นโยบายของ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อรัฐสภาในช่วงวันที่ 11-12 ก.ย.66 มีเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนากองทัพ โดยแยกย่อยออกไปในประเด็นการเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ และลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง หรือการลดจำนวน “นายพล” ที่กล่าวกันว่าประเทศไทยมีนายพลนับพันคน มากที่สุดในโลก ด้วยสัดสวนนายพล 1 นาย ต่อทหารที่ยศต่ำกว่าลงมา 600 นาย ขณะที่สหรัฐอเมริกามีนายพล 1 นาย ต่อทหารยศต่ำกว่า 1,600 นาย

วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตนายทหารเหล่าปืนใหญ่ และอดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (อดีตเลขาฯสมช.) เกี่ยวกับการลดจำนวน “นายพล” ว่าจะทำได้แค่ไหน ในจำนวนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

“นายพล” ล้น!จากยุคสงคราม-คอมมิวนิสต์

พล.ท.ภราดรกล่าวว่าถ้ายึดตามที่ “สภากลาโหม” ที่มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปกองทัพ บอกว่าตั้งเป้าไว้ภายในปี 2570 จะลดนายพลให้เหลือ 50% จากจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นวันนี้เราต้องมาดูว่าทุกเหล่าทัพในประเทศไทยมีนายพลอยู่เท่าไหร่ ถ้าบอกว่ามี 1,000 นาย แล้วภายในปี 2570 จะลดเหลือ 500 นาย ยังมากไปหรือไม่?

ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ตั้งแต่ปี 2510-2530 โลกมี 2 ขั้วอำนาจใหญ่ คืออเมริกากับรัสเซีย โลกตกอยู่ในยุคสงครามเย็น มีการแข่งขันกันสะสมอาวุธและกำลังทหาร เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ ส่วนประเทศไทยก็เจอภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม และสงครามในประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลกระทบต่อความไม่สงบตามแนวชายแดนภาคตะวันออก และภาคอีสานตอนล่างยืดเยื้อมาหลายปี

“ผมเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 14 ปัจจุบันปี 66 ว่าที่ผบ.ทบคนต่อไปคือเตรียมทหารรุ่น 23 แต่เอาเป็นว่าก่อนหน้าผมหลายรุ่น โรงเรียนนายร้อย จปร. ผลิตนายร้อยออกมาปีละ 300 กว่าคน มาถึงรุ่นผมลดเหลือประมาณปีละ 230-250 คน ต่อเนื่องมาอีกกว่า 10 ปี แต่ปัจจุบันเห็นว่าเหลือรุ่นละไม่ถึง 200 คนแล้ว ขณะที่โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ผลิตนักเรียนนายร้อยในสัดส่วนที่น้อยกว่าโรงเรียนนายร้อย จปร. อยู่แล้ว และต่อไปโรงเรียนนายร้อยต่างๆ ต้องปรับบทบาทและภารกิจการเรียน การสอน และการฝึก ให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน”

ลด!นายพลเหลือ400นายพอ!เปิดเออร์ลี่ด้วยเงื่อนไขล่อใจ

ดังนั้นจากสถานการณ์ของโลกในยุคสงครามเย็น ปัญหาคอมมิวนิสต์ และสงครามการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านที่ยืดเยื้อยาวนานพอสมควร เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องผลิตนายทหารออกมา สุดท้ายจึงกลายเป็น “นายพล” ล้นกองทัพ เนื่องจากภาวะการสู้รบ และสงครามขนาดใหญ่แทบไม่มีแล้ว

พล.ท.ภราดรกล่าวต่อไปว่า วันนี้เราต้องคิดว่าจะรีดไขมันส่วนเกินในกองทัพออกไปเท่าไหร่ โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยในปัจจุบันน่าจะมีกำลังพลประจำการ (ทุกเหล่าทัพ) ไม่ควรเกิน 200,000 นาย หรือลดลงมาเหลือ 180,000 นาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะไทยเรามีกำลังสำรองเป็นล้านๆคน ที่สำคัญคือโอกาสเกิดการสู้รบขนาดใหญ่ หรือโอกาสที่จะเกิดสงครามในระดับประเทศเกือบเป็นศูนย์

เนื่องจากทุกประเทศรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนกันหมด ไม่มีใครอยากสู้รบกัน ทุกประเทศแข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น หรือแข่งขันกันในเรื่องของกีฬา เป็นอะไรที่สร้างสรรค์กว่าการสร้างความหวาดระแวง และบานปลายถึงขั้นสู้รบกัน

“ถ้าเรามีกำลังพลประจำการ 180,000-200,000 นาย นายพลควรมีไม่เกิน 400 นาย คือ นายพล 1 นาย ต่อทหารยศต่ำกว่า 450-500 นาย ไม่ควรเกินไปจากนี้ ส่วนแนวทางในการจำนวนนายพลคือการเปิดเออร์ลี่ ให้ยศเพิ่ม พร้อมเงินล่อใจ เช่น ระดับพันเอก (พิเศษ)กับพลตรี ตัวเลขเงินเดือนไม่ต่างอะไรกันมากมาย ถ้าเขารับราชการมากว่า 30 ปี ไม่เคยมีประวัติเสียหาย ก็ต้องมีเรื่องยศ-เงินรายได้ เพื่อจูงใจให้เขาตัดสินใจเออร์ลี่” พล.ท.ภราดร กล่าว