งานนี้ใครได้ ใครเสีย “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์”  ที่ปรึกษา ด้านนโยบายทรัพยากรมนุษย์สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน มาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ถึงแนวนโยบายภาครัฐต่อเรื่องนี้

“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ได้เปิดประเด็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยแรงงานราวๆ 40 ล้านคน แต่ปัญหาตอนนี้ คือเด็กเกิดน้อย และผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับวัยแรงงานในอนาคต  ทั้งนี้รัฐบาลนี้เข้ามาในยุคหลังโควิด 19 และอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้ คือโมเดล “การได้เงินเร็ว” อย่างแรก คือ มาจากนักท่องเที่ยว ถือว่าต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วได้ดี ในทางกลับกัน เมื่อการท่องเที่ยวโต ก็ต้องการแรงงานภาคบริการเพิ่มขึ้น แต่แรงงานที่ถูกเลิกจ้างตอนโควิด กลับภูมิลำเนาไปแล้วยังไม่กลับเข้าสู่บริการการท่องเที่ยว เพราะยังไม่มั่นใจว่าประเทศจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวบางส่วนก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่

@ เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ตอบโจทย์ปัญหาแรงงานและเศรษฐกิจเมืองไทยหรือไม่

เราต้องเข้าใจว่า 1. เหตุการณ์หลังโควิด หลายประเทศกู้เงินมาใช้ในภาวะวิกฤต แล้วเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่แน่นอน ยังไม่ถึงปีก็มีการสู้รบของกลุ่มฮามาส กับอิสราเอล ทำให้ตอนนี้ลำบากอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง อำนาจซื้อของประเทศต่างๆ ลดลง กระทบถึงการส่งออกของไทยทำได้ยากขึ้น

2. การใช้จ่ายของรัฐบาลที่ใช้หนักมาตั้งแต่ยุคคสช.ต่อเนื่องมาจนถึงยุครัฐบาลที่แล้ว ฐานของเงินจึงส่งมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ทำให้สถานภาพทางการเงินก็ไม่ค่อยดี ซึ่งจะไปกระทบกับตัวกระตุ้นอีก 2 ตัว คือ “การลงทุน” แม้มีเศรษฐกิจ EEC แต่ก็ถูกฟรี๊ซไป 2-3 ปีช่วงโควิด จึงมีเพียงตัวเลขแต่ยังไม่มีการผลิตจริง หวังพึ่งตัวนี้มากระตุ้นจึงช้า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำคือเจรจากับประเทศที่พอมีศักยภาพนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย อีกตัวคือ “การบริโภค” จะเชื่อมโยงกับการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่อำนาจการซื้อภายในประเทศเรายังแย่ ค่าครองชีพสูงสวนทางกับคนไม่มีเงิน หรือมีก็ไม่อยากใช้สอย  

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้นโยบายการคลังไม่ว่าจะจ่ายผ่านรูปแบบไหนก็ตาม ก็เพื่อทำให้เกิดการหมุนเงิน เลยดั๊มเงินจำนวนมากเข้ามาในระบบ เพื่อให้คนจับจ่ายใช้สอยโดยที่ไม่เก็บ อย่างเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลเริ่มใช้การเลือกกลุ่มผู้รับ เพราะเห็นแล้วว่า ให้ทั้งหมดไม่ได้ 

@ แปลว่าการขึ้นเงินเดือน/ค่าแรงขั้นต่ำ มาถูกทางแล้วเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายหรือไม่ 

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีทั้งคนได้ คนเสีย คนได้ คือ ลูกจ้าง คนเสีย คือนายจ้าง แต่ถ้าเป็นนายจ้างขนาดใหญ่เขาคงไม่กระทบ เพราะเขามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตั้งแต่ตอนโควิดแล้ว แต่ที่น่าห่วงคือ 90% เป็นSME ในจำนวนนี้ เกือบ 60-70% เป็นธุรกิจขนาดย่อม ดังนั้นในแง่หนึ่งก็ต้องชั่งใจกับเรื่องความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนงาน

ขณะที่มนุษย์เงินเดือนก็มีอยู่ 2 ส่วน คือ ราชการ กับลูกจ้าง ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนที่ได้เงินเดือนประจำอยู่แล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงจะกระทบกับคนที่ฐานเงินเดือนน้อย หรือลูกจ้างชั่วคราว 6-7 แสนคน ส่วนมากจะอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานเหล่านี้ก็ต้องจ่ายพวกนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศเรามีมนุษย์ชั้น 2 อยู่ คือคนนอกระบบ ราว 20 ล้านคน หากราคาของแพงขึ้น จากต้นทุนที่สูงขึ้น คนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้อะไรเลย  แต่สิ่งที่อาจจะดีสำหรับเขา คือ เงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาของก็จะแพงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น อาจจะมาชดเชยกับการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นได้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะของการขึ้นด้วย เพราะแต่ละปีเอกชนจะมีระบบการขึ้นเงินเดือนอยู่แล้วประมาณ 3-5% รวมถึงอาจจะมีเงินโบนัสต่างจาก ข้าราชการจะขึ้น 2.8-3% ประมาณเดือนต.ค. ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำก็ขึ้นช่วงเดือนม.ค. ดังนั้นอาจจะทำให้ผู้จ่ายเงินได้รับผลกระทบ 2 ขยัก หรืออาจจะใช้เป็นเหตุไม่ให้เงินพิเศษอื่นๆ ก็ได้

“จริงๆโครงสร้างของเราผิดพลาด เพราะไม่ได้ขึ้นตามหลักที่ควรจะเป็น เนื่องจากว่าไปเชื่อ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ให้คิดค่าจ้างตามฐานลูกจ้างคนเดียว แต่ประเทศ เขาจะจ้างตามฐานของคนที่อยู่ในครอบครัว คือ แรงงาน 1 คนจะต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ 2-3 คน เป็นค่าจ้างแบบพอมีพอกิน

@ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่เท่าไหร่ 400บาทจะเป็นไปได้หรือไม่

ค่าจ้างเมื่อปีที่แล้วเฉลี่ย 337 บาท  ถ้าขึ้นเป็น 400 บาท เท่ากับว่าขึ้นไป 63 บาท หรือ 20% ดังนั้นการขึ้น 20% ก็ใกล้เคียงกับที่ประกาศว่าจะเพิ่ม 600 ใน 3ปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 400 บาท ขอกันมานานแล้วเป็น 10 ปี ซึ่งจะทำให้เขาพอเหลือกินเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ต้องทำโอทีเพื่อมาชดเชยเงินเดือนหรือค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอ จะได้พาลูกๆ ไปเที่ยว ไปมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ก็กระตุ้นการใช้จ่ายด้วย ดังนั้นจึงคิดว่าถ้าได้ 400 บาท ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอทำได้

แล้วถ้าบวกค่าจ้างกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือว่าไม่มาก แต่มีเวลาใช้แค่ 6 เดือน ดังนั้นคิดว่าควรเลื่อน ไม่ให้ช่วงเวลาทับซ้อนกัน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายต่อเนื่อง นานกว่า 6 เดือน บวกกับนโยบายชะลอหนี้ และนโยบายอื่นๆ ต้องคิดรวมๆ กัน แล้วชั่งน้ำหนักว่าเกิดผลดีแค่ไหน ผลเสีย คือ อะไร จะชดเชยด้วยอะไร หรือจะหักล้างกันไปเองจากกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจ  

@ รัฐมีนโยบายดูแลสิทธิ์สวัสดิการของกลุ่มแรงงานแค่ไหน

ที่เกี่ยวข้องคือ “ประกันสังคม” แต่เกือบอยู่ในขั้นตอนที่ล้มเหลว เช่นตนเองอยู่ในประกันสังคมมาเกือบ 30 ปี เริ่มใช้บำนาญชราภาพเดือนละ 4,800 บาท แต่คนอีกจำนวนมากได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งใกล้กับเส้นความยากจนที่อยู่ 2,600-2,700 บาท เรียกว่าบั้นปลายชีวิตไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบไม่มีความยืดหยุ่น ไม่อัพเดต เพราะค่าเงินเมื่อก่อนกับตอนนี้เทียบกันไม่ได้ ประกันสังคมควรมีการทบทวนทุกๆ 2-3 ปี ดูจากภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพ

ขณะที่ชาวนา ชาวไร่ อาศัยเพียงเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เช่น อสม. ถ้าตายถึงจะได้ 400,000 บาท แต่ก่อนตาย ถามว่าจะเอาเงินมาใช้จ่าย เพราะไม่มีระบบคุ้มครองคนที่อยู่ในภาคเกษตร

ถ้าจะพูดถึงรัฐสวัสดิการ ก็ต้องเป็นประเทศรวย แต่เราเท่าที่จ่ายเงินชราภาพเดือนละ 600-700 บาท ตอนนี้ก็ตึงเต็มที่ ทั้งๆ ที่ไม่พอใช้ ซึ่งทุกวันนี้มีวัยเกษียณแค่ 30% ที่มีเงินออม และมีไม่ถึง 10% ที่มีพอใช้ ส่วน 50-60% ไม่มีเงินออม

ดังนั้นต้องปรับให้คนมีเงินใช้จ่ายยามเกษียณ โดยดูตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ คือ ปรับปรุงระบบให้ยืดหยุ่น อย่างเพดานคิดเงินเกษียณที่กันไว้ 15,000 บาท อาจจะต้องขยายเพดานสำหรับคนที่มีความสามารถจ่าย อาจจะขยายไปถึง 30,000 บาท รัฐก็ต้องค่อยๆ ลงทุน ค่อยๆ ลงขัน จะเท่าเดิมหรือน้อยลงก็ว่ากันไป เพื่อให้คนพอมีเงิน ส่วนสวัสดิการก็ให้สำหรับคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้จริงๆ แต่คนดูแลตัวเองได้ก็อย่าไปทำอะไรที่เป็นการกีดกันไม่ให้เขาสะสมเงินไว้ดูแลตัวเองยามสูงอายุ

@ มาตรการดูแลไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบจากนายจ้างเพียงพอหรือไม่

อยู่ได้อยู่ที่ว่าแรงเหวี่ยงขณะนั้น อยู่ที่ใคร ถ้าแรงงานมาก งานน้อย นายจ้างก็ได้เปรียบ แต่ถ้าขาดแคลนแรงงาน ลูกจ้างก็มีอำนาจต่อรอง นายจ้างก็ต้องให้ผลประโยชน์เอาใจ แต่พื้นฐานที่เราพูดกันมาทั้งหมดอยู่ที่ประเทศไม่มีเงิน เพราะฐานคนเสียภาษีน้อย แค่นั้นมาจ่ายเงินเดือนก็จะหมดแล้ว จะนำไปใช้ในการพัฒนาก็ลำบาก จุดอ่อนของบ้านเราคือระบบมันตายตัว ไม่มีการปรับเงินบำนาญ หรือปรับแค่ครั้ง สองครั้ง ซึ่งก็หายไปกับเงินเฟ้อหมดแล้ว

@ ปัญหานายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างด้วยการยึดเซอร์วิสชาร์จไปเอง จะแก้ไขอย่างไร

ประเทศเราเป็นประเทศที่ดื้อมาก ประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะเอาเซอร์วิสชาร์จที่ได้มากองรวมแล้วแบ่งให้ลูกจ้าง แต่ประเทศไทยกลับไม่ทำ เพราะเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บังคับ ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปดูกฎหมายให้มีความครอบคลุม เพราะต้องยอมรับว่า วันนี้ค่าจ้างรายวันของไทยไม่ได้สูงมาก บางคนทำงานเกิน 8 ชั่วโมงไม่ได้โอที เซอร์วิสชาร์จทที่จะมาเสริมตรงนี้ก็ยังไม่ได้อีก.