งานจัดขึ้นที่ SiamScape เป็นสถานที่ที่เหมาะกับวัยรุ่นมาก ขนาดผมเองต้องถามลูกก่อนไปว่าอยู่ตรงไหน ดีใจกับเด็ก ๆ ที่เข้าแข่งขันด้วยครับ เขาจะได้เปิดหูเปิดตา หวังว่าพื้นที่ข้างนอกนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกมาแล้วไม่กลับไปอีก

ผมมาเป็นกรรมการในช่วงเช้าเรื่อง “การเขียนแผนธุรกิจเครื่องดื่ม” ซึ่งรอบนี้เป็นรอบชิงชนะเลิศแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น ผมได้ตรวจแผนธุรกิจที่ส่งมาจากศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชนจากทั่วประเทศ มีเกณฑ์การให้คะแนนหลายด้าน เช่น การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ตลาดและวางแผนธุรกิจ นวัตกรรมที่แปลกใหม่ และการนำแผนไปทำธุรกิจได้จริง ส่วนใหญ่ร้านที่นำเสนอจะเป็นการขายกาแฟ เปิดคาเฟ่ แต่ศูนย์ฝึกและอบรมบางแห่งฉีกออกไป เช่น ที่ศูนย์ฝึกและอบรมจากราชบุรี ใช้วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ โดยทำร้านขายเครื่องดื่มที่เป็นนม มีนมวัว นมแพะ นมควายให้เลือก มีเมนูพิเศษที่เด็ก ๆ คิดขึ้นมา เช่น นมยูนิคอร์น และใช้ภาชนะเป็นโอ่ง ผมประทับใจทีมนี้มาก คิดได้ครบถ้วนมีแผนการเงินที่ชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ติดโควิดจึงไม่ได้มานำเสนอในรอบ 5 สุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ทีมที่ได้มานำเสนอบนเวทีที่ SiamScape ทำเอาผมอึ้ง ทุกทีมคงต้องซ้อมมาเป็นสิบ ๆ รอบ เพราะการพูดเปิดตัว การวิเคราะห์ปัญหา การนำเสนอสินค้ามีการรับส่งกันเป๊ะมาก ชนิดที่ว่ากรรมการท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์ชมว่าพรีเซ็นต์ดีกว่าลูกศิษย์ที่เรียนมหาวิทยาลัยเสียอีก ผมชอบที่แต่ละทีมจัดเต็ม ตั้งแต่เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ ออกแบบโลโก้และเมนู พร้อมการสร้างบรรยากาศในร้าน

นอกเหนือจากเนื้อหาข้อมูลที่เตรียมตัวมาดีแล้ว บางทีมแสดงความสามารถในการชงเครื่องดื่มบนเวทีด้วย อย่างทีมชนะเลิศชื่อ “ชาระเบิด” จากภาคใต้ โชว์การทำชาชักให้ดูกันสด ๆ ทีมรองชนะเลิศ “Guppy” จากระยอง จัดแต่งร้านได้สวยงามมาก

การแข่งหัวข้อถัดไปคือ “นวัตกรรมทางสังคม” ผมประทับใจมาก เพราะบางคนอาจจะคิดว่าเด็กที่ศูนย์ฝึกฯ คงทำได้แค่ต่อแผงวงจรไฟฟ้า แต่เมื่อได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ความคิดคุณจะเปลี่ยนไป เช่น ทีมเด็กผู้หญิงทำเซ็นเซอร์เครื่องแยกขยะเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม ทีมเด็กผู้ชายจากขอนแก่น ทำเครื่องปั่นจักรยานรักษ์โลก คนปั่นได้ออกกำลังกายและปั๊มน้ำเพื่อรดน้ำต้นไม้ไปพร้อมกัน

ด่านยากของเยาวชนนอกเหนือจากการแสดงผลงานให้กรรมการดู คือการตอบคำถามสด ๆ จากกรรมการทั้ง 3 ท่าน เยาวชนต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ทีมไหนตอบได้ทุกคำถามแสดงว่าทำการบ้านมาดีและมีปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การแข่งขันหัวข้อสุดท้าย “ขายของและทำออนไลน์คอนเทนต์” เป็นการแข่งกันที่มีทีมเข้าร่วมมากที่สุด คนในทีมต้องช่วยกันระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตคลิป VDO ให้ทันเวลา และต้องได้รับการโหวตจากทางบ้าน

ทางอธิบดีกรมพินิจฯ ได้ให้หัวข้อ “ไม้กวาดดอกหญ้า” ตั้งแต่พิธีเปิดงานช่วงเช้า เยาวชนที่เข้าแข่งขันต้องคิดวิธีขายไม้กวาดให้น่าสนใจ ตั้งราคา ทำโปรโมชั่น ทำสื่อเป็นโปสเตอร์หรือ VDO แล้วโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้น เมื่อถึงการแข่งขัน ทีมต้องขึ้นมาพรีเซ็นต์ให้กับกรรมการได้ฟังบนเวที

ผมรอดูจนครบทุกทีมเพราะสนุกมาก บางทีมมีทักษะการพูดที่เก่งระดับเป็นพิธีกรได้เลย บางทีมแร็พขายไม้กวาด บางทีมเน้นขายการใช้งาน บางทีมเน้นขายราคาถูก บางทีมฉีกออกไป ขายไม้กวาดเพื่อบินได้ (ไม้กวาดวิเศษ)

ระหว่างการแข่งขันจะมีศิลปินและนักพูด มาสร้างแรงบันดาลใจ เช่น แดเนียล ไมค์ทองคำ หรั่ง พระนคร แพท พาวเวอร์แพท ซึ่งทุกคนที่มา ต่างเคยก้าวพลาด และมาเตือนน้อง ๆ ให้คิดและไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ

นับว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้รับเชิญมาตัดสินการแข่งขันทักษะเด็กและเยาวชนที่จัดโดยกรมพินิจฯ ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปได้มากว่าเด็กที่อยู่หลังกำแพง พวกเขาก็มีความคิดและมีฝีมือเช่นกัน ขอขอบคุณกรมพินิจฯ ที่กล้าจัดการแข่งขันที่ดึงศักยภาพของเด็ก ๆ ออกมาในหัวข้อที่ทันสมัยและจัดงานในสถานที่สาธารณะที่ทันสมัย เพื่อให้สังคมได้รับทราบว่าเยาวชนเหล่านี้ก็มีความเจ๋งเหมือนกันครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage