พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ความหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร” พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) “นครวิถี” และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) “ธานีรัถยา” ความหมาย “เส้นทางของเมือง”

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,475ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท เป็นอาคาร 4 ชั้น (รวมชั้นลอยและชั้นใต้ดิน) มีพื้นที่ใช้สอยรวม 304,000 ตารางเมตร มีชานชาลาถึง 26 ชานชาลา กว้างใหญ่กว่าสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ที่มีพื้นที่ 120 ไร่หลายเท่าตัว สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้ขยายสถานีได้ เพราะถูกล้อมรอบไปด้วยคลอง

กระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่สุดในอาเซียน ครอบคลุมทุกบริการระบบราง เชื่อมต่อทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ล่าสุดยังเปิดตัวสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นต้นแบบสถานีอัจฉริยะ 5G (5G Smart Station) แห่งแรกในอาเซียน

รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ บอกว่า ได้นำระบบ 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย รวมถึงโซลูชั่น 5G ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ, คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาใช้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้อย่างเท่าเทียม เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยด้านการคมนาคมของประเทศ

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงรายละเอียดเรื่องสถานีอัจฉริยะ 5G ว่า ระยะแรก ประกอบด้วย 3 นวัตกรรมหลัก

1.หุ่นยนต์ต้อนรับ SRT Bot 6 ตัว ให้บริการช่วยเหลือผู้โดยสาร ทั้งบริการข้อมูลการเดินทาง นำทางในสถานี แนะนำและเส้นทางการท่องเที่ยว สามารถโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พร้อมช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยภายในสถานี

2. รถเข็นอัจฉริยะ (วีลแชร์) 7 คัน มีระบบ Automation ให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพ สามารถเคลื่อนที่ส่งไปยังพื้นที่เป้าหมายอัตโนมัติ ควบคุมง่ายด้วยระบบสัมผัสผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีความปลอดภัยด้วยระบบเซ็นเซอร์ แจ้งเตือนเมื่อเข้าใกล้สิ่งของต่าง ๆ และหยุดเมื่อถึงระยะที่ใกล้เกินกำหนด พร้อมปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ทันที

3. กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ (AI Security) 121 ตัว เชื่อมต่อกล้องวงจรปิดทั่วทั้งสถานี มีความพิเศษมากกว่ากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้เดิม อาทิ สามารถตรวจจับคนเดินล้ำเส้นเหลืองบนชานชาลา รวมถึงวิเคราะห์ผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุ (คนเป็นลม/ชัก) โดยจะส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์ และส่งเสียงแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ หรือสั่งหยุดรถไฟกรณีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น ในอนาคตจะเชื่อมต่อหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชน และผู้ใช้บริการ จะกำหนดจุดจัดวางหุ่นยนต์ต้อนรับ และรถเข็นอัจฉริยะต่อไป

ทั้ง 3 นวัตกรรมใช้งบประมาณและบำรุงรักษา 45 ล้านบาท พร้อมเปิดบริการสำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนภายในเดือน ต.ค. นี้ จากนั้นจะขยายการให้บริการเต็มระบบทั่วทั้งสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้รถไฟทางไกล ที่จะเปิดให้บริการภายในเดือน ธ.ค.65 ก่อนเทศกาลปีใหม่ 66 เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะประเมินคุณภาพการบริการ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการหากพบว่าหุ่นยนต์ และรถเข็นอัจฉริยะไม่เพียงพอต่อผู้โดยสาร รฟท. จะจัดหาเพิ่มเติมต่อไป

ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละประมาณ 2 หมื่นคน อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเตรียมให้บริการรถไฟทางไกลที่จะปรับเปลี่ยนต้นทาง/ปลายทางขบวนรถ จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เบื้องต้น รฟท. มีแผน2 ระยะ

ระยะที่ 1 การเปลี่ยนผ่านจะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง/ปลายทางกลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีหัวลำโพงเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งนี้กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ยังคงให้บริการต้นทาง/ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม

นอกจากนี้จะปรับเส้นทางวิ่งขบวนสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ให้วิ่งบนทางยกระดับตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต มีสถานีให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร 3 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต โดยยกเลิกให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 พร้อมกันนี้จะเปลี่ยนที่ตั้งสถานีรถไฟดอนเมือง จากระดับพื้นดินไปยังสถานีรถไฟดอนเมืองยกระดับด้วย

ช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบ รฟท. มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้บริการรถโดยสารทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสารลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่มีความประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ระยะที่ 2 เมื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แล้วเสร็จ จะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง/ปลายทางกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถด่วนพิเศษสายตะวันออกบางขบวนเป็นสถานีมักกะสัน รวมทั้งปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง/ปลายทางกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้บางขบวนเป็นสถานีชุมทางบางซื่อ สถานีดอนเมือง และสถานีชุมทางตลิ่งชัน

การปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง/ปลายทางเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะส่งผลดีในการใช้บริการที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพ มีรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยตรง และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีชมพู ใกล้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย

ที่นี่…“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” สถานีอัจฉริยะแห่งแรก สร้างตำนาน 477 วัน ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวม 6,314,818 โด๊ส …แต่จะก้าวขึ้นสู่สถานีศูนย์กลางระบบรางของอาเซียนได้หรือไม่?? ยังต้องติดตาม…

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง