เดือน ต.ค.นี้  กรมทางหลวง (ทล.) จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ ระบบ M-Flow  แบบเสมือนจริง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือวงแหวนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี)  รวม 4 ด่านนำร่อง เพื่อแก้ปัญหารถติดสะสมหน้าด่านตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ประกาศไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือน ก.ค.ปี 62

M-Flow เป็นระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางในรูปแบบการอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification: AVI) ผู้ใช้รถยนต์ขับผ่านด่านฯ ที่ติดตั้งโครงเสาแขวนสูงเหนือศีรษะ (Overhead Gantry) พร้อมอุปกรณ์ระบบตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVI) ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition : ALPR) โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ ทล.ได้วางระบบ M-Flow ให้บูรณาการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พัฒนา M-Flow ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System)

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา รมว.ศักดิ์สยามไปติดตามการทดสอบระบบที่ด่านธัญบุรี 2 (ขาออก) รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของศูนย์ควบคุมกลาง CCB ลาดกระบัง ผลการทดสอบระบบอุปกรณ์เชื่อมต่อและระบบควบคุมเป็นไปตามสมมุติฐาน กล้องตรวจจับป้ายทะเบียน สามารถอ่านหมายเลขทะเบียน และส่งข้อมูลไประบบหลังบ้านที่ศูนย์ควบคุมเพื่อตรวจสอบความแม่นยำในระบบ ถือว่าระบบหลังบ้านทำงานได้ 98.5% คาดว่าอีก 2-3 เดือน ระบบจะมีความสมบูรณ์ในการใช้งาน 100%

หลังการทดสอบระบบเสมือนจริงแบบครบวงจร (Soft Opening) ในเดือน ต.ค. แล้ว ทล.มีแผนเปิดบริการระบบ M-Flow ให้ครบทั้ง 4 ด่านนำร่อง ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, 2 และ ด่านธัญบุรี 1, 2 ภายในเดือน ม.ค. 65 จากนั้นจะขยายผลไปใช้กับทางด่วนฉลองรัฐ(รามอินทรา-อาจณรงค์) ของกทพ. ระยะแรก 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และ ด่านสุขาภิบาล 5-2 ภายใน มี.ค.65  ก่อนขยายผลการใช้กับมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง  ทางด่วนฉลองรัฐระยะที่ 2 บูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) รวมทั้งกาญจนาภิเษก(บางพลี – สุขสวัสดิ์) ภายในปี 65 หรืออย่างช้าต้นปี 66

นายศักดิ์สยาม บอกว่า ระบบ M-Flow มีประสิทธิภาพในการระบายรถหน้าด่านได้เร็วขึ้น 5 เท่า หรือ 2,000 คัน/ช่อง/ใช้ความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม. แต่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ 120 กม./ชม. เมื่อเทียบกับระบบชำระด้วยเงินสด หรือ ระบบชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติ เช่น เอ็มพาส (M-Pass) และ อีซี่พาส (Easy-pass) อยู่ที่ 400 คัน/ช่อง/ชม. นอกจากนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยใช้เทคโนโลยีทำงานแทน รวมทั้งช่วยลดสัมผัสและการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย เพราะไม่ต้องใช้บัตรหรือเงินสดชำระค่าผ่านทางที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นวิ่งก่อนจ่ายเงินทีหลัง โดยมีช่องทางชำระค่าบริการหลากหลาย อาทิ ผ่านโทรศัพท์มือถือ QR Code หรือแอพพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนา รวมทั้งช่องทางอื่นๆ อาทิ  Counter Service บัตรเครดิต/บัตรเดบิต หักบัญชีธนาคาร  ตัดชำระผ่านระบบ Pre-Paid เช่น M-Pass  Easy-Pass และ Wallet อื่นๆ ชำระได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน    อัตราค่าบริการใช้ระบบ M-Flow คิดตามประเภทรถที่ต้องชำค่าผ่านทางในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ทล.ได้บูรณาการร่วมกับ กทพ. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ ตำรวจทางหลวงเตรียมมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทาง รวมทั้งปรับแก้กฎหมายมารองรับเพื่อการบังคับใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น

เบื้องต้นกำหนดค่าปรับผู้ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทาง 10 เท่าจากค่าผ่านทางที่ต้องชำระในด่านที่ใช้บริการนั้นๆ เช่น รถ 4 ล้อ ต้องจ่าย 30 บาทต่อด่าน จะปรับ 300 บาท ขณะเดียวกันหากยังฝ่าฝืนหรือค้างชำระจะมีผลต่อการนำรถไปต่อภาษีประจำปีกับ ขบ.ด้วย โดยจะเชื่อมข้อมูลกันทั้งหมด

นายศักดิ์สยาม บอกด้วยว่า ได้มอบหมาย ทล. ไปดูตัวแปรอื่นๆ เช่น กรณีฝนตกหนักหรือมีฝุ่นละออง หรือหมอกควัน หรือใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด กล้องมีประสิทธิภาพทำงานได้มากน้อยแค่ไหน อาจจะจับภาพป้ายทะเบียนไม่ชัด และนำมาซึ่งข้อโต้แย้งหรือทำให้เกิดการฝ่าฝืนได้ รวมทั้งกรณีสวมป้ายทะเบียนปลอม หรือกระทำผิดกรณีอื่นๆ เช่น รถที่ถูกโจรกรรม รถค้างจ่ายภาษี กำลังดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกรณี เพื่อให้ระบบเป็นอีกช่องทางในการตรวจสอบการกระทำความผิด

ทล.รายงานว่ามีการตรวจสอบ 3 ชั้น คือ 1.ใช้กล้องอัจฉริยะตรวจจับรถได้ 40 คัน/นาที  2.นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบหลังบ้าน เพื่อตรวจสอบรถ และ 3.ระบบ RFID ใช้สติกเกอร์ติดด้านในหน้ากระจกรถสมาชิกระบบ M-Flow เรื่องทัศนวิสัยไม่มีปัญหา ส่วนการใช้ความเร็วเกินกฎหมายจะมีสัญญาณแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งตำรวจทางหลวงตรวจจับต่อไป   

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ เช่น การใช้ช่องทางผิดประเภทการจ่ายเงิน ช่วงแรกประชาชนยังไม่คุ้นชิน ยังมีทั้งระบบเดิมคือเอ็มพาส อีซี่พาส และระบบเงินสด หากระบบใหม่นี้ได้ผลในอนาคตจะยกเลิกระบบเดิมทั้งหมด ทล.ต้องลงรายละเอียดเพื่อแก้ปัญหาในทุกเรื่อง

ด้าน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการและมีส่วนร่วมในการทดสอบเสมือนจริงระบบ  M-Flow เดือน ต.ค.นี้ผ่านช่องทาง ดังนี้ 1.เว็บไซต์ : www.mflowthai.com 2.โมบายแอพพลิเคชั่น : Mflow และ 3.จุดบริการที่กรมทางหลวงกำหนด  พร้อมพิจารณาจัดโปรโมชั่นอาจจะเป็นลด 25-50% ตามความเหมาะสมเพื่อจูงใจประชาชนใช้ระบบ

มิติใหม่ในการเดินทางผ่านมอเตอร์เวย์และทางด่วนวิ่งฉิวไร้ไม้กั้น ต้องย้ำกระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาการสวมป้ายทะเบียน อย่าให้ซ้ำรอยกล้องจับไฟแดงที่เจ้าของรถถูกสวมทะเบียนเจอใบสั่ง รวมทั้งปัญหาป้ายปลอม…ต้องให้ประชาชนสิ้นสงสัย

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง