ผมเคยเขียนถึงการแข่งขันทักษะเยาวชนของกรมพินิจฯ https://www.dailynews.co.th/articles/1482237 หลังจากจบการแข่งขัน ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมพินิจฯ ว่า “การเขียนแผนธุรกิจเครื่องดื่ม” จะมีการทำเป็นรูปธรรมจริง ๆ ให้เยาวชนได้ทดลองทำทดลองขายหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกยังไม่มี ผมว่าน่าเสียดายโครงการนี้น่าจะไปต่อได้

นับว่าโชคดี ผมมีลูกศิษย์ใจดีจากหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) สถาบันพระปกเกล้า ชื่อ คุณวรรณินา สมบูรณ์เวชชการ หรือ “คุณเอนี่” อยากทำ CSR โดยจัดทีมวิทยากรจาก ร้านกาแฟดิโอโร่ (D’Oro) ไปสอนที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา ทั้งทฤษฎี “ความรู้พื้นฐานการเป็นบาริสต้า” และให้เยาวชนได้ลองทำภาคปฏิบัติด้วย

เริ่มจากวิทยากรถามเยาวชนที่บ้านมุทิตา 30 คน ว่าใครรู้จักคำว่า “บาริสต้า” บ้าง ไม่มีคนยกมือเลยสักคนเดียว วิทยากร บอกว่า ไม่เป็นไร วันนี้มารู้จักคำนี้กัน เผื่อว่าในอนาคตอาจจะมีสักหนึ่งคนในนี้สนใจอยากจะเป็นนักชงกาแฟที่มีความเก่งและสร้างความสุขให้กับนักดื่มกาแฟก็เป็นไปได้

วิทยากรเริ่มสอนตั้งแต่สายพันธุ์ของกาแฟ “อาราบิก้า” และ “โรบัสต้า” ความแตกต่างของรูปทรงของเมล็ดกาแฟ ระดับความสูงและอุณหภูมิในการปลูก ไปจนถึงระดับการคั่ว วิธีการชง ทำให้แต่ละแก้วมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในการอบรมมีการถาม-ตอบและให้รางวัล เยาวชนหลายคนไม่เคยดื่มกาแฟ แต่อยากตอบจึงเดาคำตอบกันอย่างสนุกสนาน

ทุกคำตอบเรื่องรสชาติ ถูกคลี่คลายเมื่อได้ทำ workshop เล็ก ๆ เรื่องการชงกาแฟ วิทยากรเลือกวิธีการชงแบบดริปกาแฟมาให้เยาวชนได้ลองทำ เริ่มจากการแนะนำอุปกรณ์ ดูซองเมล็ดกาแฟ การชั่งน้ำหนัก ลองบดกาแฟเอง การลวกกระดาษกรอง อุณหภูมิของน้ำ จำนวนรอบในการเทน้ำลงไป ซึ่งวิทยากรให้สูตรลับประจำร้านกับเยาวชนให้ลองฝึกทำกันคนละหลายรอบ และลองชิมกาแฟที่ตัวเองชง รวมถึงชงให้กับกับครูฝึกและเจ้าหน้าที่ด้วย

เมื่อได้ลองปฏิบัติครบทุกคนแล้ว วิทยากรชวนเยาวชนพูดคุยถึงเส้นทางอาชีพ ถ้าสนใจเกี่ยวกับเรื่องกาแฟ สามารถต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง เช่น ถ้าอยากเป็นบาริสต้า ต้องรู้จักฝึกฝนหาความรู้และพัฒนาตัวเอง เพราะจะมีการแข่งขันบาริสต้าอยู่เสมอทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าได้รางวัลติดไม้ติดมือ ค่าตัวก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือจะไปทำงานด้านการสอนการอบรม ถ้าคิดว่าสามารถถ่ายทอดความรู้ออกมาได้ดี (วิทยากรยกตัวอย่างตัวเอง) หรือถ้าชอบทำงานกลางแจ้ง รักธรรมชาติ อยากจะไปเป็นเกษตรกรที่ปลูกกาแฟก็ได้เช่นกัน

ในช่วงท้าย คุณเอนี่ได้สอบถามเด็ก ๆ ที่เคยไปแข่งการเขียนแผนธุรกิจ เพราะเยาวชนจากบ้านมุทิตาเข้ารอบได้ขึ้นเวที มีเยาวชน 3 คนออกมาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาอยากทำเครื่องดื่มกระชายขาวขาย เพราะช่วงนั้นมีกระแสการดูแลใส่ใจสุขภาพเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดพอดี วิทยากรแนะนำว่า มีคนนำกระชายขาวมาผสมกับกาแฟ ถือเป็นเครื่องดื่มตัวใหม่ได้

นอกจากนี้ วิทยากรเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สอบถามการตั้งร้านเครื่องดื่มจากเจ้าของธุรกิจกาแฟตัวจริงอย่างคุณเอนี่ ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร ใช้คนและเงินทุนเท่าไหร่บ้าง ต้องใช้ความรู้และทักษะไหนบ้างที่จำเป็นต่อการเป็นเจ้าของร้านกาแฟได้จริง

ในวันนั้นผมเป็นผู้สังเกตการณ์ รู้สึกได้ว่าช่วงท้ายการอบรม เยาวชนให้ความสนใจการชงกาแฟและอยากทำธุรกิจร้านกาแฟมากขึ้นจากชั่วโมงแรกที่ยังไม่รู้จักคำว่า “บาริสต้า” ด้วยซ้ำ ผมจึงอยากจะเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ว่า ถ้ามีบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานเฉพาะทางที่อยากจะอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนผู้ก้าวพลาด เพื่อให้พวกเขาเห็นโอกาสและทางเลือกในชีวิต ลองติดต่อไปที่กรมพินิจฯ ได้เลยครับ https://www.djop.go.th/contact-us

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage