ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่ช่วงท้ายปลายปีจนข้ามสู่ปีใหม่…ที่ในไทยหลัง ๆ มานี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.ของทุกปีถือว่าเข้าสู่ “ฤดูฝุ่น PM2.5” ซึ่งแม้ว่าหลายปีมานี้ก็ได้มีการรณรงค์แก้ไข-ป้องกัน แต่ปัญหานี้ก็ยังคงไม่เบาบาง อย่างไรก็ดี “แนวทางรับมือปัญหาฝุ่น” นี้ก็มี “ข้อเสนอแนะทางวิชาการ”…

เช่น “2 แนวคิด 2 งานวิจัย” ที่จะชวนดู  

ที่มีการ “เสนอใช้แก้ปัญหาฝุ่น” ในกรุง

รวมถึงจังหวัดปริมณฑลและภาคกลาง

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูเรื่องนี้ในวันนี้โดยจะสะท้อนต่อข้อมูลโดยนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้เสนอแนะแนวทางไว้ผ่านการเสนอโครงการแก้ปัญหาและรับมือ ฝุ่น PM2.5 โดยมีการระบุไว้ว่า…แม้ที่ผ่านมากรุงเทพฯ จะมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์ แต่หลาย ๆ พื้นที่ในกรุงเทพฯ ยังพบค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายช่วงเวลา ซึ่ง รศ.ดร.สาวิตรี การีเวทย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและ
สิ่งแวดล้อม มจธ. ได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิด “วิกฤติฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ” ไว้ว่า…

ในเดือน ม.ค.ของทุก ๆ ปีถือเป็นฤดูเริ่มต้นของวิกฤติฝุ่น PM2.5 โดยในช่วงดังกล่าวนี้จะเป็นช่วงที่ในอากาศจะมี “ฝุ่น PM2.5 ชนิดปฐมภูมิฝุ่นที่เกิดจาก การเผาเศษชีวมวลในที่โล่งพื้นที่การเกษตร ซึ่งจะเคลื่อนจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาปะทะ
กับ “สภาวะลมนิ่ง” ของกรุงเทพฯ ซึ่งยิ่งรวมกับ “ฝุ่น PM2.5 ชนิดทุติยภูมิ” จึงยิ่งทำให้เกิดการสะสมตัวในบรรยากาศ จนทำให้ปริมาณฝุ่นสะสมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ภายใต้ “วิกฤติอย่างต่อเนื่อง” มาเป็นเวลาหลายปี

อย่างไรก็ตาม “ฝุ่น PM2.5 ชนิดปฐมภูมิ” นั้น รศ.ดร.สาวิตรี ระบุไว้ว่า… เกิดจากหลายปัจจัย รวมถึง การเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล การก่อสร้าง การเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำในอุตสาหกรรม ขณะที่ “ฝุ่น PM2.5 ชนิดทุติยภูมิ” เกิดจาก ปฏิกิริยาเคมีที่แปรสภาพก๊าซเป็นฝุ่น ของก๊าซมลพิษทางอากาศ หลายชนิด เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเมื่อมีการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 ทั้ง 2 ชนิด ประกอบกับการที่มี “สภาวะลมนิ่ง” ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญ “วิกฤติฝุ่น PM2.5” ในช่วงหลังปีใหม่ของทุก ๆ ปี …นี่เป็นคำอธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด “ปัญหาฝุ่น” ที่…

“นับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

จากสถานการณ์ปัญหา นำสู่ โครงการวิจัย “การจัดทำแนวทางจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ จากการใช้แบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง” ที่มี รศ.ดร.สาวิตรี เป็นหัวหน้าโครงการฯ ที่ศึกษาการกระจายตัวและแหล่งกำเนิดฝุ่นแต่ละชนิดในเชิงพื้นที่และเวลา เพื่อ จัดทำ “ระบบบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศความละเอียดสูง” ของประเทศไทย และพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยเมื่อนำไปประมวลผลด้วยแบบจำลองคุณภาพอากาศ จึงพบข้อมูลสำคัญในเชิงการวางแผนและการจัดการคุณภาพอากาศหลาย ๆ ประการ…

“การคำนวณผ่านแบบจำลองพบว่า…PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นฝุ่นปฐมภูมิจากแหล่งกำเนิดตรง 70% อีก 30% เป็นฝุ่นทุติยภูมิ โดยการศึกษาสามารถแยกว่าฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดขึ้นมาจากสารแอมโมเนียมซึ่งแปรสภาพจากก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยยูเรียในการเกษตรปริมาณสูง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.”

…นี่เป็นข้อมูลที่งานวิจัยพบ ซึ่ง รศ.ดร.สาวิตรี ระบุไว้อีกว่า…ข้อมูลระดับปริมาณฝุ่นจากระบบแบบจำลองและบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศไม่เพียงชี้ให้เห็นสถานการณ์และแนวโน้มความรุนแรง แต่ยังนำตัวเลขต่าง ๆ มาวิเคราะห์ภายใต้สถานการณ์สมมุติหรือนโยบายต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกับกรุงเทพฯ ในการกำหนดนโยบายการควบคุมระบายฝุ่น ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน …นี่ก็เป็นการระบุไว้จากนักวิชาการท่านนี้

ขณะที่มีอีกแนวทางจาก รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. จากงานวิจัย “แนวทางการปลูกต้นไม้เพื่อลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ทางกรุงเทพฯ ดำเนินการอยู่ โดยได้มีการศึกษา ประสิทธิภาพการลดฝุ่นละอองของต้นไม้ จำนวนกว่า 100 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพช่วยลดฝุ่น เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางการเลือกปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะสนับสนุนนโยบายของกรุงเทพฯ…

นโยบาย “ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น”

ทาง รศ.ดร.ชัยรัตน์ ระบุไว้ว่า…หัวใจสำคัญแนวทางนี้อยู่ที่ “เลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่” เช่น ปลูกต้นไม้ที่เรือนยอดไม่หนาทึบจนเกินไป เพื่อช่วยระบายอากาศ หรือ ปลูกต้นไม้ที่ใบมีขนาดเล็กหรือที่มีขนใบหนาแน่น เพื่อใช้ดักจับฝุ่น ซึ่งเมื่อรวมการ ออกแบบให้มีการปลูกตามลำดับชั้นความสูงของต้นไม้ให้สอดคล้องกับความสูงของอาคาร แล้ว ต้นไม้จะทำหน้าที่กักเก็บฝุ่นได้ดีมากยิ่งขึ้น …นี่เป็นคำแนะนำวิธี “ใช้ประโยชน์จากต้นไม้เพื่อจัดการปัญหาฝุ่น”

ก่อนปีใหม่เริ่มมี…พอหลังปีใหม่ยิ่งหนัก

กับ “วิกฤติฝุ่น PM2.5”…ที่ “เกิดโดยคน”

แล้วก็…“ก่อภัยต่อคนอย่างน่ากลัว!!”.