ล่าสุดเข้าพรรษาปี 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เจ้าของแคมเปญดังกล่าว นำโดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) ได้ลงพื้นที่ ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรม “พลังสาวพักตับ สร้างสุข สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตดี” พร้อมระบุว่า สสส.ทำงานขับเคลื่อนเลิกแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ปี 2546 ได้พยายามขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาโดยทำให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่ สร้างภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ อย่างตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่แรก ๆ ที่เชื่อมั่นว่าถ้าชุมชนลุกขึ้นมาทำกันอย่างจริงจังในระดับครอบครัวสู่ระดับชุมชนและตำบล จนเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยมีข้อมูลจากรายงานข้อมูลภาษีสรรพสามิตที่ลดลง จากปีละประมาณ 800,000 บาทในปี 2558 เหลือประมาณ 400,000 บาทในปัจจุบัน

ส่วนการใช้แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาในการรณรงค์ทั่วประเทศ โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุราเก็บข้อมูลพบว่าปี 2565 มีผู้เข้าร่วมและงดการดื่ม ตลอด 3 เดือนเต็ม ร้อยละ 36.8  สูงกว่าปี 2564 ที่มีเพียงร้อยละ 30.3 ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด ปัจจุบันมีคนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นคนหัวใจหิน หรือเลิก 3 เดือน และคนหัวใจเพชร ที่เลิกดื่มได้ตลอดชีวิต ทำให้ได้สุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดี ความสัมพันธ์ดี และมีความสุข

นางอารี ขวัญศรีสุทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เล่าถึงความสำเร็จในการณรงค์ในพื้นที่ ว่า เมื่อปี 2558 เราได้ใช้พื้นที่หมู่ 4 ในการดำเนินโครงการเป็นแห่งแรก มีแกนนำ 5 คน และขยายไปยังหมู่บ้านอื่นต่อเนื่อง จนครบทั้ง 10 หมู่บ้านในปี 2560 มีแกนนำ 50 คน ในนาม “สาวพักตับ” และใช้กระบวนการ “ชวน ช่วย ชม เชียร์” ให้คนในครอบครัวงดเหล้าเข้าพรรษา จึงเกิดเป็นที่มาของคำว่า “คู่รัก พักตับ” ต่อมาปี 2562 ได้ก่อตั้ง ชมรมคนหัวใจเพชร “บ่าวเลิกเหล้า สาวพักตับ” ไปจนถึงการงดเหล้าในงานบุญประเพณีและเทศกาลต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

ด้าน “วัลยา ช่วยสงค์” แกนนำสาวพักตับ ชวนลูกวัยรุ่นเลิกเหล้า เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการว่า เริ่มเมื่อครั้งที่ไปถวายเทียนพรรษาที่วัด แล้วเห็นเครือข่ายสาวพักตับเข้ามาประชาสัมพันธ์โครงการ และหาอาสาสมัครเข้าร่วม ตนจึงตัดสินใจเข้าร่วมการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เนื่องจากเมื่อก่อนสามีวัย 45 ปี ดื่มเหล้าค่อนข้างหนัก ส่วนลูกชายที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็เริ่มดื่มด้วย จึงอยากใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นชวนสามีและลูกเลิกดื่มเหล้า เพราะเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ซึ่งในการชวนคนในครอบครัวนั้นจะใช้วิธีการพาทั้งคู่มาร่วมทำกิจกรรมในโครงการด้วยกัน จนได้เห็นและเกิดการเรียนรู้ถึงผลกระทบที่ส่งผลปัญหาให้กับคนในชุมชน ทำให้สามีหันกลับมาดูแลตัวเองและหาวิธีในการลด ละ เลิกดื่มได้สำเร็จ สิ่งที่ประทับใจคือ สามีของเธอได้ให้คำสัญญาว่าจะเลิกเหล้าตลอดชีวิต

“ตอนนี้สามีดื่มมาตั้งแต่อายุ 18 จนถึงอายุ 42 ปี เราอยากให้เขาเลิกเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ก็เลยพูดชวนเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เริ่มจากงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือนก่อน ไม่มีหลุดเลย จากนั้นเขาก็บอกว่าจะเลิกตลอดชีวิต ก็ดีใจมากที่สามีเป็นคนใหม่ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีรายได้และเงินเก็บออม เพราะทั้งลูกทั้งสามีไม่ดื่มเลย” นางวัลยา กล่าวด้วยรอยยิ้ม.

อภิวรรณ เสาเวียง