แม้นโยบายนี้ยังไม่ได้ปรับขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นการมอบหมายให้ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกฯในฐานะประะานกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาความเหมาะสม ความเป้นไปได้ แนวทาง กรอบเวลา และผลกระทบ และรายงานให้ครม. “เศรษฐา 1″ รับทราบภายในเดือนพ.ย.นี้

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 ถือเป็นอีกหนึ่นโยบายหลัก ใน 11 นโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ และสามารถแลกคะแนนเสียงได้มามากกว่า 10 ล้านเสียง

ด้วยความหวังที่ว่าบรรดาแรงงาน บรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ จะได้พลิกชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิต สุดท้าย… นำมาด้วยคุณภาพการทำงานที่ดี เพราะจากนี้ไปประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีแรงงานที่มีคุณภาพสูง ไม่ใช่เป็นการรับจ้างผลิตอีกต่อไป แต่ต้องนำมาซึ่งนวตกรรม ผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม

ที่สำคัญ!! การยกระดับรายได้ครั้งนี้ จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และคุณภาพของข้าราชการ โดยต้องไม่เป็นภาระทางการคลัง พร้อม ๆ กับ ไปกับยกเครื่องระบบราชการทั้งระบบให้เล็ก เร็ว คล่องตัว ด้วยรัฐบาลดิจิทัล

แน่นอน..ระบบบล็อกเชน ย่อมต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดทั้งความโปร่งใสและประสิทธิภาพ และประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

แม้ก่อนหน้านี้ นโยบายการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะตัวข้าราชการเอง จนสุดท้ายนโยบายนี้ต้องกลายเป็นทางเลือก หรือเอาตามที่ข้าราชการสะดวก

เรียกได้ว่า…การประกาศนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ในครั้งนี้ของนายกฯเศรษฐา ก็กระตุกกระตุ้น บรรยากาศเศรษฐกิจได้ไม่น้อย แม้ว่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

แต่ในทางบรรยากาศ ที่กำลังลุ้นกันว่า นโยบายเรือธง สำคัญ อย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท จะเดินหน้าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ซึ่งนายกฯเศรษฐา ได้ออกมาฟันธงที่จะชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 10 พ.ย.นี้

แถมต่อเนื่องด้วย…นโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศด้านเศรษฐกิจ ดูจะมีเรี่ยวแรง มีแรงฮึด เพิ่มขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว

แน่นอนว่า… เรื่องของการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็ต้องตามมาด้วยคำถามที่ว่าจะนำเงินมาจากที่ไหน?  เพราะเพียงแค่การแจกเงินดิจิทัล วอลเลต กว่าจะลงตัว กว่าจะชัดเจน ก็ใช้เวลาไม่น้อย!!


เพราะท่ามกลางเสียงคัดต้านจากหลายฝ่าย ท่ามกลางกฎหมายของแบงก์ออมสิน ที่ไม่สามารถทำได้ ก็ได้กระชากความเชื่อมั่นในนโยบายนี้ลดลงไปไม่น้อยเช่นกัน สะท้อนได้จากตลาดหุ้นไทย ที่ทุกวันนี้มีแต่สาละวันเตี้ยลง จนหลุด 1,400 จุดไปแล้ว

ที่ผ่านมา…ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ได้จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับรายจ่ายด้านบุคลากรทั้งสิ้น 768,108.52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.1% ของงบประมาณ วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท

ในจำนวนงบประมาณกว่า 7.68 แสนล้านบาท แยกเป็นงบประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าจ้างลูกจ้างตามสัญญา และค่าตอบแทนพนักงาน รวมทั้งสิ้น 604,447.93 ล้านบาท

แม้การขึ้นค่าแรงและขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จะทำภายใน 4 ปี ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในแต่ละปีกว่าจะถึงจำนวนนั้น ก็ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย

บรรดากูรู นักวิชากการต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มได้ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ 5% ต่อปี ขณะที่ปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล คือ การหารายได้ แม้มีเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ทั้งนี้ทั้งนั้น… ถือเป็นความท้าทายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งในฐานะที่เป็นรัฐบาล ก็สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ให้ราชการและรัฐวิสาหกิจได้ แต่ในภาคเอกชน รัฐบาลไม่สามารถบังคับภาคเอกชนให้ปรับขึ้นตามนโยบาย แต่ต้องอาศัยกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี

แม้สุดท้าย!! การใช้นโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ มากดดัน ให้การขึ้นค่าแรงขั่นต่ำต้องปรับขึ้นก็ตาม แต่ก็มีผลกระทบอีกไม่น้อยที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพ!! ที่เป็นเรื่องหลักที่คนไทยทั้งประเทศรอให้รัฐบาลแก้!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”