ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมค้าปลีกแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย จัดแถลงผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟและข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเงิน หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย. 66 โดยคงอัตราค่าไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยรวมเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ปรับขึ้นค่าไฟประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เป็น 5.69 บาทต่อหน่วย  

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า เอกชนต้องการให้รัฐทบทวนการตรึงภาคเอกชนไว้คงเดิมอีก 1 งวด และมีการพูดถึงขอให้ตรึงทั้งปี เนื่องจากหากวันที่ 1 ม.ค. 66 ยังประกาศขึ้นค่าไฟตามเดิม จะกระทบหนัก 3 ด้าน 1.เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เพราะค่าไฟจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูง และผลักภาระให้ราคาสินค้าปรับขึ้นเฉลี่ย 5-12% 2.ความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ปี 66 อาจลดลงไปอีก และ 3. จะกระทบต่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้าและการลงทุนอย่างเวียดนามที่มีค่าไฟภาคอุตฯเพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น  

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการประเมินว่าการปรับขึ้นค่า Ft ครั้งนี้ จะกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดิมในปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 3% จะเป็น 3.5% กกร. เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาเพราะจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้หยุดชะงักได้ ขณะเดียวกันทางหอการค้าต่างประเทศก็ขอให้ทางสภาหอฯ เป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนเองก็กังวลมากเช่นกัน 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กกร. ได้ส่งหนังสือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเสนอให้ชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ออกไปก่อนเพราะเป็นการขึ้น 2 งวดติดต่อกันที่สูงพร้อมเสนอแนวทางดูแลไป 5 แนวทางอาทิ รัฐควรหางบหรืออื่นๆ มาดูแลเพดานหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อขยายการใช้หนี้ให้ยาวกว่า 2 ปี ลดการเจรจาเอกชนลดการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (AP) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของรัฐมีเสียงตอบรับไปในทิศทางที่ดี จึงหวังว่าจะเห็นข่าวดีในเร็วๆ นี้  

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าไฟที่ขึ้นจะกระทบต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้กรณีเวียดนาม และอินโดนีเซียมีค่าไฟถูกกว่าไทยพอสมควรเพราะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่มีต้นทุนผลิตต่ำกว่า ขณะที่ไทยใช้ก๊าซฯ สูง 60% และส่วนหนึ่งต้องนำเข้ารูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในราคาจรที่ราคาแพงท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุดปัญหาเหล่านี้ก็ยังกระทบต่อไป รัฐจึงต้องบริหารค่าไฟที่มองทั้งรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์วางสมดุลระหว่างค่าไฟประชาชนกับภาคธุรกิจมีการแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน โดยอย่าลืมว่าภาคอุตฯ เจอ Perfect Strom ทั้งค่าพลังงาน แรงงาน และยังจะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น  

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ทางเอสซีจีพยายามจะยืนระดับราคาสินค้าไว้ให้ได้มากที่สุด โดยปีนี้ทางกลุ่มเอสซีจีได้ปรับขึ้นราคาสินค้าในกลุ่มไปแล้วเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% หากค่าไฟปรับขึ้นอีกยอมรับก็ต้องพิจารณาปรับเพิ่มอีก 20% อย่างไรก็ตาม กังวลธุรกิจค่าไฟที่ปรับขึ้นจะยืนอยู่ยากหากสู้ไม่ได้ก็ต้องหยุดกิจการไป หรือก็ต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งขณะนี้โจทย์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป จึงอยากให้รัฐปรับสมมุติฐานใหม่ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจระยะข้างหน้า ที่มีหลายอย่างอีกมากและยังต้องตอบโจทย์สินค้าสีเขียว ดังนั้น กรอ.ภาคพลังงานควรเป็นเวทีในการร่วมมือกันแก้ไข เพราะค่าไฟแพง ยังอาจทำให้เกิดการย้ายฐาน เช่น เซรามิก  

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า กลุ่มค้าปลีก 80% เป็นเอสเอ็มอี ที่ผ่านมาประสบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งดอกเบี้ย ค่าแรง โดยขณะนี้มูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่รวม เป็นเงินกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่า Ft จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอด ในเมื่อรัฐบาลได้มอบของขวัญปีใหม่แล้ว จึงอยากให้เพิ่มการตรึงค่าไฟออกไป ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และหากตรึงได้ตลอดปีจะดีมาก  

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “ธุรกิจโรงแรมนับเป็น great multiplayer เป็นธุรกิจสำคัญที่กระจายรายได้สู่ภาคครัวเรือนและเชื่อมโยงกับภาคขนส่ง ภาคค้าส่ง ค้าปลีก และภาคเกษตรกรรม ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น ดังนั้นจึงเพื่อให้ธุรกิจนี้ยังคงอยู่รอด จึงอยากขอของขวัญจากรัฐในการช่วยตรึงค่าไฟฟ้าตลอดปี 2566  

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า สมมุติฐานเดิมที่ใช้ในการทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2018) ว่าร าคาแก๊สธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะมีราคาคงที่ในระดับต่ำ น่าจะไม่ใช่สมมุติฐานที่ถูกต้อง ขณะที่ราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประเภทที่ไม่มีเชื้อเพลิง ได้แก่ ลมและแสงอาทิตย์ จะมีราคาคงที่ตลอด 25 ปี และปัจจุบันต้นทุนถูกลงจะเห็นได้จากการรับซื้อไฟฟ้าในปัจจุบันของพลังงานหมุนเวียน ที่จะทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าในราคาเพียง 2.16 บาทต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และ 3.1 บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม นอกจากประเทศไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าที่มีราคาถูกแล้ว ยังตอบโจทย์ด้านความสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย ดังนั้นรัฐควรไทบทวนสมมติฐานในการทำแผน PDP ใหม่ โดยลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้าลง