ประเทศไทยในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลเก่า-ใหม่ มีเรื่อง “ของเถื่อน” โผลเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่การจับกุมน้ำมันเถื่อน เนื้อหมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อนทะลักเข้าประเทศไทย หลังสุดเมื่อสัปดาห์ปลายเดือนที่แล้ว มีการจับกุม “ทุเรียนเถื่อน” 1 คันรถบรรทุก น้ำหนักกว่า 8.4 ตัน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท บนถนนบริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว

ท่ามกลางความคลุมเครือกันอยู่พักใหญ่ ว่ากรณีดังกล่าวใครผิดใครถูก เจ้าหน้าที่รัฐ หรือว่าคนขนทุเรียน เป็นทุเรียนจาก จ.ศรีสะเกษ เพื่อขนส่งไป จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของการปลูกทุเรียน-มังคุด และเป็นศูนย์รวมสำคัญของการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ ดังนั้นจริงหรือไม่ว่าเป็นทุเรียนเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา เพื่อมาสวมสิทธิในการส่งออก

เกี่ยวกับเรื่องทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชาผลไม้” เนื่องจากมีรสชาติอร่อย ทำรายได้งามให้กับเกษตรกรชาวสวน และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตอีกยาวไกล ด้วยมูลค่าการส่งออกปีละเป็นแสนล้านบาท

งง!หลายกรณีจับรถขนทุเรียนที่จ.สระแก้ว

วันนี้ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสคุยกับ นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุดแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากรณีการจับกุมรถขนทุเรียนในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เป็นเรื่องที่ตรวจสอบไม่ยากว่าทุเรียนมาจากไหน ถ้าขนมาจากศรีสะเกษ ต้องผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และสระแก้ว ตลอดทางมีกล้องวงจรปิดเต็มไปหมด

แต่ถ้าลักลอบขนเข้ามาจากกัมพูชา เจ้าหน้ารัฐต้องดำเนินการไปตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งกรณีนี้เจ้าของรถขนทุเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุดแห่งประเทศไทย เพราะถ้าเป็นสมาชิกสมาคมฯ จะขอความช่วยเหลือ หรืออาจขอคำปรึกษาเข้ามาที่สมาคมฯ

เมื่อไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ ตนจึงนั่งดูเหตุการณ์ด้วยความรู้สึกงงๆอยู่ 2-3 เรื่อง ว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจึงรีบนำทุเรียนออกไปขาย? พื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ ห่างจากชายแดนหลายสิบกิโลเมตร และจะเข้าเขตจ.จันทบุรี อยู่แล้ว แต่รถขนทุเรียนรอดสายตาของทหาร-ตำรวจ มาได้อย่างไร ที่สำคัญปกติจะมีพ่อค้าแม่ค้าทุเรียนชาวกัมพูชามารับทุเรียนจากฝั่งไทยออกไปขาย ทางช่องทางชายแดนที่บ้านผักกาด จ.จันทบุรี วันละเป็นสิบๆตัน คือเอาทุเรียนของบ้านเราไปขาย และขายได้กำไรดีด้วย จึงงงมากว่าเป็นทุเรียนเถื่อนจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ไม่มีปัญหา ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

อนาคตสดใส!แต่ต้องช่วยหาตลาดใหม่ๆ (อินเดีย)

นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุดแห่งประเทศไทย กล่าวกล่าวต่อไปว่าปีนี้ชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการโรงคัดแยกผลไม้ (ล้ง) ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจันทบุรี ระยอง ตราด ประสบความสำเร็จสูง เนื่องจากมีทุเรียนออกสู่ตลาดมากเกือบ 7 แสนตัน (เฉพาะภาคตะวันออก) แถมยังขายได้ราคาดี ชาวสวนมีกำไร

โดยราคาทุเรียนปีที่แล้ว กก.ละ 110-120 บาท ราคาเฉลี่ยต่ำกว่ากก.ละ 100 บาท แต่ปีนี้ราคาทุเรียนในสวนกก.ละ 120 บาท สูงสุดขึ้นไปถึง 320 บาท แต่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กก. 150 บาท ถือว่าดีกว่าปีที่แล้ว ที่สำคัญคือการส่งออกไปได้ดี เนื่องจากด่านไม่ปิด ตู้คอนเทเนอร์ไม่ขาดแคลน เรือบรรทุกลดราคาค่าขนส่งลงมาบ้าง เพราะมีทางเลือกใหม่คือรถไฟ ใช้เวลาขนทุเรียนจากมาบตาพุดเข้าไปถึงเมืองจีนแค่ 3 วันเท่านั้น ถ้าสามารถขนส่งทางรถไฟได้มากขึ้น ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนจะค่อยๆหมดไป

ตอนนี้ทุเรียนภาคตะวันออกกำลังจะหมด และทุเรียนภาคใต้อีก 6-7 แสนตัน เริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ราคาจะดีเหมือนภาคตะวันออกหรือเปล่ายังไม่ทราบ โดยเฉพาะทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษนับแสนๆตัน แต่ไม่มีใบการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) เมื่อไม่มีใบ GAP จึงส่งออกทุเรียนไม่ได้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมัวไปทำอะไรกันอยู่ สุดท้ายแล้วถ้าราคาทุเรียนตกต่ำ อย่ามาโทษผู้ประกอบการ อย่าโทษล้งกดราคานะ!

“ทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่มีอนาคตยั่งยืน ทุเรียนของเรามีคุณภาพกว่าเวียดนาม และคนจีนชอบมาก ถึงขนาดเอาทุเรียนไปตุ๋นกับไก่ ถ้าราคาไม่ต่ำกว่ากก. 70-80 บาท ชาวสวนอยู่ได้แล้ว เพราะต้นทุนจะอยู่ประมาณกก.ละ 30-40 บาท ผมมีสวนทุเรียน 400-500 ไร่ รู้เรื่องพวกนี้ ถ้าภาครัฐจะส่งเสริมการปลูกทุเรียนในมากขึ้นกว่านี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอเพียงช่วยหาตลาดใหม่ๆ ให้ด้วย เช่น อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องค่าไฟที่แพงขึ้น ปีที่แล้วจ่ายค่าไฟเดือนละ 100,000 บาท แต่ปีนี้ต้องจ่าย 500,000 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยพี่น้องเกษตรกร ต้องหาทางช่วยผู้ประกอบการ ไม่ใช่มาเดินดูๆ ถ่ายรูปแล้วก็กลับ” นายภาณุวัชร์ กล่าว

กระทุ้งภาครัฐเร่งออกใบ GAP รอบคอบรัดกุม!

ทางด้าน นายชลธี นุ่มหนู แกนนำเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย เปิดเผยถึงการนำทุเรียนต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ GAP และสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ว่าเป็นเรื่องจริงที่มีการลักลอบมานานแล้ว ส่วนเรื่องของการนำทุเรียนจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ สวมชื่อเป็นทุเรียนไทย ถ้ามีการตรวจสอบแล้วเป็นเรื่องจริง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและยอมรับไม่ได้ เพราะสร้างความเสียหายให้พี่น้องชาวสวนทุเรียนของไทยเป็นอย่างมาก

“การนำเข้าทุเรียนจากต่างประเทศ ในส่วนนี้ไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม แต่ขบวนการนำเข้าจะต้องมีขั้นตอน มีการรับรองด้านสุขอนามัยพืชจากประเทศต้นทาง ผ่านด่านศุลกากร ผ่านด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร ทุกคนสามารถขออนุญาตได้อย่างถูกต้อง แต่นำมาแปรรูปและใช้ประโยชน์ในประเทศเท่านั้น ไม่สามารถแพ็คส่งออกไปยังประเทศที่ 3ได้” 

ถ้าหากเรานำทุเรียนจากเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยจริง จะไม่รู้เลยว่าทุเรียนนั้นมีศัตรูพืชหรือไม่ เช่น เพลี้ยแป้ง หรืออาจจะมีสารพิษตกค้างก็ได้ เมื่อเป็นทุเรียนถูกสวมชื่อเป็นทุเรียนไทย สวม GAP จากประเทศไทยเมื่อส่งออกไปถึงปลายทาง จะทำให้ทุเรียนไทยเสียชื่อเสียงและส่งผลเสียอย่างมากต่อชาวสวนทุเรียน เพราะจะกลายเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพทันที ทำให้ภาพลักษณ์ทุเรียนไทยตกต่่ำ

ขณะที่อดีตนักข่าวที่ผันตัวไปเป็นชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟ หลายสิบไร่ใน จ.ศรีสะเกษ กล่าวตบท้ายกับทีมข่าว “Special Report” ว่ากรมวิชาการเกษตร ต้องเร่งออกใบ GAP ให้ชาวสวนทุเรียนอย่างรอบและรัดกุม เพื่อเป็นการยืนยันถิ่นกำเนิดของทุเรียนว่ามาจากสวนไหน จังหวัดไหน ป้องกันการสวมสิทธิ ป้องกันทุเรียนข้ามเขต เพื่อชื่อเสียงทุเรียนไทย เพื่อประโยชน์ของการส่งออก และชาวสวนไม่ถูกกดราคา.