แมนเชสเตอร์ ซิตี ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ ฤดูกาลนี้ไปครอง ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่ 8 ของยุโรปที่คว้า 3 แชมป์ อันประกอบด้วยแชมป์ลีก แชมป์ฟุตบอลถ้วย (ไม่นับ ลีก คัพ) และแชมป์ยูโรปเปี้ยน คัพ หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปครอง 

และที่สำคัญ พลพรรค “เรือใบสีฟ้า” กลายเป็นอีกหนึ่งทีมจากแดนผู้ดีที่คว้าทริปเปิ้ลแชมป์สำเร็จ หลังปล่อยให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมอริร่วมเมืองครองสถิติการเป็นทีมเดียวจากเกาะอังกฤษที่ได้ 3 แชมป์ใหญ่ในซีซั่นเดียวมาเนิ่นนานตั้งแต่ปี 1999 

คำถามคือ ทริปเปิ้ลแชมป์ของ “ปิศาจแดง” ในปี 1999 กับ 3 แชมป์ของ “เรือใบสีฟ้า” ในปี 2023 ครั้งไหนมันเจ๋ง และอยู่ในความทรงจำมากกว่ากัน?

ถ้าวัดกันด้วยตัวเลขและสถิติในซีซั่นที่ได้ 3 แชมป์ ในซีซั่น 1998-99 ทัพ “ปิศาจแดง” ของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ลงเล่นไป 57 เกม (ไม่นับ ลีก คัพ) ชนะ 33 และแพ้แค่ 3 นัด แต่หนักเสมอ โดยเจ๊าคู่แข่งไป 21 เกม เปอร์เซ็นต์ชนะอยู่ที่57.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ “เรือใบสีฟ้า” ของเปป กวาร์ดิโอลา ชนะได้ถึง 42 นัด คิดเป็น 73.7 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนเรื่องของประตู แมนฯ ซิตี รวมทั้ง 3 ถ้วย ยิงไป 145 ลูก เฉลี่ยเกมละ 2.54 ประตู เสียแค่ 39 ประตู เฉลี่ยเกมละ 0.68 ประตู และไม่โดนยิง 26 นัด ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยิง 121 ประตู เฉลี่ยนัดละ 2.12 ลูก เสีย 56 ลูก เฉลี่ยเกมละ 0.98 ประตู และเก็บคลีนชีตได้ 20 เกม 

โดย เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ยิงให้ ซิตี ไปคนเดียว 51 ลูก ส่วน “ปิศาจแดง” 2 คู่หูอย่าง ดไวท์ ยอร์ก และ แอนดี โคลยิงรวมกัน 53 ประตู โดย ยอร์ค ยิงไป 29 ส่วน โคล สอยไป 24 ลูก 

หากเจาะเส้นทางสู่แชมป์ในแต่ละถ้วยของทั้ง 2 ทีมนั้น ในพรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ ซิตี ปล่อยให้ อาร์เซนอล ครองจ่าฝูงอยู่ถึง 248 วัน ก่อนเร่งเครื่องช่วงท้าย พวกเขาไม่แพ้ใครตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. จนถึงเกมรองสุดท้ายของซีซั่น และชนะ12 เกมรวด แซงขึ้นจ่าฝูงในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนเข้าป้ายคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 5 จาก 6 ซีซั่นหลังสุดด้วยคะแนน 89 แต้ม ทิ้ง “ปืนใหญ่” 5 คะแนน 

ขณะที่ในฤดูกาล 1998-99 นั้น “ปิศาจแดง” ของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต้องขับเคี่ยวกับ “ปืนใหญ่” ภายใต้การคุมทีมของอาร์แซน เวนเกอร์ อย่างดุเดือด และต้องตัดสินแชมป์กันในเกมสุดท้ายของซีซั่น 

โดย แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งไม่แพ้ใครในลีกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมนั้น ต้องการชัยชนะเหนือ ทอตแนม ฮอตสเปอร์ในเกมที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จด้วยการเอาชนะไป 2-1 คว้าแชมป์ด้วยการมี 79 คะแนน เฉือนอาร์เซนอล แค่ 1 แต้ม โดยเป็นการคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 5 จาก 7 ซีซั่น 

ส่วนในถ้วย เอฟเอ คัพ เส้นทางสู่แชมป์ในปี 1999 ของ “ปิศาจแดง” เต็มไปด้วยความดราม่า เริ่มตั้งแต่รอบ 3 ที่พวกเขาได้ 2 ประตูจาก ดไวท์ ยอร์ค นาทีที่ 88 และ โอเล กุนนาร์ โซลขา ในช่วงทดเจ็บ แซงกลับมาเฉือน ลิเวอร์พูล 2-1 หลังจากนั้นก็ผ่าน ฟูแลม ในรอบ 4 ชนะ เชลซี ในเกมนัดรีเพลย์ ในรอบที่ 5

ก่อนจะเฉือน อาร์เซนอล ในเกมรีเพลย์ของรอบตัดเชือกชนิดพลิกไปพลิกมาดราม่าสุด ๆ ด้วยประตูชัยจากการโซโล่ครึ่งสนามของ ไรอัน กิกส์ เข้าไปยิงแสกหน้าผ่านมือ เดวิด ซีแมน ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทั้งที่พวกเขาเหลือแค่ 10 คนและหวิดตกรอบหลังโดนจุดโทษ 2 ครั้งแต่ ปีเตอร์ ชไมเคิล เซฟเอาไว้ได้หมด รวมถึงจุดโทษของ เดนนิส เบิร์กแคมป์ในช่วงทดเจ็บของเวลาปกติ ก่อนที่นัดชิงชนะเลิศที่เวมบลีย์นั้น ลูกทีมของ “เฟอร์กี” จะอัด นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด นิ่ม ๆ2-0 คว้าแชมป์ไปครอง 

