ในเรื่องนี้“ทีมข่าวอาชญากรรม”ไขคำตอบความชัดเจนขั้นตอน เงื่อนไข ระยะเวลา ไปจนถึงยอดเฉลี่ยเงินคืน มีแนวทางอย่างไรกับ นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย ในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. แจงโดยสรุปว่า หลังปปง.ประกาศราชกิจจานุเบกษา ผู้เสียหายสามารถเข้าไปตรวจสอบพฤติการณ์กระทำความผิดว่าตรงกับกรณีที่เป็นมูลเหตุให้ตัวเองได้รับความเสียหายหรือไม่ เบื้องต้นกำหนดคดีความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป

รายละเอียดในราชกิจจาฯจะระบุถึงพฤติการณ์ในคดีไว้ชัดเจน เช่น เป็นคดีความที่เกิดขึ้นในปีใด เลขคดีอาญา รายชื่อผู้ต้องหา เพื่อให้รับทราบว่าเป็นคดีที่ตัวเองเป็นผู้เสียหายหรือไม่”

ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังประกาศ จากนั้น ปปง.จะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ และส่งศาลแพ่งพิจารณาต่อไป

สำหรับช่องทางหลักที่รับคำร้องมี3 ช่องทาง”ได้แก่

1.ยื่นด้วยตนเอง ณ สํานักงาน ปปง.ส่วนกลาง

2.ยื่นผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียน วงเล็บ 2 มุมซอง“ส่งแบบคําร้องขอคุ้มครองสิทธิรายคดี…”

3.ยื่นทางออนไลน์ ผ่านระบบเว็บไซ www.amlo.go.th

ส่วนยอดเฉลี่ยคืนทรัพย์ นายวิทยา อธิบายว่า การตั้งวอลลุ่ม(Volume) มูลค่าความเสียหายที่ผู้เสียหายสูญเสียกับมูลค่าทรัพย์สินที่ปปง. ยึดมาได้ อาจไม่ได้ขนานกัน ยกตัวอย่าง ความเสียหายมูลค่าหลักพันล้านบาท แต่ยึดมาได้หลักร้อยล้านบาท แสดงว่าทรัพย์ที่ยึดได้ไม่ท่วมความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ ปปง.จะคำนวณและชดใช้คืนตามสัดส่วนความเสียหาย เช่น

ความเสียหายทั้งหมด 100 ล้านบาท มีนายเอเป็นผู้เสียหาย 50 ล้านบาท อีก 5 ราย เสียหายรายละ 10 ล้านบาท หากปปง.ยึดได้ 100 ล้านบาท ก็เฉลี่ยตามปกติคือ เสียหายเท่าไรได้คืนเท่านั้น แต่หากยึดกลับมาได้เพียง 10 ล้านบาท ก็ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามสัดส่วนคือ นายเอชดใช้คืน 5 ล้านบาท อีก 5 ราย จะได้รายละ 1 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาจากจำนวนผู้เสียหายที่มายื่นคำร้องภายในเวลาที่กำหนดด้วย และหากในอนาคตสามารถติดตามทรัพย์สินรายคดีได้อีกก็จะนำมาคำนวณเพิ่ม

ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นตามกำหนด แม้จะหมดสิทธิรับชดใช้เงินคืนจากปปง. แต่จะไม่ตัดสิทธิตามกฎหมายอื่น เพราะยังไปฟ้องคดีอาญาเพื่อขอชดใช้ หรือยื่นขอศาลพิจารณาได้ โดยศาลจะพิจารณาว่าเหตุใดจึงไม่ยื่นตามกรอบ 90 วันของปปง. หากมีเหตุสมควรอื่น หรือระหว่างนั้นอยู่ต่างประเทศ ศาลอาจมีคำสั่งให้ปปง.รับไว้เป็นผู้เสียหายก็ได้

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีทรัพย์คดีใดที่ติดตามยึดคืนได้ทุกรายการ เพราะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หากทรัพย์นั้นผู้รับโอนเป็นผู้ประกอบอาชีพสุจริต ก็ไปยึดไม่ได้ เช่น ผู้ที่เปิดร้านขายเครื่องมือก่อสร้าง ขายสินค้าทั่วไป แต่ผู้กระทำผิดนำเงินไปซื้อของ การจะยึดเงินกลับไม่เป็นธรรม

เรื่องนี้จำเป็นต้องคุ้มครองผู้ได้รับค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพสุจริตด้วย ไม่ใช่เงินถูกกระจายไปที่ใดต้องตามไปยึดทั้งหมด เพราะจะเดือดร้อนถ้วนหน้า พร้อมกันนี้ชี้แจงห้วงเวลา“เฉลี่ยคืนทรัพย์”แก่ผู้เสียหายของศาลแพ่งว่า ระบุชัดเจนได้ยาก ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี และมูลค่าความเสียหายของคดีว่า เป็นคดีใหญ่หรือเล็กน้อย เช่น บางคดีมีผู้เสียหาย5 ราย ใช้เวลาไม่นานก็มีคำสั่งชดใช้ แต่บางคดีมีการโต้แย้งคัดค้านจึงต้องทอดเวลาไปอีก

นายวิทยา ขยายเพิ่มเติมหากทรัพย์นั้นมีเจ้าของ และมูลค่าสูงหลักร้อยถึงพันล้านบาท เจ้าของทรัพย์สินก็มักสู้เต็มที่ เช่น การขอสืบพยาน หรือพยายามดึงเรื่องให้นาน บางครั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว เจ้าของทรัพย์สินก็ไปยื่นอุทธรณ์ หรือไปถึงศาลฎีกาก็ยิ่งทอดเวลาไปอีก แต่ในอีกมุมก็ถือว่าเป็นการทำให้เห็นว่าทรัพย์รายการดังกล่าวยังอยู่ ไม่ถูกจำหน่าย จ่าย โอนไปที่อื่น

ไม่สามารถบอกได้ว่ารายคดีใดจะใช้เวลาเป็นกี่ปี หรือกี่เดือน เพราะหากคดีใดเจ้าของทรัพย์ไม่มาต่อสู้เลย กระบวนการชั้นศาลก็จะเร็วขึ้นได้” นายวิทยา ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]