สัปดาห์นี้จะพาไปอัปเดตโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท  ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ที่คิกออฟก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 จนถึงวันนี้ได้ผลงาน 28.61% ล่าช้ากว่าแผน 50.01% จากแผนงาน 78.62%  เนื่องจากปัญหาอุปสรรคต่างๆมากมาย 

ไล่เรียงจุดที่เป็นปัญหายังไม่ได้ลงนาม2 สัญญา  

1.สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 15.2 กม. โครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) บริเวณวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมือง ราว 10 กม. แม้การประชุมเจรจาหลักการเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินฯจะได้ข้อสรุปฯโดยปรับแก้ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่อนุมัติให้เอกชน(กลุ่มซีพี)ทยอยจ่ายค่าสิทธิ์บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 7 งวด โดย 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 อีก 5,328.47 ล้านบาท จากสัญญาเดิมเหมาจ่ายเป็นก้อนรวม 11,731 ล้านบาท  

แต่ต้องรอปรับแก้ร่างสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อรายงานคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. และสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อนส่งกพอ. และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้เดือน พ.ค.2567 จากนั้นรฟท. จะเร่งหารือคู่สัญญาเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างทับซ้อนที่มีค่าก่อสร้างประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

 2.สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว  เรื่องการก่อสร้างสถานีอยุธยา ที่ประชาชนในพื้นที่และภาพรวมของสังคม  ยกมือสุดแขนให้ก่อสร้างสถานีอยุธยา   แต่ยังได้รับแรงต้านจากนักวิชาการสายอนุรักษ์ว่าจะกระทบแหล่งมรดกโลก รฟท.เตรียมลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้างภายในเดือน ธ.ค. นี้วงเงิน 10,325 ล้านบาท และจะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน

ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา  รฟท. ได้รับรายงาน HIA ฉบับสมบูรณ์แล้ว จะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาภายในเดือน ธ.ค. ก่อนเสนอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา

หากมีข้อเสนอให้ปรับแก้ไข รฟท.ต้องปรับแก้ให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท้ายที่สุดหากยังมีปัญหาอยู่รฟท.อาจต้องตัดสถานีอยุธยาออกไป จากเดิมตลอดเส้นทางมีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา

นอกจากนี้ยังมีปัญหา สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา  12.3 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท แม้จะลงนามสัญญาแล้ว แต่บริเวณโคกกรวด-บ้านใหม่  7.3 กม. ติดปัญหาไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากการร้องเรียนของชาวบ้าน อยากให้เปลี่ยนจากการสร้างทางระดับดินเป็นทางยกระดับแทน  เบื้องต้นรฟท. จะปรับเป็นทางยกระดับทำให้งบเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านบาท  ต้องขอความเห็นชอบจากบอร์ดรฟท.ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและที่ประชุมครม.ด้วย 

สำหรับอีก 12 สัญญา  โดยสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก  3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก  11 กม. สร้างเสร็จ 100%, สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า  30.21 กม. เตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้าง, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง 12.2 กม. 46.35%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง  26.1 กม.  38.48%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด  69.11 กม. 61.23%

สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา  12.3 กม.  5.47%, สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร  21.8 กม.  0.25%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กม.  23.04%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย  1.46%  สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี  31.6 กม.  0.40% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย  12.9 กม. คืบหน้า 48.39%.

ในส่วนของสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดยฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION)  ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาพรวมของงานล่าช้าเช่นกัน

อยู่ระหว่างออกแบบระบบต่างๆ ทั้งราง ตัวรถ และอาณัติสัญญาณ เน้นระบบไฟฟ้าและระบบเครื่องกลก่อน ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนร่วมกันตรวจสอบปรับแก้อยู่ ส่วนงานขบวนรถไฟจะออกแบบเป็นเรื่องสุดท้าย เบื้องต้นฝ่ายจีนนำแบบมาตรฐานของขบวนรถไฟให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว ได้ขอปรับรายละเอียดภายในตัวรถอีกเล็กน้อยให้เหมาะสมกับคนไทย 

ล่าสุดรฟท.ปรับแผนงานใหม่อีกครั้งไฮสปีดไทย-จีนเฟส1 จะแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2571   จากที่จะเปิดบริการก่อนหน้านี้ในปี 2570  ซึ่งเลื่อนมาเรื่อยๆจากแผนเดิมเปิดบริการปี2565

จบปี2566 ด้วยผลงานการก่อสร้างไม่ถึง1ใน3 …ใกล้เริ่มศักราชใหม่2567 เข้าสู่ปีที่ 7 ของการก่อสร้าง…ลุ้นและรอคอยกันต่อไปว่ารถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยจะสร้างจบได้ภายในกี่ปี. 

——————————–
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”