การที่นายทีซาชี ฮาเนกบี ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอล กล่าวว่า “ความพยายามทางการทูตของกาตาร์มีความสำคัญมาก ในห้วงเวลานี้” และ “รัฐบาลโดฮามีบทบาทสำคัญ ในการหาทางออกบนพื้นฐานมนุษยธรรม ต่อวิกฤติการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่” บ่งชี้ว่า ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการหาทางออกจากวิกฤติตัวประกัน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 200 คน จากหลากหลายเชื้อชาติ ท่ามกลางการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ยืดเยื้อนาน 1 เดือนแล้ว ไม่ใช่ทั้งอิสราเอลและฝ่ายใดในปาเลสไตน์ แต่คือ “กาตาร์”

แม้นโยบายการต่างประเทศของกาตาร์ที่เกี่ยวข้องกับตะวันออกกลาง สอดคล้องกับทุกประเทศในภูมิภาค นั่นคือ การยืนหยัดเคียงข้างปาเลสไตน์ ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ออกแถลงการณ์ “ประณามอิสราเอลฝ่ายเดียว” ว่าเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงทั้งหมด โดยไม่มีการพาดพิงกลุ่มฮามาสแต่อย่างใด

นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ( คนที่สองจากซ้าย ) เข้าเฝ้าฯ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ที่กรุงโดฮา เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2564

กาตาร์เป็นประเทศที่กลุ่มฮามาสถือว่า “เป็นผู้มีพระคุณ” ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่สถานการณ์ยังอยู่ในระดับรุนแรง รัฐบาลโดฮาอนุมัติการลี้ภัยให้กับสมาชิกระดับสูงหลายคนของกลุ่มฮามาส ที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

ขณะเดียวกัน กาตาร์ยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ทางการเงินให้แก่ฉนวนกาซา จัดสรงบประมาณหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี เพื่อมอบควาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ประชาชนในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม งบประมาณบางส่วนไปอยู่ในมือของกลุ่มฮามาสเช่นกัน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ด้วย

แหล่งข่าวในรัฐบาลโดฮากล่าวว่า การเจรจาปล่อยตัวประกัน “ล่าช้ากว่าที่คิดไว้มาก” เนื่องจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่า ตัวประกันบางส่วนอยู่ในความควบคุมของปาเลสไตน์ อิสลามิก จีฮัด กลุ่มติดอาวุธใหญ่อันดับสองรองจากกลุ่มฮามาส ซึ่งมีแนวคิดสุดโต่งทางการเมืองและศาสนามากกว่า และข้อมูลข่าวกรองบางส่วนระบุด้วยว่า มีการซ่อนตัวประกันบางส่วนไว้ในเขตชุมชนของฉนวนกาซา ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่มาก

ข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุต่อไปว่า เมื่อใดก็ตามที่ตัวประกันซึ่งเป็นพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นชาวอิสราเอลหรือชาวต่างชาติ ได้รับการปล่อยตัวจนครบ จะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนนักโทษ ระหว่างตัวประกันที่เป็นทหารอิสราเอล กับนักโทษชาวปาเลสไตน์ “ทั้งหมด” ในเรือนจำของอิสราเอล ซึ่งกลุ่มฮามาสอ้างว่า มีจำนวนมากถึง 6,000 คน

เฮลิคอปเตอร์จู่โจมของกองทัพอิสราเอล ทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมาย ในพื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซา

อนึ่ง นายซาเลห์ อัล-อารูรี รองผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า ตัวประกันที่เป็นทหารอิสราเอล จะเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับสมาชิกกลุ่มฮามาส ซึ่งอยู่ในเรือนจำของอิสราเอล โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 กลุ่มฮามาสส่งตัวทหารอิสราเอลนายหนึ่งกลับประเทศ หลังควบคุมไว้เป็นตัวประกันนานกว่า 5 ปี แลกกับการที่อิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์และที่เป็นสมาชิกของกลุ่มฮามาสด้วย รวมมากกว่า 1,000 คน

ทั้งนี้ทั้งนั้น กาตาร์ยังคงมีความวิตกกังวล ว่าหากอิสราเอลยกระดับความรุนแรงของปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง จนกลุ่มฮามาสเกิดความรู้สึกว่า “กำลังจะล่มสลาย” การเจรจาอาจมีอันต้องยุติ นอกจากนั้น การที่จำนวนผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซายังเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีแนวโน้มหยุดยั้ง ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับทุกฝ่าย เกี่ยวกับสถานภาพของตัวประกัน ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่า ทุกคนอยู่ในฉนวนกาซาหรือไม่

ชาวปาเลสไตน์ซึ่งลี้ภัยสงคราม ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในเมืองข่าน ยูนิส ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

นอกเหนือจากกาตาร์ อียิปต์คืออีกหนึ่งประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเป็นคนกลางระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และรัฐบาลไคโรมีบทบาทมากกว่ากาตาร์ ในการเจรจาแลกนักโทษครั้งสำคัญ ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นการแลกทหารกับนักโทษปาเลสไตน์ เมื่อปี 2554 ดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม กาตาร์และอียิปต์ยังคงขับเคี่ยวกันในหลายมิติ เพื่อช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาค

ส่วนการที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็น “พี่ใหญ่” ของภูมิภาค อยู่ระหว่างเจรจากับอิสราเอล ในช่วงก่อนเกิดสงคราม เพื่อเตรียมการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ กลายเป็นเรื่องที่ทำให้บทบาทการเป็นคนกลางของรัฐบาลริยาด เบาบางลงไปพอสมควร กระนั้น ซาอุดีอาระเบียประกาศว่า การเจรจาดังกล่าวจะเดินหน้าอีกครั้ง เมื่อสงครามยุติแล้วเท่านั้น

ความพยายามของทุกภาคส่วนเข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้มีจำนวนตัวประกันจำนวนมาก และหลากหลายเชื้อชาติ โดยมาจากประเทศที่มีนโยบายต่ออิสราเอลและปาเลสไตน์แตกต่างกันออกไป หมายความว่า การเจรจาภายใต้เงื่อนไข “แบบเหมารวม” เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และเป็นบททดสอบทางการทูต ซึ่งจะได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES