ในหลายประเทศจะระบุช่วงวัยของประชากรที่ถือว่า “บรรลุนิติภาวะ” หรือเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 18-20 ปี 

การเป็น “ผู้ใหญ่” หมายถึงสังคมคาดหวังให้เรารู้จักรับผิดชอบตัวเอง และมีสติปัญญาแยกแยะเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผล นอกเหนือไปจากสามารถทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมี “ผู้ปกครอง” เซ็นยินยอม 

แต่ตามข้อมูลของนักประสาทวิทยาระบุว่า ต่อให้เรามีอายุครบ 18 ปี เราก็ยังไม่โตเป็น “ผู้ใหญ่” อย่างเต็มตัว เพราะสมองของเรายังคงอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนสำคัญ ๆ หลายประการในช่วงอายุนี้ 

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ โจนส์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษเคยให้สัมภาษณ์นักข่าวจากบีบีซีไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่นั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงประเภทจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที 

ในการวิจัยของ ดร. โจนส์ ทีมงานของเขาใช้เครื่อง MRI เก็บข้อมูลและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสมองของอาสาสมัครในโครงการจำนวน 297 คน โดยมีอายุระหว่าง 14-24 ปี พวกเขาพบว่า สมองของคนเราจะเริ่มก่อตัวอย่างชัดเจนหลังจากเราอายุได้ 18 ปี ซึ่งหมายถึงว่า พฤติกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งภายนอกและความผิดปกติทางจิตใจจะเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุนี้

ดร. โจนส์ มองว่าการกำหนดให้อายุที่เป็น “ผู้ใหญ่” ตั้งแต่ตอนที่เราอยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้นเป็นไปเพียงเพื่อ “ความสะดวก” ทางสังคมและทางกฎหมาย เช่น เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ไว้ใช้ในระบบการศึกษา, ระบบประกันสุขภาพและการทำนิติกรรม เขามีความเห็นว่ามันไม่มีเส้นแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ กล่าวคือไม่ใช่คนเราจะเป็นเด็กในวันนี้และกลายเป็นผู้ใหญ่ทันทีในวันรุ่งขึ้น เมื่ออายุถึงเกณฑ์

ดร. เจย์ กิดด์ ประธานกลุ่มกุมารแพทย์ของแผนกผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ก็มีความเห็นคล้ายกัน เขากล่าวว่าพัฒนาการของกลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้รับผิดชอบและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงอันตรายนั้น ไม่ได้หยุดลงโดยสิ้นเชิงเมื่อเราอายุถึง 18 ปี จริง ๆ แล้วสมองส่วนจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุประมาณ 25 ปี 

นอกจากนี้ ส่วนของซีรีเบลลัมหรือสมองน้อยซึ่งทำหน้าที่ประสานงานการควบคุมและสั่งการเส้นประสาทของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ก็ยังคงเติบโตและพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงอายุ 20 ปีเศษ ผู้ที่มีพัฒนาการของสมองส่วนนี้ดีจึงมีสามารถด้านการเคลื่อนไหว เช่น นักเต้นรำ นักกรีฑา หรือคนที่มีท่วงท่าสง่างามเวลาทำสิ่งต่าง ๆ

สมองน้อยยังมีความเกี่ยวพันกับกระบวนการรู้คิดและตัดสินใจต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเรายังอายุไม่ถึง 30 ปี หรืออยู่ในช่วงอายุที่สมองส่วนนี้ยังคงพัฒนาและปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโต ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะส่งผลให้เราแสดงพฤติกรรมแบบขาดวุฒิภาวะ หรือ “ดูไม่เป็นผู้ใหญ่” 

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงมองว่า มนุษย์จะมีรู้จักคิดและตัดสินใจ รวมถึงควบคุมพฤติกรรมในแบบของ “ผู้ใหญ่” ได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อผ่านช่วงวัยที่สมองพัฒนาอย่างเต็มที่ไปแล้ว ซึ่งก็คือวัยประมาณ 30 ปี หรืออย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 25 ปี

ที่มา : bbc.com, pbs.org

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES