จะว่าไปหากพูดถึงกระแสฟีเว่อร์ที่สุดนาทีนี้ของวงการบันเทิงไทย เชื่อว่าหลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “หนังไทย” แน่นอนเพราะหลังจากภาพยนตร์ม้ามืดของปีนี้อย่างภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ตบเท้าทำความรู้จักกับแฟนๆจนกวาดความนิยมและรายได้อย่างล้นหลามกว่า 700 ล้านบาททั่วประเทศมา ก็ทำเอาคนรักหนัง คนทำหนังเหมือนเห็น “แสงปลายอุโมง” ที่จะทำให้หลายคนกลับมามองจุดยืนของหนังไทยกันมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแต่หนังผีหรือหนังตลกเท่านั้นที่เป็นกระแสตอนนี้ แต่ต้องเรียกว่า “หนังไทย” ทั้งระบบเลยก็ว่าได้ ยิ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศดังๆว่าจะให้ความสำคัญกับคำว่า Soft Power และให้ประเทศไทยเราสามารถผลักดันจุดเด่นจุดดีของเราให้ออกสู่สายตาชาวโลกและเป็นกระแสได้อีก ก็ยิ่งทำให้หลายคนยิ่งมองมายังวงการบันเทิงไทยเป็นพิเศษ เพราะมีสัปเหร่อเป็นตัวนำ ตามด้วยภาพยนตร์ผีสุดปัง “ธี่หยด” อีกที่ล่าสุดแว่วว่าทะลุ 400 ล้านบวกๆขึ้นไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เพราะ “กระแสช่วย” ของจริงๆ

Processed with VSCO with hb2 preset

งานนี้ yimyim เลยจะไม่กั๊ก มาถอดสูตรความสำเร็จของ Soft Power วงการหนังไทยตอนนี้ให้ฟัง ซึ่งก็พูดกันเลยว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลักๆนั่นแหละ

ประการที่ 1 สูตรสำเร็จหนังไทยในความนิยม ก็หนีไม่พ้นหนังผี และหนังตลก สองแนวนี้แหละที่ใครไปทำรีเซิร์ตออกมาก็พบว่าคนไทยเราชอบเสพหนังสองประเภทนี้เป็นหลัก และย้อนกลับไปในอดีตที่ภาพยนตร์เรื่อง “พี่มากพระโขนง” ทำรายได้ ได้ถึง 1,000 ล้านบาทก็เพราะว่าเป็นหนังผี หนังตลก หนังที่ออกจากกรอบไปไกลและโดนใจแฟนๆคนไทยนั่นแหละ ซึ่งตอนนี้ก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนให้เห็นเลยคงเป็นสัปเหร่อ หนังผีที่มากกว่าคำว่าผี ที่มากกว่าคำว่าชีวิตและกลายเป็นคำว่า “ปังที่สุด” นั่นเอง ไม่ว่าจะด้วยโปรดักชั่นที่สมเหตุสมผล ไม่โอเวอร์ แต่เข้าถึงคนไทย หรือการนำเสนอเนื้อหาก็บอกเลยว่าโดนใจ และเข้าใจง่าย ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แถมยังให้ข้อคิดเรื่องชีวิตของเราๆดีนี่เองได้อย่างมากมายด้วย เลยไม่แปลกถ้าภาพยนตร์สัปเหร่อจะทะลุกำแพงหัวใจของแฟนๆไปยืนและเป็นที่พูดถึงได้อย่างสมภาคภูมิในเวลาที่ผ่านมา

ประการที่ 2 ถูกที่ถูกเวลา ยกตัวอย่างเช่น สัปเหร่อ อาจจะใช้คำว่ากระแสปากต่อปากช่วยดันความนิยมก็คงไม่ผิด เพราะผู้กำกับดัง ต้องเต ธิติ ก็เคยพูดมาแล้วผ่านรายการ Dailynews LIVE-TH ในรายการ Daily POP ว่าตอนแรกการตลาดของค่ายจักรวาลไทบ้านคือการบอกแบบปากต่อปากและทำมาเพื่อให้คนอีสานที่คิดถึงบ้านได้มีความสุขและนึกถึงครอบครัวหรือคิดถึงบ้านมากขึ้น แต่ ณ วันนี้มันเป็นมวลรวมของประเทศที่ชอบหนังเรื่องนี้ทำให้สัปเหร่อได้รับความนิยมจนรัฐบาลมองเป็น Soft Power และตนเองรวมถึงทีมงานก็ปลื้มมากๆและหวังว่าหนังไทยจะได้เติบโตมากขึ้นในอนาคต

Processed with VSCO with hb2 preset Processed with VSCO with hb2 preset

ในประเด็นนี้ต้องบอกเลยว่า หนังของต้องเตหรือ “สัปเหร่อ” นั้นมาได้ถูกที่ถูกเวลา ไม่รวมกับเนื้อหาและความดีงามทุกตรงในเรื่องนะ มองแค่จังหวะและเวลาที่พอดิบพอดีกับหนังใหญ่ หนังคาดหวังหรือลูบหนังจากต่างประเทศ ไม่สามารถทำรายได้ได้ และการพูดปากต่อปากของคนทำให้หลายคนเปิดใจไปดูหนังและกลายเป็นว่าเป็น “กระแส” ที่มาได้ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งจังหวะได้แล้ว เนื้อหา และความสมจริงอื่นๆ ข้อคิดและสิ่งต่างๆของเรื่องก็ยิ่งส่งให้สัปเหร่อปัง ก็ไม่แปลกหากหลายคนจะยกสัปเหร่อคือ Soft Power ของวงการหนังไทยตอนนี้ เพราะก็ “สมควร” และ “คู่ควร” กับคำชมทั้งหมดจริงๆ

ประการที่ 3 กระแส Soft Power ของรัฐบาล ที่เปิดตัวมาพอดิบพอดี ไม่นานก่อนเกิดความปังของหนังสัปเหร่อ ซึ่งต้องบอกเลยว่าหลายคนก็คงไม่แปลกใจเลยที่รัฐบาลจะออกหน้าว่าหนังเรื่องนี้สมควรเป็น Soft Power และเป็นความภูมิใจของคนไทย จริงๆจะว่าไปก็ไม่ผิด เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มทำกระบวนการ Soft Power ให้คนไทยรู้จัก ทั้งๆที่ความจริง K-Soft Power นั้นกวาดความนิยมและประสบความสำเร็จไปทั่วโลกได้ภายในไม่กี่ปีจากการสนับสนุนของรัฐบาลจนคนทั่วโลกได้รู้จักอุตสาหกรรมบันเทิงที่เรียกว่า K-POP มากขึ้น แถม K-POP ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้พัฒนาทุกๆองค์ประกอบของประเทศจนโด่งดังเช่นทุกวันนี้มาแล้ว ซึ่งถ้าจะพูดถึงความ “จริงใจ” และการ “มองการณ์ไกล” ถ้าทำได้จริงของรัฐบาล เชื่อว่าจุดนี้ “คนทำหนัง” และ “คนรักหนัง” พร้อมซัพพอร์ตแน่นอน เพราะมันนานมากๆแล้วกับการที่วงการภาพยนตร์ไทยจะเป็นที่รู้จักและออกไปเดินเฉิดฉายในเวทีอาเซียน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนจะคาดหวังและรอคอยด้วยความหวังเหมือน “แสงสว่างที่ปลายอุโมง” กับคำว่า Soft Power ของรัฐบาล

Processed with VSCO with hb2 preset

จะว่าไป ทางออกของคนทำหนังหรือใจจริงของคนทำหนังนั้น ก็ไม่ได้มองในจุดที่เกินตัวเกินไปหรอกว่าอยากให้คนหันมาอุดหนุนหนังไทยมากขึ้น แต่เพราะที่ผ่านมา ทางออกของหนังไทยมันถูกปิดกั้นด้วยหลากหลายปัจจัยที่ทำให้วงการหนังไทยไม่พัฒนา และก้าวไม่ข้ามกับคำว่า “สู้หนังเทศไม่ได้” ดังนั้นถ้ามองเป็นโอกาสก็ถือว่าตอนนี้เป็นจังหวะอันดีที่ “รัฐบาล” มองหนังไทยเป็น Soft Power ในการส่งเสริมให้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หาก Soft Power ของรัฐบาล เป็นเพียงลมปากที่พูดเพื่อให้มีกระแสไปวันๆ

แต่มันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ คนในวงการหนังไทยลุกขึ้นมาผลิตผลิตงานดีๆออกมา และรัฐบาลเอางานดีๆแบบนี้ไปขยายต่อ ซึ่งถ้าทำได้ เมื่อนั้นเราก็จะสามารถออกไปจากกับดักความ “ล้าหลังจำเจ”ของหนังไทยได้ และก้าวไปสู่ หนังไทยในอุดมคติที่เป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาภาคเศรษฐกิจของไทยทั้งระบบนั่นเอง

งานนี้ถ้าจะพูดต่อถึง 3 ขั้นตอนในการผลักดันหนังไทยให้เป็น Soft Power จากการรวบรวมข้อมูลของ yimyim มาก็กลั่นกรองออกมาเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญที่จะยกระดับหนังไทยไปสู่ Soft Power ที่แท้จริงได้ โดยไม่อายใคร (คำเตือน เป็นการรวบรวมคำตอบจากหลากหลายบุคคลในวงการภาพยนตร์นะจ๊ะ ไม่ได้แต่งเสริมเติมแต่งแต่อย่างใด) มันก็จะมีดังนี้

ประการที่ 1 ทำหนังให้สมจริงและเนื้อหาไม่หลีกจากชีวิตประจำของคน อันนี้เริ่มจากง่ายๆ ผลิตหนังที่มีพล็อตเรื่องที่ดูไม่โอเว่อร์ จับต้องได้ และพยายามเน้นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน ไม่ทำให้หนังดูโดดหรือโอเว่อร์แอคติ้งเกินไป เพราะคนจะเปิดใจเพราะหลายคนก็ลงความเห็นว่า ถ้าอยากดูหนังไซไฟ ดูหนังแอนนิเมชั่นหรือหนังแนวสงครามขอไปดู CG ของต่างประเทศดีกว่า เพราะไทยทำยังไงก็ไม่สมจริง(ตามความคาดหวังของแฟนหนัง) ดังนั้นตัดปัญหานี้ เน้นเรื่องอารมณ์และอินเนอร์ของนักแสดงเป็นสำคัญพอ แต่ถ้าค่ายหนังไหนหรือใครคิดว่าเก่งเจ๋งในแนวโอเว่อร์เหนือจินตนาการจะลองทำอีกและให้คนไทยตัดสินใจก็ไม่ผิด ลองดูๆ

ประการที่ 2 หยุดเอานักแสดงดังมาทำเป็นพระเอกนางเอก อันนี้อีกหนึ่งแรงสะท้อนสำคัญเลยของหนังไทย กรุณาอย่าเอาคนดังหรือคนที่ไม่ตรงกับคาแรกเตอร์หรือบทมาแสดงนำเพราะหวังกระแสเลย เพราะแน่นอนได้กระแสจากแฟนๆของเขาอยู่แล้วล่ะดาราพระเอกนางเอก แต่บอกเลยว่าไม่ได้เป็นระดับสากลจ๊ะ หนังดีๆโดนใจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากพระเอกนางเอกหล่อสวยอย่างเดียว แต่เขาเน้นการเข้าถึงบท เหมาะสมกับบทหรือการแสดงของนักแสดงคนนั้นๆดังนั้นหยุดเอาเด็กในค่ายหนังมาทำเป็นตัวหนังแล้วคุณจะรู้ว่าหนังไทยไปได้ไกลแน่นอน

ประการที่ 3 โปรโมทไม่เก่ง ซึ่งคำว่าโปรโมทในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทุ่มงบหลายสิบล้านเพื่อทำพีอาร์นะ แต่แค่คิดและครีเอทคอนเท็นต์ให้ตรงกับหนังของตัวเอง ใช้รูปแบบใหม่ๆในการนำเสนอและโปรโมทหนัง ไม่ต้องทำแอดแปะทุกมุมบนโลกใบนี้ แต่ทำแอดให้เกิดผลกับความรู้สึกของคน ใช้คนให้ตรงกับการโปรโมท และพยายามดันหนังให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดการสนใจ บอกต่อและนำไปสู่ความนิยมในอนาคต

อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งใน “กลยุทธ์” สำคัญที่จะผลักดันหนังไทยให้เป็น Soft Power นะคะ ซึ่งไม่ใช่กฎตายตัว ดังนั้นพัฒนาและปรับให้เหมาะสมกับหนังตัวเองก็พอ

ฝากไว้ให้คิด เท่านั้นทางออกก็เห็นร่ำไรขึ้นแล้วล่ะค่ะ


คอลัมน์ “1 Day With ซุปตาร์”

โดย “yimyim”