ผมได้ฟังเรื่องราวของเด็กและเยาวชนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยการถูกหลอก ล่อลวง เมื่อภาพและคลิปหลุดเข้าไปในอินเทอร์เน็ต แม้คดีความจะจบไปแล้ว แต่รูปภาพหรือคลิปก็ยังกลับมาวนเวียนหลอกหลอนอยู่เสมอ ผมจำได้ว่าอบรมเสร็จกลับมาบอกลูกชายที่เป็นวัยรุ่นให้ป้องกันตัว มีสติ ไม่ไปเผลอโชว์และแชร์เกี่ยวกับเรื่องเพศใด ๆ ทางออนไลน์ และคิดว่าควรจะมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในโรงเรียน ยิ่งรีบพูดถึง ยิ่งเร็วยิ่งดี ถือเป็นการป้องกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้สังเกตการณ์และร่วมพิธีเปิดโครงการ BMA x dtac Safe Internet School Tour” ที่โรงเรียนคลองทวีวัฒนา โดยโครงการนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ dtac Safe Internet ในการอบรมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้งานออนไลน์ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 11-13 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน เพื่อให้มีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เข้าใจถึงกระบวนการและสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที ผมเห็นแล้ว ดีใจที่มีองค์กรอย่าง dtac เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ แถมจับกลุ่มวัยได้ถูกต้องด้วย เพราะเด็กช่วง ป.5 และ ป.6 เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระและมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

ผมชอบกิจกรรมและวิธีการสื่อสารของทีม dtac Safe Internet กับเยาวชน เริ่มจากให้เด็กลุกขึ้นมาอ่านข้อความในแชท โดยแสดงบทบาทสมมุติตอบโต้กับคนที่มาทักและเสนอให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย จะเสนอให้เงินไปเติมเกมหรือให้ item พิเศษ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะชวนไปถ่ายแบบ ชวนเป็นดารา แต่ต้องเข้าไปสมัครทางออนไลน์ก่อน โดยเริ่มแรกให้กรอกข้อมูลทั่วไป แต่พอถึงการส่งรูป ส่งไปรอบแรกไม่ผ่าน คู่สนทนาบอกให้เด็กต้องถอดเสื้อ เพื่อนำเข้าโปรแกรม จะส่งผ่านง่ายขึ้น ถ้าทำเสร็จก็จะได้ข้อเสนอตามที่ตกลง เด็กจึงยอมทำตาม

หลังจากเด็กคลิกส่งรูปไป เสียงเพลงดังขึ้น มีมิจฉาชีพสวมหมวกไอ้โม่งออกมา พร้อมทั้งรูปเด็กถอดเสื้อที่อยู่ในมือของคนร้าย มิจฉาชีพหัวเราะชอบใจ วิทยากรจึงสรุปให้เห็นกระบวนการหลอกลวง โดยวิธีการ “หลอกจะให้เงิน “เชิญเป็นดารา” “ชวนให้แก้ผ้า” “ท้าให้เปิดกล้อง” ใช้คำคล้องจอง จำง่าย และเห็นภาพเรื่องราวได้ทันที

นอกจากนี้ วิทยากรยังสอนคำศัพท์เฉพาะในกระบวนการล่อลวงและล่วงละเมิดทางเพศของคนร้าย เช่น Cyber Stalking การสอดส่องพฤติกรรมตัวตนและความชอบของเหยื่อ Child Grooming การสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็ก ๆ ตายใจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง Sexting ส่งรูปหรือถ่ายคลิปทางเพศ เมื่อคนร้ายได้ภาพหรือคลิปลงเว็บขาย ก็จะมาถึง Sextortion ข่มขู่เหยื่อ เพื่อเรียกเงินหรือคลิปเพิ่ม

ทีม dtac Safe Internet ชวนเด็ก ๆ มาทำท่าเพื่อให้จำคำศัพท์และขั้นตอนล่อลวงต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น รวมทั้งให้สูตร 3 ไม่” ได้แก่ ไม่โชว์ (ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้คนแปลกหน้า) ไม่แชะ (ไม่ถ่ายภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหาทางเพศหรือส่งให้คนอื่น แม้เป็นคนที่ไว้วางใจ) ไม่แชร์ (ไม่ส่งต่อภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหาทางเพศดังกล่าว)

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากหลักสูตรตัวเต็มที่เด็ก ๆ จะได้อบรมในระยะเวลา 60 นาที (1 คาบ) ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดจะมีหัวข้อ ดังนี้

  • ประสบการณ์ใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนไทย และความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่มักพบ
  • ข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์
  • การแสวงหาประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์
    • การติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์
    • การล่อลวง ตีสนิท แต่แฝงวัตถุประสงค์เรื่องเพศ
    • การส่งภาพ/คลิปทางเพศ
    • การข่มขู่ทางเพศ
  • จับไต๋คนตีเนียน หลอกจะให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง
  • วิธีการป้องกัน  / การแจ้งเหตุ www.คลิปหลุดทำไง.com

ตอนท้าย พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงจากการเผยแพร่สื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นถึง 4.5 เท่า

จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็กถึง 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนไทย โครงการนี้นำร่องกับโรงเรียน กทม. ก่อน แล้วจะขยายผลไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ถ้าโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนต่างจังหวัดสนใจที่จะร่วมกันป้องกันเรื่องนี้ สามารถติดต่อทีม dtac Safe Internet ได้ที่ [email protected] ครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage