ปี 2566 ที่จะผ่านพ้นไป ถือเป็นอีกปีที่มีเรื่องราวการเมืองเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เกิดขึ้นมากมาย ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก้าวเข้าสู่ปี 2567  “ทีมการเมืองเดลินิวส์”  ขอคัดเรื่องราวบางช่วงเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นร้อน เกิดภาพจำในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาเป็นข่าวแห่งปี

‘ทักษิณกลับบ้าน’

คนแรกต้องยกให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ได้โผล่กลับมาประเทศไทยมาอย่างเท่ๆ ตามคำพูดโดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. คนไทยทั้งประเทศได้เห็นตัวเป็นๆ กับการกลับมายังแผ่นดินเกิดอีกครั้ง ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เวลาลี้ภัยในต่างแดนเป็นเวลาถึง 17 ปี ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับชาวเสื้อแดงหรือแม้กระทั่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อยากให้ นายทักษิณ กลับมารับโทษตามกระบวนการของกฎหมาย หลังการพาตัว “น.ช.ทักษิณ” ไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ที่ได้มีการตัดสินไปแล้ว 3 คดี มีโทษจำคุกรวม 8  ปี

น.ช.ทักษิณ” อยู่คุกในกรมราชทัณฑ์ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ถูกหามส่งโรงพยาบาลตำรวจกลางดึกในวันเดียวกัน ด้วยอาการแน่นหน้าอก ความดันพุ่ง ปลุกเสียงครหาเป็นการเลือกปฏิบัติ เหลื่อมล้ำไม่เหมือนนักโทษทั่วไป นอกจากนี้หลายคนมองว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติม ออกกฎระเบียบใหม่ขึ้นมา เพื่อให้นักโทษสามารถออกมาคุมขังนอกเรือนจำได้ เป็นการออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ “ทักษิณ” หรือไม่ จนกลายเป็นที่มาคำเรียกว่า “นักโทษเทวดา” เพราะได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า “คุกมีไว้ขังคนจนกับคนที่ไม่มีอำนาจ” เท่านั้น

‘นางพญาอุ๊งอิ๊ง’

ตามมาด้วย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปีที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่เป็นข่าวไม่น้อยหน้าใครๆ และต้องถูกจับตามองอนาคตการเมืองที่พรรคเพื่อไทย จะส่งขึ้นนั่งบัลลังก์นายกฯ หญิงคนที่ 2 ตามหมากที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อจัดวางไว้ แถมยังได้สัญญาณดีหนุนหลังเต็มร้อยจาก คุณหญิงแม่ พจมาน ชินวัตร จนออร่าจับ เด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีบทบาทในรัฐบาล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ว่าด้วยเรื่อง Soft Power เรียบรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ รักษาเนื้อรักษาตัว ลงพื้นที่เลี้ยงกระแสเอฟซีอย่างต่อเนื่อง รอวันและจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมจัดทัพเอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมานำพรรคและเชื่อว่า “อุ๊งอิง” จะเป็นนางพญานำพาพรรคทำสงครามสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งหน้าได้ และขึ้นนั่งบัลลังก์นายกฯ คนที่ 31 ต่อจาก “นายกฯ เศรษฐา”

‘ล้มดีลรัฐบาล 8 พรรค’

สถานการณ์การเมืองพลิกผันจากผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ทำให้คนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยได้เฮ หลังอยู่กับรัฐบาล คสช.ต่อเนื่องมา 9 ปีตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 แม้แลนด์สไลด์ที่พรรคเพื่อไทยวาดหวังไว้ จะเทมาฝั่งพรรคก้าวไกลจนเข้าวินแบบม้ามืด แต่บรรดากองเชียร์ของทั้ง 2 พรรคต่างยินดีปรีดาและเชื่อว่าจะสามารถรวมเสียงกับพรรคการเมืองอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จากนั้นพรรคก้าวไกลก็เล่นใหญ่จูงมือพรรคเพื่อไทยพร้อมรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยได้ 8 พรรค 313 เสียง ตั้งโต๊ะเซ็น “เอ็มโอยู” หวังเป็นสัญญาใจจัดตั้งรัฐบาลส่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

แม้ประสานทั้งใต้ดินและบนดินมีการดีลตรงระหว่างเจ้าของพรรคตัวจริง เพื่อเสาะหาพันธมิตรทางการเมืองแล้ว สุดท้ายพรรคก้าวไกลก็ยังถูกตลบหลัง เพราะกลเกมการเมืองได้ถูกวางหมากเอาไว้มานมนานแล้ว โดยมีเสียง 250 สว.เป็นตัวกำหนดเกม เมื่อไม่สามารถหาแรงหนุนจาก สว.ที่อยู่ในอาณัติของอำนาจเก่ามาเติมเสียงให้ได้ การฉีก “เอ็มโอยู” ล้มดีลรัฐบาล 8 พรรค จึงเกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว โดยพรรคเพื่อไทยจับมือกับเครือข่ายขั้วอำนาจเดิมที่ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ดับฝันกองเชียร์ของ 2 พรรคใหญ่ที่กลายมาเป็นคู่กัดกันแทน ส่วนจะเป็นวิกฤติความขัดแย้งบทใหม่ของสังคมไทยหรือไม่นั้นก็คงต้องดูกันไปยาวๆ เพราะการเมืองไทยไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูถาวร

‘พิธานายกฯทิพย์’

ถึงแม้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏออกมาในช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลมาเหนือเมฆหักปากกาเซียนชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ โค่นพรรคเพื่อไทยแชมป์เก่าที่ครองสมรภูมิการเมืองไทยมาเกือบ 2 ทศวรรษได้ สส.151 ที่นั่ง ต่อ 141 ที่นั่ง ซึ่ง “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ไม่รอช้าชิงจังหวะแถลงประกาศตัวเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยทันทีตั้งแต่ช่วงการรวบรวมเสียงสส. และสว. ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาคือ 376 เสียง

หนุ่ม “ทิม” ก็ออกเดินสายพบปะหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ถี่ยิบเสมือนอยู่ในตำแหน่งนายกฯแล้ว จนถูกค่อนขอดจากบรรดา สว. ขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไม่เว้นแม้แต่เหล่านายแบกนางแบกที่อกหัก เพราะเพื่อไทยแพ้เลือกตั้งว่าเป็น “นายกฯ ทิพย์” ไม่มีทางที่ก้าวไกลจะรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง เหตุจากเงื่อนไขมาตรา 112 ที่ สว.และหลายพรรคไม่เอาด้วย สุดท้ายเกมส่งหนุ่ม “ทิม” สู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 จึงเป็นแค่การสร้างอุปทานหมู่ให้บรรดา “ด้อมส้ม” ได้ฟินจิกหมอนเล่นเท่านั้น เรียกว่าแม้ชนะศึกแต่แพ้ทางการเมืองโดยสมบูรณ์

‘ตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1’

ส่วนการตั้ง “รัฐบาลเศรษฐา 1” ก็ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ เพราะหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งแบบเหนือความคาดหมาย ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้แลนด์สไลด์ตามเป้า แถมยังมาเป็นอันดับสอง ต้องเล่นบทพระรองแกล้งจำยอมจับมือพรรคก้าวไกล และปล่อยให้พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นซีกประชาธิปไตยด้วยกันเป็นแกนนำเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลแต่ต้องแพ้ผลโหวตเลือกนายกฯในที่ประชุมร่วมรัฐสภาถึง 2 ครั้ง จึงต้องประกาศถอย เปิดทางให้พรรคเพื่อไทย รับไม้ต่อเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะหนีบ 8 พรรคร่วมประชาธิปไตย เข้าร่วมรัฐบาล เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่เอาลุงแบบถล่มทลาย

แต่การจัดตั้งรัฐบาลของ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก๋าเกมกว่า มีลับลวงพราง ถีบ พรรคก้าวไกล ไปเป็นฝ่ายค้าน ยอมตระบัดสัตย์กลืนน้ำลายตัวเอง ไปจับมือกับพรรคลุงๆ ให้เข้ามาร่วมรัฐบาล แถลงจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว”  11 พรรคการเมือง รวมเสียง 314 เสียง ทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จากการประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯรอบที่ 3 ในวันที่ 22 ส.ค.2566  ซึ่งถือว่าใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุด

พี่น้อง 3 .กลับบ้าน

ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ การเมืองไทยว่ามีกลุ่มนายทหาร “3 ป.” ประกอบด้วย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้ามาบริหารราชการในประเทศไทย  วางเกมส่งต่ออำนาจจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานที่สุด ภายหลังมีการรัฐประหาร จนมีการเลือกตั้ง ทำให้ “บิ๊กตู่” ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอีก 4 ปี จนครองอำนาจยาวนานมากว่า 9 ปี

แต่ระหว่างปลายรัฐบาลก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 มีพี่น้อง 2 ป. ต้องขับเคี่ยวกันบนเส้นทางการเมือง ระหว่าง “พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม”กับ “น้องเล็ก บิ๊กตู่” หลังผลการเลือกตั้งออกมา “บิ๊กตู่” ยอมรับผลการพ่ายแพ้ปิดฉากอำลาการเมืองอย่างสวยงาม และต่อมาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี

ขณะที่ “พี่ใหญ่ ป.ป้อม” ที่ยังเวียนว่ายอยู่ใน “อำนาจ” การเมือง ที่ต้องลุ้นฉากจบ  ว่า จะออกจากเกมอำนาจในครั้งนี้อย่างไร จะปิดฉากเส้นทางการเมืองได้อย่างสวยงามเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างราบรื่นเหมือนน้องชายหรือไม่

ส่วน “บิ๊กป๊อก” พล..อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้ชีวิตแบบมีความสุขแบบเงียบๆ ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองอีกเลยตั้งแต่ลงจากอำนาจไปแล้ว

เป็นการปิดฉากเกมอำนาจ 3 .ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง.!.

ต้องจับตาดูการเมือง “ปีมะโรง” จะมีเหตุการณ์ร้อนการเมืองป่วนขึ้นมา ตามที่โหร โสรัจจะ นวลอยู่ ออกมาทำนายทายทักหรือไม่ ว่า ปี 67 ดวงการเมืองแรง อาจจะเกิดการแตกแยกในหมู่พรรคการเมืองฝีแตกหลายช่วงอาจจะเป็นการปรับครม. หรืออาจมีเหตุทำให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หรือมีการเลือกตั้งแบบทดแทน สส.บางคนจำนวนมาก ซึ่งต้องคอยติดตามสถานการณ์การเมืองกันต่อไป.