ทั้งนี้ กรณีชาวต่างชาติจากประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่รวมถึงประเทศแถบยุโรป เข้ามาแอบแฝงทำงานในไทย โดยเฉพาะงานทักษะสูงบางด้านที่ในไทยขาดแคลนแรงงานนั้น ทางการไทยก็จะต้องดูแลควบคุมให้ถูกต้อง-ไม่ให้มีปัญหาต่อไทย ส่วน “แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ” นี่ “ทางการไทยต้องดูแล” ในอีกรูปแบบ…

แรงงานไทย “กลุ่มที่มิใช่ไปแบบลี้ภัย”

นี่ “มีศักยภาพ-คุณภาพเป็นที่ต้องการ”

และ “ก็ช่วยเศรษฐกิจไทยได้อีกส่วน”…

ทั้งนี้ เรื่องเกี่ยวกับ “แรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ” แบบที่ไปถูกต้อง-มิใช่ไปแอบแฝง ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดู-จะสะท้อนต่อข้อมูลให้ลองพิจารณากันในวันนี้นั้น เรื่องนี้มีประเด็นและการวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ที่ได้มีการสะท้อนถึง “คุณค่า” ของแรงงานไทยกลุ่มนี้ไว้ผ่านบทความชื่อ “แรงงานไทยในต่างประเทศ : ทรัพยากรที่ทรงคุณค่า” โดยบทความดังกล่าวนี้เผยแพร่อยู่ในจดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีประเด็นน่าคิด-น่าทำความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานกลุ่มนี้หลากหลายด้าน ในฐานะที่เป็น “ทรัพยากรที่มีคุณค่าของไทย” ที่ควรจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมากขึ้นอีก…

อาจเป็น “อัศวินขี่ม้าขาวช่วยฟื้นไทย” ได้

ทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ สะท้อนไว้ในแหล่งข้อมูลดังกล่าว โดยระบุไว้ว่า… จากกระแสข่าวเรื่องสวัสดิภาพชาวไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศที่เกิดภาวะสงคราม เช่น อิสราเอล เมียนมา ในไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดส่งคนไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และควรมีมาตรการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างแดนอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแรงงานไทยเหล่านี้ เช่น เพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารการจัดส่งคนไปทำงาน และมีมาตรการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันก็ “ควรต้องมีการเร่งสร้างแรงจูงใจเพื่อที่จะดึงแรงงานไทยที่มีทักษะสูงให้กลับคืนสู่ไทย” ด้วย…

เพื่อใช้ประสบการณ์ทักษะคนกลุ่มนี้

“เพิ่มโอกาสแข่งขันให้กับประเทศไทย”

ผศ.ดร.สักกรินทร์ ยังมีการระบุไว้ต่อไปว่า… จากข้อมูลจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้อง ที่รวบรวมโดยกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน พบว่า… ณ เดือน ก.ย. 2566 มีแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ 128,982 คน แบ่งเป็น… กลุ่มประเทศเอเชีย 89,867 คน ตะวันออกกลาง 28,364 คน ภูมิภาคยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย 9,909 คน ซึ่งจากตัวเลขนี้ก็ฉายภาพ…แรงงานไทยส่วนใหญ่มุ่งไปทำงานในกลุ่มประเทศเอเชีย โดยมักจะกระจุกตัวในประเทศ… เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงที่ ไต้หวัน และก็ อิสราเอล ด้วย โดยแรงงานไทยเหล่านี้นำเงินรายได้ส่งกลับมาประเทศไทยรวมกันแล้วสูงแตะหลักหลายแสนล้านบาท!! ซึ่ง แรงงานไทยกลุ่มนี้ก็ช่วยดึงเม็ดเงินต่างประเทศ เข้ามาสู่ไทย…

นี่ก็ “อีกกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

และนอกจากประเด็น “มูลค่าเม็ดเงิน” ผ่านการ “ส่งรายได้กลับสู่ไทย” แล้ว ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ก็ยังชี้ไว้ถึง “โอกาสของไทย” ที่จะใช้ประโยชน์ “ประสบการณ์-ทักษะฝีมือ” ที่แรงงานไทยกลุ่มนี้ได้สั่งสมจากการทำงานในต่างแดน โดย น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อแรงงานเหล่านี้กลับคืนถิ่น และได้ทำงาน-ได้มีการประกอบอาชีพของตน จึงควรมีนโยบายจูงใจแรงงานไทยเหล่านี้ให้กลับคืนถิ่น ให้นำความรู้ทักษะที่มีมาพัฒนาไทย

ทั้งนี้ ข้อมูลโดยนักวิชาการท่านดังกล่าว ที่มีการเผยแพร่ไว้ผ่านจดหมายข่าวฯ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ยังมีส่วนที่ระบุถึงแรงงานไทยกลุ่มนี้ไว้อีกว่า… แรงงานไทยในต่างประเทศถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า โดยพวกเขาเหล่านี้ได้เสียสละเพื่อครอบครัวด้วยการไปทำงานและส่งเงินกลับมายังบ้านเกิดของตน ซึ่ง ช่วง ม..-.. 2566 แรงงานไทยในต่างประเทศส่งเงินผ่านระบบธนาคารกลับประเทศไทยถึง 205,446 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ ได้อย่างดี ฉะนั้นจึงต้องนับว่าแรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศก็เป็นจักรกลที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อมองที่เรื่อง “นโยบายส่งเสริมสนับสนุน” และ “มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือ” แรงงานไทยกลุ่มนี้ กรณีนี้ก็น่าจะสามารถทำได้มากขึ้นอีก อาทิ… มีการกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้นอีก เช่น ให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อไม่ทำให้เกิดภาระหนี้, มีมาตรการเชิงรุกเพิ่มขึ้นในการให้ความคุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ ควรส่งเสริมแรงงานที่กลับคืนถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในระบบ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เป็นต้น …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอแนะ” ที่น่าพิจารณา…

“แรงงานไทยในต่างแดน” นั้น “มีคุณค่า”

ทั้ง “ส่งเงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

และ “กลับมาเป็นฟันเฟืองพัฒนาไทย”.