การส่งต่อผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ยืนยันความจริงว่า สถานพยาบาลทุกระดับในประเทศไทยไม่อาจทำงานโดยเอกเทศ หากมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของคนไข้ และเพื่อการใช้ทรัพยากรอันจำกัดอย่างเหมาะสม

ในทางหลักการ จำแนกสถานพยาบาลตามขีดความสามารถด้านการรักษาภาวะเฉียบพลัน (โดยส่วนใหญ่) เป็นสี่ระดับจากน้อยไปมากตามความซับซ้อนของโรค ได้แก่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และตติยภูมิขั้นสูง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ลำดับขั้นเช่นนี้บ่งบอกความเก่งในการดูแลสุขภาพอย่างเบ็ดเสร็จ

คนไข้หลอดสมองเฉียบพลันจำเป็นต้องได้รับการดูแลในรพ.ตติยภูมิหรือทุติยภูมิเมื่อพ้นระยะเฉียบพลันแล้ว คนไข้ยังต้องการการฟื้นฟูร่างกายส่วนที่อ่อนแรงหกเดือนถึงหนึ่งปีซึ่งเป็นกรณีที่การดูแลที่บ้านหรือรพ.ปฐมภูมิเหมาะสมมากกว่า ระบบที่ดีจึงออกแบบให้มีการส่งตัวคนไข้ระยะฟื้นฟูกลับไปที่บ้านและหรือรพ.ปฐมภูมิ เป็นต้น

ในหลักการ ถ้าระบบส่งต่อผู้ป่วยจะมีผลดีต่อคนไข้ ต้องการปัจจัยสามประการเป็นอย่างน้อย ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างทีมแพทย์ในรพ.ต่างระดับกัน ถัดไป ข้อมูลที่สมบูรณ์ถูกต้องทันสมัยซึ่งทุกฝ่ายที่ต้องตัดสินใจดูแลคนไข้ (รวมตัวคนไข้เองด้วย) สามารถเข้าถึงได้สะดวกจะได้รับรู้และเข้าใจสภาพคนไข้ตลอดจนแผนการดูแลตรงกัน และประการสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับทีมแพทย์ในรพ.ทุกระดับบนเส้นทางการดูแลอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญต่อการบรรลุความสำเร็จในการดูแลคนไข้ระหว่างรพ.ต่างระดับหรือต่างแผนกในรพ.เดียวกัน

“มีหลายเคสที่มีข้อบ่งชี้ ในการรักษาต่อ เช่น ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอดส์และไวรัสตับอักเสบชนิดซีโดยปริมาณเชื้อไวรัสชนิดซีสูง จึงส่งตัวไปที่รพ.มหาราชโคราชแล้วหลายครั้ง ถูกประเมินว่ายังไม่สามารถจ่ายยาต้านไวรัสชนิดซี ได้ ผู้ป่วยจึงถูกส่งตัวกลับมารักษาแบบประคับประคองอาการต่อที่รพ.อำเภอ ซึ่งถึงแม้ที่นี่จะมีแพทย์อายุรกรรมแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าทางรพ.มหาราชปฏิเสธการรักษา ผู้ป่วยต้องแบกรับความเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ ทั้งๆ ที่มันรักษาได้”

คำถามคือ รักษาได้ในมุมมองของใคร สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยได้วางแนวทางการรักษาที่สอดคล้องกับกรณีในบันทึกของนักเรียนแพทย์ดังกล่าวไว้ดังกรอบข้อความ

(https://thasl.org/wp-content/uploads/2019/09/33.THASL-Chronic-hepatitis-C-guideline-2018_26-04-2018_r1.pdf)

หมายเหตุ HIV ….ไวรัสโรคเอดส์. HCV…..ไวรัสตับอักเสบซี ผู้เขียนได้อ่านตลอดเนื้อความของเอกสารแนวทางดังกล่าวไม่พบประเด็นข้อห้ามการจ่ายยาต้านไวรัสตับอักเสบซีอันเกี่ยวข้องกับปริมาณไวรัสชนิดซีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามปริมาณไวรัสฯ เป็นเงื่อนไขหนึ่งสำหรับปรับยาให้ได้ผลมากขึ้น

ความเข้าใจไม่ตรงกันกรณีตัวอย่างที่รพ.ต้นทางส่งคนไข้ไปรักษาต่อแต่ถูกปฏิเสธจากรพ.ปลายทาง เป็นอุทาหรณ์ว่า ต่อให้มีแนวทางการดูแลจากสมาคมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้แพทย์ต่างรพ.เข้าใจตรงกันได้

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ต่างรพ.อาจเป็นเหตุเบื้องลึกในกรณีนี้ หรือ ความเข้าใจไปเองของแพทย์รพ.ปลายทางด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏแน่ชัดก็อาจเป็นเหตุให้ปฏิเสธการรักษา ด้วยเหตุนี้จึงได้มี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นกลไกกลางเอื้ออำนวยให้เกิดความสอดคล้องกันในการทำงานระหว่างฝ่ายต่างๆบนฐานความรู้ข้อเท็จจริง

เอ้ แล้วเรื่องอย่างนี้อยู่ในวาระการหารือระหว่างฝ่ายต่างๆ บนเวที สสจ.หรือไม่ เพียงใด ถ้าไม่ใช่เวที สสจ. ยังมีเวทีอื่นอีกมั๊ยที่จะประสานความเข้าใจ ผู้เขียนนึกถึงคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) นึกถึง คณะทำงาน service plan กลไกเหล่านี้เป็นโอกาสแค่ไหน ใครอยากตอบคำถามเหล่านี้บ้าง เพื่อที่ระบบส่งต่อผู้ป่วยจะได้มีความหมายต่อสุขภาพของคนไทยมากขึ้นเรื่อยไป

https://thasl.org/wp-content/uploads/2019/09/33.THASL-Chronic-hepatitis-C-guideline-2018_26-04-2018_r1.pdf?fbclid=IwAR0fb9Zkm–fkI2lhZCjAOKdRuIaZNYUBWgPiv4qY6RkVrDPnrCLsmYa6tg

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด