ยอมรับการทำสงครามกับ “โควิด-19” คงไม่จบง่าย ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ต่างช่วยกัน ฟันฝ่าวิกฤติร้ายแรงครั้งนี้ อย่างเต็มที่ ระดมสรรพกำลังและปัจจัยต่าง ๆ กับการนำพาความปกติสุขกลับคืนสู่ประเทศไทยให้เร็วที่สุด

แต่ท่ามกลางวิกฤติก็ยังมีตัวอย่างที่น่าชื่นชม ประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กทม. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit)

เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่เมืองหลวง โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร กทม. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจเยี่ยม

สำหรับหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เชิงรุก เป็นความร่วมมือระหว่าง กทม.และบริษัท ปตท. มีภารกิจสำคัญในการ มุ่งฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนพื้นที่เมืองหลวง ที่มีการระบาดจากเชื้อไวรัสร้ายแบบกลุ่มก้อน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน อีกทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียนรับวัคซีน

ทั้งนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคจากไวรัสร้ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยหยุดยั้งการระบาด ได้เร็วขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐ ที่ต้องการเร่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วน ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2564

ขณะที่ “นายอรรถพล” ในฐานะ ผู้บริหาร ปตท. กล่าวถึงความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. กับ กทม. ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเร่งปูพรม กระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ที่ต้อง อาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

อีกทั้งได้ระดม พนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม. ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัทพีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.

ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤติ COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท โดยระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. ในการสนับสนุนงานวิจัยสู้ภัยโควิด-19 อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR)

รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรองและการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ อีกทั้งจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน มูลค่า 200 ล้านบาท โดยเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤติ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวน 360 เครื่อง รวมไปถึงการสนับสนุนการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ

ล่าสุดยังได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่า ซื้อก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 62 ต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 64 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และต่อลมหายใจเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสร้าย

ถึงต้องบอกภาคภูมิใจกับบทบาท ปตท. จะเห็นว่าในช่วงประเทศไทยเกิดวิกฤติ องค์กรนี้จะคอยเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างสังคมไทยตลอดเวลา ด้วยลมหายใจเดียวกัน เพื่อให้คนไทยและประเทศ ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด.

———–
เขื่อนขันธ์