ไม่น่าเชื่อวิกฤติโควิด จากเดือน ธ.ค.63 ข้ามปีมาถึงต้นปี 64 ทำท่าเหมือนจะดีขึ้น แต่แล้วเมื่อประเทศไทยมาเจอเจ้าเชื้อกลายพันธุ์ อัลฟา (อังกฤษ) เล่นงานช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. จากนั้นเดือน ก.ค. ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ เดลตา (อินเดีย) ทำให้สมุทรสาครยอดติดเชื้อรายใหม่สะสมรายวัน เป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร เท่านั้น ติดใน กลุ่ม 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้ม ทำให้ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร แม้จะถูกโควิดเล่นงานเช่นกัน เมื่อหายป่วยออกมาก็พยายามหารูปแบบการคุมเข้มโควิด จนเป็น โมเดลสมุทรสาคร ไล่ตั้งแต่ ยุทธการทลายรังปลวก ลุยตรวจเชิงรุกทุกพื้นที่เสี่ยง, มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble&Seal) ตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ผู้ว่าฯ ปูจับมือภาคเอกชนสู้ไม่ถอย 

แม้ล่าสุดทางสมุทรสาคร ได้นำร่องเปิด ศูนย์พักคอย (Community Isolation) หรือ CI ในทุกตำบล รูปแบบใกล้เคียงกับรพ.สนามทุกตำบล แต่เมื่อมาเจอเชื้อกลายพันธุ์เดลตาที่ระบาดรวดเร็วเพราะติดง่าย ยอดติดเชื้อยังสูงรองจากกรุงเทพฯ เหมือนเช่นเดิม จึงต้องหาทางอุดช่องโหว่ปัญหาพุ่งเป้าไปที่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะถึงในจังหวัดจะมีแค่ 3 อำเภอ แต่ได้รับการขนานนามว่า ศูนย์กลางอาหารทะเลระดับโลก รวมทั้งยังเป็น แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และยังมีพื้นที่สวนเกษตรกรรมผลไม้พืชผักเลื่องชื่อ จึงมีแรงงานต่างด้าวมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทร สาคร หรือ ผู้ว่าฯ ปู ซึ่งยังเดินหน้าขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ได้เร่งจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ภายในสถานประกอบการ  ( Factory Accommodation Isolation : FAI) ภาพรวมของการจัดตั้ง FAI ในสถานประกอบการนั้น ตามที่เห็นมาก็รู้สึกภาคภูมิใจแทนเพราะวันนี้การแก้ไขปัญหาโควิด-19 คงไม่ใช่แค่ภาครัฐหรือภาคประชาชนเท่านั้น แต่ต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันด้วย เพราะว่าการตั้ง FAI หรือ CI ในสถานประกอบการเป็นทางเลือกและทางรอดเดียว ที่จะทำให้สถานประกอบการต่าง ๆ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร สามารถต่อสู้กับสงครามโควิดระลอกนี้

ในส่วนของการจัดตั้ง FAI สินสาคร ที่นับเป็นโมเดลหรือ ต้นแบบให้แก่สถานประกอบการอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามนั้น ก็ต้องขอบคุณทางผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และภาคเอกชนหลาย ๆ แห่งที่ช่วยกันทำ FAI ไม่ว่าจะมาจากความร่วมมือหรือมาจากภาคบังคับ แต่ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะเป็นทางรอดของจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผมได้มีโอกาสไปเห็นกับตาตนเองที่ นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างดีว่า ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เราจะผ่านอุปสรรคสามารถเอาชนะกับสงครามโควิดครั้งนี้ ขอเพียงแต่ร่วมมือกันภายใต้ภาวะจำกัดที่มีหลากหลายนี้ เดินไปสู่จุดมุ่งหมายแบบเดียวกัน” นายวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

นิคมอุตสาหกรรมฯร่วมฝ่าวิกฤติโควิด

ขณะเดียวกัน น.ส.นลินี กาญจนามัย ผอ.สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับความร่วมมือจาก นายวิเชียร บำเรอรักษ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ร่วมจัดตั้ง ศูนย์ FAI นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครแห่งแรก ที่ถนนท่าปรง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาครสามารถรองรับได้ 300 เตียง และที่วัดกลางอ่างแก้ว อีก 300 เตียง สำหรับการตั้ง FAI หรือ CI ในสถานประกอบการถือว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายย่อยในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร 38 โรงงาน ที่ร่วมกันให้การสนับสนุนทั้งด้าน อุปกรณ์ เครื่องใช้สิ่งของจำเป็น อาหาร และการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่พยาบาลของโรงงาน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่จะต้องทำ FAI ภายในสถานที่ของโรงงานเองเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับภาครัฐในการแก้วิกฤติโควิด-19

ด้าน นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ (FAI) ของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นต้นแบบตามที่ท่านวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร มีนโยบายลงมาก็คือแนวทางให้ทุกโรงงานที่มีแรงงานเกิน 50 คน หรือมีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ให้จัดทำเรื่องของ FAI ภายในโรงงานหรือโรงพยาบาลสนามในโรงงานไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงาน หลังจากที่นโยบายเหล่านี้ออกมา

ภาคเอกชนเห็นด้วยโดยตลอดตั้งแต่แรก เพราะว่านี่จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาโควิด เหมือนกับเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะช่วยกันต่อเติมให้การทำงานแก้ไขปัญหาโควิดของจังหวัดสมุทรสาคร ออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะว่าในระดับจังหวัดเรามี รพ.รัฐและเอกชนประมาณ 2,000 กว่าเตียง  มี รพ.สนามที่เราเรียกว่าศูนย์ห่วงใยคนสาครอีกว่า 3,000  เตียง ล่าสุดมี รพ.ชุมชน หรือศูนย์พักคอย (CI) ในทุกตำบล อีกราว ๆ  4,000 กว่าเตียง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของจังหวัดสมุทรสาคร ก็ต้องบอกว่าน้อยมากนะครับ รวมกันแล้วประมาณหมื่นกว่าเตียง อีกทั้งจำนวนของประชากรในสมุทรสาคร ยังมีอยู่ในภาคแรงงานประมาณ 500,000-600,000 คน

หวังช่วยเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย

ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวต่อว่า ดังนั้นในส่วนของภาคแรงงานนี้เองหากสถานประกอบการไม่เข้ามาช่วยจังหวัดในการแก้ไขปัญหาโควิดครั้งนี้ การที่จะทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น หรือแก้ไขปัญหาให้จบได้อย่างรวดเร็วคงเป็นไปไม่ได้ วันนี้จึงเป็นความรับผิดชอบส่วนหนึ่งของภาคเอกชนที่ต้องออกมาร่วมกันให้การสนับสนุนแนวทางนี้อย่างมาก ในจังหวัดสมุทรสาครมี 2 นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ นิคมฯ สมุทรสาคร และ นิคมฯ สินสาคร ซึ่งทั้ง 2 นิคมฯ ก็ขานรับนโยบายทันที มีการพูดคุยกันแล้วก็รวมตัวกัน โดยที่นิคมฯ สินสาครที่มีแรงงานอยู่ประมาณ 15,000 คน ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โรงงานที่มีศักยภาพที่มีพนักงานระดับ 1,000 คนขึ้นไป ก็จัดทำ FAI ของตนเอง ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานไม่ถึง 1,000 คน ซึ่งมี 40-50 แห่ง จะใช้วิธีการร่วมกันจัดทำศูนย์  FAI กลางของนิคมสินสาคร สามารถรองรับได้ 1,000 เตียง เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการมีมากกว่า 40-50 ราย ที่มีแรงงานไม่ถึง 1,000 คน

ศูนย์ FAI กลางของนิคมสินสาคร ก็ได้เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยมีความร่วมมือทั้งด้านของสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ที่จำเป็น อาหาร และการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำโรงงานแต่ละแห่ง แต่หากพบว่าผู้กักตัวมีอาการรุนแรงมากขึ้น ได้ประสานเรื่องระบบส่งต่อกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เรียบร้อยแล้ว เชื่อมั่นได้ว่ามีความพร้อมทุกด้าน เป็นต้นแบบของการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมกันจัดทำ FAI ให้แก่สถานประกอบการทั่วประเทศได้อีกด้วย

ความรับผิดชอบของสถานประกอบการทุกแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ต่อการจัดทำ FAI นั้น เรามีโรงงานที่จัดทำ FAI แล้วกว่า  1,250 แห่ง  ในจำนวนนี้มีเตียงที่พร้อมรองรับแรงงานประมาณ 35,000 เตียง ใช้เตียงไปแล้ว 3,500 กว่าเตียง และเราได้ประเมินว่าอีกเพียง 1 สัปดาห์ จะมีเตียงในกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรมที่เราเรียกว่า FAI เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 เตียง เพื่อเป็นการรองรับการเร่งตรวจโควิดด้วยระบบ Antigen Test Kit (ATK)  ถ้าทุกโรงงานร่วมกันภายใน 1-2 เดือน คาดว่าจะแยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อได้ชัดเจน และสถานการณ์ตัวเลขของการพบผู้ติดเชื้อในภาคแรงงานจะลดลง ทำให้กลับมาเริ่มต้นเดินหน้าเรื่องของการผลิต ถ้าดูจากไทม์ไลน์คาดว่าอีก 2 เดือน กำลังการผลิตจะขยับขึ้น

จากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าจะมีแค่ 60% จะขยับขึ้นถึง 80-90% รองรับการแก้ปัญหาโดยภาพรวมของทั้งประเทศ แต่ถ้าถามในฐานะของประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครและภาคเอกชน เราเชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเริ่มเห็นความคืบหน้าเรื่องของเศรษฐกิจมากขึ้น ฉะนั้นตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงการแก้ปัญหา แต่อีก 2 เดือนถ้าแก้ปัญหาดีขึ้น สถานการณ์เดือนที่ 3 เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายเดือน ต.ค. น่าจะทำให้ตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดี บวกกับตัวเลขการฉีดวัคซีนก็น่าจะมีเพิ่มอีกจึงเชื่อว่าในไตรมาสสุดท้าย ตุลาคม-พฤศจิกายน-ธันวาคม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นบวกได้.