“ทองคำ” เป็นโลหะที่มีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนเงินตรา การนำไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การนำไปทำเป็นเครื่องประดับ และยังเป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุนอีกด้วย

นับตั้งแต่การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับทหารอิสราเอลเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 ต.ค.66 ทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงขึ้นอีก เทียบจากเมื่อวันที่ 2 ต.ค.66 ราคาทองคำแท่ง (ขายออก) บาทละ 32,150 บาท ทองรูปพรรณ (ขายออก) บาทละ 32,650 บาท ส่วนราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,844.50 ดอลลาร์/ออนซ์ (1ออนซ์=31.104กรัม) ขณะที่ช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค.66 ราคาทองคำแท่ง (ขายออก) บาทละ 33,900 บาท ราคาทองรูปพรรณ(ขายออก) บาทละ 34,400 บาท ส่วนราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,980.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.16 บาท/ดอลลาร์

แนวโน้มราคาทองคำยังขาขึ้น-ปัญหาเศรษฐกิจไทยฉุดแรงซื้อ!

ทีมข่าว Special Report สนทนากับคนในวงการทองคำอย่าง นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง ร้านค้าทองรายใหญ่ในย่านเยาวราช เกี่ยวกับทิศทางของราคาทองคำต่อจากนี้ไป

นายธนรัชต์กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำยังเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าจะปรับขึ้นทดสอบแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยา 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ จากปัจจัยเรื่องสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสรุนแรงมากขึ้นและขยายวงกว้าง ตนจึงให้แนวรับไว้ที่ 1,970 ดอลลาร์/ออนซ์ และแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์

ดังนั้นราคาทองคำในบ้านเราบาทละ 35,000 บาท จึงเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยของสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส จะรุนแรงมากขึ้น และลากยาวไปนานแค่ไหน ที่สำคัญการสู้รบจะขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่ คือมีประเทศอื่นในกลุ่มอาหรับเข้ามาช่วยฮามาส ตรงนี้จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นด้วย รวมถึงราคาทองคำจะปรับขึ้นอีก

“สำหรับความเคลื่อนไหวในตลาดทองคำบ้านเรา ปัจจุบันภาวะดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แรงซื้อจึงน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ซื้อเป็นเครื่องประดับ ซื้อเป็นของฟุ่มเฟือยการซื้อทองจะน้องลงไป จากปัจจัยในเรื่องของราคาที่ปรับตัวขึ้นมาบาทละกว่า 1,000 บาท ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในกลุ่มของนักลงทุนทองคำ ถ้ามีการขายออกมา ก็จะมีแรงซื้อสวนกลับไปทันที” นายธนรัชต์ กล่าว

ราคาทองคำพุ่ง!ต้องจ่าย “ค่าภาคหลวง” ให้รัฐเพิ่ม!

ทางด้าน นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรีในจ.พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก กล่าวว่าราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐได้รับ “ค่าภาคหลวง” จากบริษัทอัคราฯมากขึ้น

นับตั้งแต่เรากลับมาเปิดเหมืองทองคำอีกครั้งในเดือนมี.ค.66 จนถึงวันนี้ บริษัทอัคราฯจ่ายค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐตามกฎหมายไปแล้ว 187 ล้านบาท และยังจ่ายเงินเข้ากองทุนที่จัดตั้งตามเงื่อนไขต่างๆ 4 กอง รวม 37 ล้านบาท แยกเป็น 2 กองที่ชุมชนรอบพื้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์คือกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมือง 8.9 ล้านบาท และกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน 5.3 ล้านบาท

ทั้งนี้วันที่ 25 ต.ค.66 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อจัดทำข้อพิจารณาและรายละเอียดเกี่ยวกับการรับข้อเสนอโครงการต่างๆ เพราะการนำเงินจากกองทุนทั้งสองไปใช้นั้น จะต้องร่วมกันวางหลักเกณฑ์ให้มีความรัดกุม แต่ก็คล่องตัวพอที่จะตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่รอบเหมือง ส่วนอีก 2 กองทุนนั้น เป็นเรื่องของการฟื้นฟูพื้นที่ฯ และกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารจะอยู่ในส่วนกลาง และบริษัทอัคราฯ มี 1 ที่นั่งในคณะกรรมการนี้

มีกำลังผลิตแค่5ตัน!ไทยนำเข้าทองปีละ200ตัน!

นายเชิดศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่เหมืองอัคราจะถูกคำสั่งปิดอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 60 เรามีกำลังการผลิตแร่ทองคำจาก 2 โรงงาน ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี แร่เงินประมาณปีละ 20-25 ตัน แร่ทองคำที่ผลิตได้ส่งออกไปถลุงในต่างประเทศ ถามว่ากำลังการผลิตแร่ทองคำของเหมืองอัคราปีละ 5 ตัน มากหรือไม่? ตอบว่าไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศไทยต้องนำเข้าทองคำปีละ 200 ตัน

แต่เนื่องจากเหมืองอัคราถูกคำสั่งปิดไป 5-6 ปี เมื่อกลับมาเปิดใหม่จึงต้องทยอยซ่อมบำรุงโรงงาน-เครื่องจักรกลหนักต่างๆ ซึ่งใช้เงินทุนพอสมควร ทางบริษัทจึงเลือกซ่อมบำรุงโรงงานที่ 2 ซึ่งใหม่และทันสมัยกว่า เพื่อเปิดโรงงานที่ 2 เมื่อเดือนมี.ค.66 คาดว่าจะผลิตแร่ทองคำได้ประมาณ 2 ตันกว่าๆ ต่อปี และแร่เงินประมาณ 6-7 ตัน/ปี ส่วนโรงงานที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง เพื่อให้เปิดเดินเครื่องในเดือนม.ค.67 จะทำให้เหมืองอัครากลับมามีกำลังการผลิตแร่ทองคำ ประมาณ 5 ตัน/ปี แร่เงินประมาณปีละ 20-25 ตัน ปริมาณการผลิตอาจจะไม่มาก แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็มากพอสมควร

“ต้นปีที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้เปิดตัวความร่วมมือกับ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด หรือ“พีเอ็มอาร์” และ บริษัท ออสสิริส จำกัด อย่างเป็นทางการ เพื่อเชื่อมต่อสายการผลิตทองคำ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ยกระดับศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทองคำแห่งใหม่ของภูมิภาค ภายใต้ความร่วมมือนี้ อัคราจะเป็นผู้ผลิตและส่งต่อทองคำในรูปแบบแท่งโดเร่ให้พีเอ็มอาร์ทำการแปรรูปและสกัดออกมาเป็นทองและเงินด้วยกระบวนการตามมาตรฐานสากล แล้วจึงส่งทองต่อให้ออสสิริสแปรรูปเป็นทองคำรูปพรรณในลำดับต่อไป สรุปคือต่อไปนี้บริษัทอัคราฯ ไม่ต้องส่งแร่ทองคำออกไปถลุงในต่างประเทศ แต่ทำทุกขั้นตอนจบอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นจึงมีประโยชน์กับผู้ประกอบการเครื่องประดับทองคำส่งออก เมื่อใช้วัตถุดิบ (แร่ทอง) ที่ผลิตได้ในประเทศ การส่งออกเครื่องประดับทองคำไปยังกลุ่มอาเซียน รวมทั้งฮ่องกง-อินเดีย จะได้รับการการยกเว้นภาษีนำเข้า และแวตที่ปลายทาง” นายเชิดศักดิ์ กล่าว