติและพัฒนาการของแผ่นเสียง ให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นเสียงประเภทต่าง ๆ และประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงของไทย ณ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ

ก่อนถึงยุคของแผ่นเสียงคงต้องพูดถึง กระบอกเสียง ก่อนซึ่งเป็นการบันทึกเสียงในช่วงแรกเริ่ม เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงทรงกลมยาว โดย โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ค้นพบความสำเร็จการบันทึกเสียง กระบอกเสียงดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก บนผิวด้านนอกฉาบไว้ด้วยขี้ผึ้งแข็ง เวลาบันทึกเสียงจะใช้วิธีไขลานให้ท่อทรงกระบอกหมุนไป ผู้ขับร้องจะร้องเพลงลงไปทางลำโพง เสียงที่เข้าทางลำโพงจะไปสั่นที่เข็มและจะขูดลงไปบนขี้ผึ้ง บนรูปทรงกระบอกเกิดเป็นร่องเสียงขึ้น ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ได้นำมาจัดแสดง เป็นเหมือนการ เกริ่นประวัติ บอกเล่าเรื่องการบันทึกเสียงยุคแรกก่อนเป็นแผ่นเสียง

“ระยะแรกของการบันทึกแผ่นเสียงของไทย จะยังไม่ได้บันทึกลงบนแผ่นเสียง จะบันทึกลงกระบอกเสียง โดยมีบริษัทจากต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นจะนำไปอัดเสียงลงแผ่นเสียง และนำกลับมาจำหน่าย กระบอกเสียงที่นำมาแสดงเป็นเหมือนการบอกเล่า
ไทม์ไลน์การบันทึกเสียง ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ยังสอดคล้องกับทั่วโลกในยุคของกระบอกเสียง”

บรรณารักษ์ชำนาญการ อธิบายเพิ่มอีกว่า จากการบันทึกเสียงดังกล่าวต่อมา มีนักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน คิดค้นทดลองบันทึกเสียงลงบนวัสดุแบนราบแทนวัสดุทรงกระบอก ซึ่งสะดวกและบันทึกเสียงได้ยาวกว่า โดยแผ่นวงกลมที่เรียกว่าแผ่นเสียง เดิมเป็นแผ่นเสียงครั่ง จากนั้นจึงเป็นแผ่นเสียงไวนิล

“กระบอกเสียงเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในความนิยมอาจไม่เท่ากับแผ่นเสียง ทั้งนี้อาจด้วยหลายปัจจัยทั้งในเรื่องของคุณภาพเสียง วิธีการบันทึก และความคงทน ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งนี้เป็นความต่างของกระบอกเสียงกับแผ่นเสียง โดยเมื่อถึงยุคแผ่นเสียง กระบอกเสียงก็ลดน้อยลง”

หากย้อนถึงการฟังเพลง แต่เดิมฟังการบรรเลงโดยวงดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ที่นำมาร้องนำมาเล่นกัน แต่เมื่อมีการบันทึกเสียง เพลงที่เคยร้องบรรเลงก็ได้รับการบันทึกเสียงและนำไปเผยแพร่ในสถานที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น โดยช่วงสมัยนั้นที่มีการบันทึกเสียงลงในกระบอกเสียง จะเป็นเพลงไทยเดิม เพลงจากวงดนตรีไทย และก็มีการบันทึกเสียงวงดนตรีไทย คณะนายบุศย์มหินทร์ที่นำเครื่องดนตรีไทย ไปแสดงที่ประเทศเยอรมนี

จากที่กล่าวในระยะแรกเป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียง แล้วจึงนำไปอัดลงแผ่นเสียงครั่งที่ต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาที่สยาม แผ่นเสียงครั่งที่นำเข้ามาจำหน่ายตราแรกในสยาม จากการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลจัดแสดงในนิทรรศการฯ ได้แก่ ตราอรหันต์ ตราปาเต๊ะ และต่อมามีอีกหลากหลาย โดยแผ่นเสียงได้รับความนิยมและมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

ต่อมาปลายสมัยรัชกาลที่ 6 มีการผลิตแผ่นเสียงโดยคนไทย ได้แก่ ตรากระต่าย ตรากรอบพักตร์สีทอง ตราเศรณีและตราศรีกรุง หลังจากปี พ.ศ. 2475 มี แผ่นเสียงเพลงไทยสากล และบริษัทห้างแผ่นเสียงของคนไทยเกิดขึ้นจำนวนมาก จากนั้น แผ่นเสียงได้รับความนิยมเรื่อยมา จนเมื่อเทคโนโลยีการบันทึกเสียงก้าวหน้ามากขึ้น มีเทปบันทึกเสียงจึงทำให้ความนิยมแผ่นเสียงลดลง

“นอกจากเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ ที่บันทึกเสียงกันในยุคแรก ในยุคต่อมายังมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง มีการอ่านทำนองเสนาะเป็นสื่อประกอบการเรียน มีแผ่นเสียงเพื่อการศึกษา ฯลฯ บทบาทหน้าที่ของแผ่นเสียงจึงไม่ได้มีเพียงเพื่อการดนตรี เพื่อความสุนทรีย์ แต่เพื่อการศึกษาร่วมด้วย แผ่นเสียงมีหน้าที่หลากหลาย ส่งต่อการเรียนรู้หลายมิติ เป็นบันทึกความทรงจำ บอกเล่าประวัติศาสตร์ รวมถึงยังเป็นงานดีไซน์ ซึ่งส่วนนี้ศึกษาได้จากปกแผ่นเสียง”

ด้วยที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดนตรี เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการดนตรีสำหรับศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมและอนุรักษ์จัดเก็บต้นฉบับเพลงไทย เพลงพระราชนิพนธ์ และมีผลงานของครูเพลงที่สำคัญของไทย ฯลฯ แผ่นเสียงที่นำมาจัดแสดง แผ่นเสียงเก่าที่มีความสำคัญรวมถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่นับวันในรูปแบบเดิมจะลดน้อยลง แผ่นเสียงสำคัญ ๆ บางส่วนเราได้แปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อเข้าสู่ระบบสืบค้น เก็บรักษาความดั้งเดิมและอนุรักษ์ต้นฉบับให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ค้นคว้าเข้าถึงข้อมูล

“การอนุรักษ์จัดเก็บจึงต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะแผ่นเสียงครั่งซึ่งแตกหักได้ง่าย โดยเมื่อแตกหักแล้วก็ยากจะกลับคืน โดยที่มีอยู่ที่นี่สำหรับแผ่นเสียงครั่งมีอยู่จำนวนมาก โดยที่กำลังดำเนินการแปลงไฟล์ เป็นแผ่นเสียงครั่ง เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ
ยุคแรกสมัยรัชกาลที่ 5”

แผ่นเสียงครั่งร่องกลับทาง ที่นี่ก็มีให้ศึกษา เป็นแผ่นเสียงยุคแรก ๆ ที่มีความพิเศษ โดยจะเล่นจากด้านในวนออกมาด้านนอก แต่ยุคต่อมาของแผ่นเสียงจะเล่นจากด้านนอกเข้าไปด้านใน สำหรับ แผ่นเสียงไวนิล ก็มีหลายส่วนที่น่าศึกษาโดย บรรณารักษ์ชำนาญการทั้งสองท่านให้ความรู้เพิ่มอีกว่า แผ่นเสียงไวนิลไม่ใช่แค่แผ่นเสียงสีดำ แต่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่น่าศึกษาอย่างเช่น ปกแผ่นเสียง ถ้าศึกษาจะเห็นถึงการออกแบบ การใช้ภาษา รูปแบบตัวอักษรที่นำมาสื่อความหมาย ฯลฯ

ขณะที่ตัวแผ่นเสียงบางแผ่นมีลักษณะพิเศษมีลูกเล่นมีการพิมพ์ลงบนแผ่นเสียง สีสันสวยงามและมีขนาดที่ต่างไปจากเดิม หรือในบางแผ่นเสียงยังมีสมุดอธิบายเพลง พร้อมบทร้องภาษาไทย ภาษาอังกฤษประกอบ ดังเช่นแผ่นเสียงเพลงไทยของกรมศิลปากร ฯลฯ โดยรายละเอียดเหล่านี้ศึกษาได้จากแผ่นเสียง

นอกจากนี้ยังมีการนำแผ่นเสียงสำคัญ ๆ แผ่นเสียงหายากมาร่วมแสดง พร้อมกับการฟังเสียงต้นฉบับจากแผ่นเสียง อย่างเช่น แผ่นเสียงเพื่อการศึกษา เพลงเด็กที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น “เพลงช้าง” แต่งโดยคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ใช้ทำนองเพลงไทย เพลงพม่าเขว นำมาจัดแสดง มีบทเพลงไทยเดิมที่คุ้นเคยอีกหลากหลายเพลงจากแผ่นเสียงเพลงไทยกรมศิลปากร เช่น ลาวดวงเดือน ลาวดำเนินทราย เขมรไทรโยค แขกเชิญเจ้า และเพลงเดี่ยวอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือของผู้บรรเลง เป็นต้น

นอกจากนี้ การดูแล การจัดเก็บถูกหลักวิธี เป็นอีกส่วนสำคัญต่อการรักษาคุณค่าแผ่นเสียง โดยเมื่อทำความสะอาดด้วยนํ้าสะอาด ควรเช็ดด้วยผ้านุ่ม วางผึ่งให้แผ่นแห้งและเมื่อแผ่นแห้งสนิท นำแผ่นเก็บลงซองพลาสติก ฯลฯ และด้วยปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้สะดวกรวดเร็ว ผ่านการฟังเพลงในรูปแบบต่าง ๆ เพลงจากแผ่นเสียงส่วนหนึ่งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ร่วมบอกเล่าสุนทรียภาพทางดนตรี บอกเล่าประวัติการบันทึกเสียง

เล่ามนต์เสน่ห์แผ่นเสียง บันทึกที่มีคุณค่าต่อความทรงจำ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