ส่วนเส้นทางสู่แชมป์ เอฟเอ คัพ ของ แมนฯ ซิตี นั้น ดูจะราบรื่นกว่ามาก แม้จะต้องเจอกับ เชลซี แต่ก็เดป็น เชลซี ที่ไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร เช่นเดียวกับ อาร์เซนอล ที่ในวันที่ดวลกันนั้น “ปืนใหญ่” ก็เลือกที่จขะพักตัวหลักหลายตำแหน่งส่วนคู่แข่งที่เหลือนั้น “เรือใบสีฟ้า” ผ่านทีมจากลีกรองทั้ง บริสตอล ซิตี, เบิร์นลีย์ และ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในรอบตัดเชือก ก่อนจะเอาชนะ แมนฯ ยูไนเต็ด 2-1 ในเกมชิงดำ 

ขณะที่ในถ้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก นั้น ในฤดูกาล 1998-99 ซึ่งมีจำนวนทีมร่วมฟาดแข้งน้อยกว่าปัจจขุบันนั้น แมนฯยูไนเต็ด ซึ่งซีซั่นก่อนหน้านั้นเป็นรองแชมป์ ต้องออกสตาร์ตั้งแต่รอบคัดเลือก ขณะที่ในรอบแบ่งกลุ่ม พวกเขาอยู่ในกรุ๊ป ออฟ เดธ ที่มีทั้ง บาร์เซโลนา และ บาเยิร์น มิวนิก ซึ่ง “ปิศาจแดง” เสมอทั้ง 4 เกมในการเจอกับ “บาร์ซา” และ”เสือใต้” 

ก่อนจะเก็บ 6 แต้มเต็มจาก 2 นัดกับ บรอนด์บี ทีมจากเดนมาร์ก โดยชนะ 6-2 และ 5-0 ซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขามีประตูได้เสียที่ดีกว่า และได้ผ่านเข้ารอบน็อคเอาต์ด้วยการเป็นรองแชมป์กลุ่ม 1 ใน 2 ทีมที่ผลงานดีสุด 

ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย พวกเขาผ่าน อินเตอร์ มิลาน เข้าไปดวลกับ ยูเวนตุส คู่ปรับตัวฉกาจที่เจอกันในถ้วย แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นซีซั่นที่ 3 ติดต่อกัน โดยเกมแรกที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด เสมอกัน 1-1 ส่วนเกม 2 ที่ เดลเล อัลปิ นั้น ฟิลิปโป อินซากี เหมา 2 ตุงให้ “ม้าลาย” นำ 2-0 ตั้งแต่ 11 นาทีแรก 

แต่ “ปิศาจแดง” รวมใจฮีดแซงกลับมาเฉือน 3-2 อย่างสุดมัน ผ่านเข้าชิงชนะเลิศกับ บาเยิร์น มิวนิก ซึ่งเกมชิงดำที่คัมป์ นู วันนั้น ลูกทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คว้าแชมป์มาครองได้แบบสุดดราม่าขนาดไหน เราคงไม่ต้องฉายหนังซ้ำ 

ส่วนเส้นทางของ แมนฯ ซิตี ในถ้วยแชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่นนี้ พวกเขาเข้ารอบน็อคเอาต์ด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม G ซึ่งประกอบไปด้วย โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์, เซบีญา และ เอฟซี โคเปนเฮเกน ก่อนที่ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายจะถลุง แอร์เบไลป์ซิก ยับเยิน โดยเฉพาะเกมที่ 2 ในบ้านที่พวกเขาอัดผู้มาเยือน 7-0 ในจำนวนนั้นเป็นผลงานของ เออร์ลิง ฮาลันด์คนเดียว 5 ลูก 

ส่วนในรอบ 8 ทีมสุดท้าย “เรือใบสีฟ้า” อัด บาเยิร์น มิวนิก ด้วยประตูรวม 4-1 ก่อนจะล้างแค้น รีล มาดริด ในรอบตัดเชือกด้วยประตูรวม 5-1 หลังจากฤดูกาลก่อนหน้านั้นพวกเขาถูก “ราชันชุดขาว” เขี่ยตกรอบเดียวกันนี้อย่างเจ็บแสบ 

ส่วนรอบชิงชนะเลิศก็เพิ่งผ่านสายตากันไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งลูกทีมของ เปป กวาร์ดิโอลา เชือด “งูใหญ่” อินเตอร์ มิลาน 1-0 คว้า 3 แชมป์อย่างยิ่างใหญ่ 

เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลแห่งความทรงจำของทั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด และ แมนฯ ซิตี แล้ว หากจะว่ากันด้วยเรื่องของคุณภาพ ตัวเลขและสถิติต่าง ๆ ต้องยอมรับว่า 3 แชมป์ของ “เรือใบสีฟ้า” นั้นมาแบบแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ 

เปรียบเหมือนรถไฟหัวกระสุนที่พุ่งเข้าป้ายด้วยความเร็วสูง ยากที่ใครจะเอาอยู่ ขณะที่ทริปเปิ้ลแชมป์ของ “ปิศาจแดง” นั้น แม้จะกระท่อนกระแท่นเกือบเอาตัวไม่รอดหลายครั้ง แต่ตลอดเส้นทางมันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าจดจำ

ที่นี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว ว่าคุณชอบความสำเร็จที่ได้มาแบบเปี่ยไปด้วยคุณภาพ หรือชอบแบบที่เต็มไปด้วยดราม่ามากกว่ากัน