ตั้งแต่ช่วงหาเสียง พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายคิดใหญ่ ทำเป็น หนึ่งในนั้นเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เงินดิจิทัลวอลเลต โดยแจกประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปคนละหมื่นบาท กำหนดสินค้าและช่วงเวลาที่ใช้ ที่สำคัญคือการหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในด้านการบริโภค โดยที่คาดว่า จีดีพีในช่วงที่มีการใช้โครงการน่าจะขึ้นมาถึงประมาณ 0.5% แต่ต่อมา เมื่อผลการเลือกตั้งออก พรรคก้าวไกลจะตั้งรัฐบาล ทางเพื่อไทยก็พับโครงการนี้ไปเพราะ “เงินจะไม่พอในการทำสวัสดิการถ้วนหน้าของพรรคก้าวไกล” และก็เกิดอะไรต่อมิอะไรทางการเมืองให้เราเห็นจนตั้งรัฐบาลได้ นโยบายนี้ก็ถูกกลับมารื้อฟื้นอีกครั้ง แต่กลายเป็นไม่ใช่เป็นรัฐบาลทำได้ทันที

ดันต้องมีผลการศึกษาอะไรต่อมิอะไรก่อน อันดับแรก “เศรษฐกิจไทยวิกฤตจนถึงขนาดต้องกู้เงินมากระตุ้นการบริโภคหรือไม่” เรื่องนี้มันสองคนยลตามช่อง ไปถามคนชั้นกลางถึงล่างที่ได้เงินฟรีเขาก็บอกว่าวิกฤตสิ เงินไม่พอใช้ คนกลุ่มที่ไม่เดือดร้อนเขาก็มี และพวกนักเศรษฐศาสตร์เขาก็บอกว่า เศรษฐกิจก็ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการลงทุนและการส่งออก การท่องเที่ยวอยู่แล้ว นอกจากนี้ ตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลังเอง ก็ออกไปเป็น “เซลส์แมน”ที่เชิญชวนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “มีหลายเจ้าที่สนใจเข้ามาลงทุน”  ..เช่นนี้แล้ว ฝ่ายไม่เห็นด้วยเขาว่าจะกู้เงินมาเพิ่มหนี้สาธารณะทำไม ?  กะแต่ว่าตอนหาเสียงเป็นประชานิยมที่ติดปากง่ายที่สุดหรือไม่

เศรษฐา เยือน Tesla ทดสอบสมรรถนะ ดึงลงทุนในไทย

สุดท้ายก็ต้องตั้งกรรมการศึกษาความเป็นไปได้โดยมอบหมายให้ “รมต.หนิม” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเป็นประธาน และอะไรๆก็แนวๆ ..อ้าวเฮ่ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า.. เดิมบอกว่าไม่กู้ แต่ใช้วิธีตั้งงบผูกพัน ก็ต้องกู้ เดิมบอกว่าแจกทุกคนก็ต้องตั้งฐานรายได้ และฐานเงินเก็บในบัญชี ซึ่งตั้งไปก็ถือเป็นเรื่องดีข้อหนึ่ง เพราะคงมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจำเป็นต้องใช้เงินหมื่นนี้.. แต่ที่คนยังอึงกันไม่เลิกคือ “ทำไมต้องให้ใช้ตามเขตอำเภอในทะเบียนบ้าน” ก็ประชากรที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้อาศัยตามทะเบียนบ้านเยอะจะตาย ในกรุงเทพนี่ประชากรแฝงตั้งเท่าไร

ปัญหาต่อมาคือ การกู้เงินสามารถ “ออกเป็นพระราชบัญญัติ” ได้หรือไม่ ? คราวนี้ รมต.หนิมก็ต้องทำคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา คำตอบจากนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาล่าสุด คือ “ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีคำว่าไฟเขียวให้กู้ได้  เพราะเรามีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นตามที่กระทรวงการคลังได้ถามมาว่าสามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้หรือไม่  ก็ต้องมาดูว่าเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ในมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ 2561 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขในนั้นระบุว่า เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

ตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็บอกแล้วว่าออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก. ก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายเหมือนกัน คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความเห็นอะไรเพิ่มเติม  เป็นการอธิบายมาตรา 53 เท่านั้น และระบุไปว่าต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ และขอย้ำว่าตนเป็นนักกฎหมาย ไปชี้ไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์”

เมื่อถามว่า  ความคิดเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นข้อยืนยันที่สามารถรับประกันได้ว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า  ไม่ทราบ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ถ้ารัฐบาลทำตามคณะกรรมการกฤษฎีกาจะปลอดภัยแน่นอน และถ้ามีปัญหา รัฐบาล รัฐบาลสามารถอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเกราะป้องกันได้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่แนะนำ  ก็ไม่มีปัญหา 

เมื่อถามถึงข้อสังเกตที่ว่ารัฐบาลบอกว่าเป็น ภาวะวิกฤต แต่จะออกเป็นพ.ร.บ.ไม่ใช่ พ.ร.ก.ที่ออกโดยมติ ครม. ถือว่าย้อนแย้งหรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ไม่เป็นไร  ที่จริงแล้ว พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บอกว่าให้กู้ได้ด้วยการตราเป็นกฎหมาย กฎหมายก็มีพ.ร.บ.กับ พ.ร.ก. ซึ่งที่ผ่านมาออกเป็น พ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง รวมถึงสามารถออกเป็นพ.ร.บ.ทำได้ด้วย และเคยพิจารณา 3 วาระรวดในสภาแล้วก็มี ไม่ใช่อะไรที่ยาก คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีความเป็นห่วงอะไร เวลารัฐบาลทุกชุดทำอะไรต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลและข้อเท็จจริง

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง บอกว่า จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงิน ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง  ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอีก อยากฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่าย  ต้องมีความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง  คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น จึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ  ส่วนตัวมั่นใจว่าโครงการนี้ไปต่อได้แน่นอน ต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาที่หลัง ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม  คือ เงินโอนเข้าแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ให้ใช้ได้ราวเดือน พ.ค.67

เมื่อออกเป็น พ.ร.บ.คราวนี้ต้องเข้าสภา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเข้า 3 วาระรวดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิปเขาไปคุยกันเอง แต่เรื่องนี้ทางฝ่ายค้าน โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล หรือเอิร์ธ ประธานวิปฝ่ายค้านบอกแล้วว่า “จะจับตาอย่างเข้มข้น” และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คำว่า “วิกฤตจำเป็นเร่งด่วน”นี่ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลตีกันขนาดไหน นางแบกกับด้อมส้มตีกันขนาดไหน ถ้าเข้าสภาคงตีความกันสนุกพิลึก แต่ด้วยเสียงของรัฐบาลคิดว่าผ่านสามวาระรวดได้

ส่วนเสียงของ สว. นายวันชัย สอนศิริ สว.ก็บอกว่า  วาระที่หนึ่งก็ต้องผ่าน เพราะเขาคุมเสียงข้างมาก ส่วนในชั้นกรรมาธิการ ( กมธ.)ก็เชื่อว่าการที่เขาคุมเสียงส่วนใหญ่ได้นั้นวาระ 2-3 ก็น่าจะไปได้ ไม่น่าจะอะไรสะดุด หยุดชะงัก ถ้าผ่านมาถึงระดับนี้แล้วในชั้นวุฒิสภามีความมั่นใจว่ากฎหมายผ่าน อาจจะมีบางคนตั้งข้อสังเกต และไม่เห็นด้วย  แต่เชื่อว่าการที่ สว.โหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯก็แปลว่า สว.ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนรัฐบาลนี้ให้มาเป็นรัฐบาล  ฉะนั้นเมื่อพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านผ่านสภามาแล้วถ้าไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อกระบวนการใดๆ ก็ความมั่นใจว่าคงจะผ่านไปได้  ถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่รอบคอบรัดกุม คงถูกสกัดตั้งแต่ชั้นกฤษฎีกา และชั้นสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่ามองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปติดที่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการออกพ.ร.บ.ในลักษณะนี้ได้เลย นายวันชัย กล่าวว่า คิดว่าฝ่ายค้านเขาคงทำหน้าที่เต็มที่ เพราะมีช่องให้ยื่น รวมทั้ง สว.ก็อาจจะมีช่องเพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้  ตนเชื่อว่าหากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และทุกอย่างผ่านกระบวนการต่างๆมา ตนคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ทำเหมือนโครงการจำนำข้าว ที่ประกาศมาแล้วทำทันที แต่ครั้งนี้ออกเป็นพ.ร.บ. เมื่อพ.ร.บ.ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และผ่านวุฒิสภา แล้ว ก็เชื่อว่าไม่น่าจะไปสะดุด หยุดชะงัก เพียงแต่จะเป็นไปตามหาเสียง 100%หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก

นายตวง อันทะไชย สว. เห็นว่า “ที่ผ่านมา การออก พ.ร.บ.เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ” ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ครั้งนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ได้เป็นอันดับแรกก็คือเรื่องของประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้เดินสายไปเชิญชวน ทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่มาบอกคนในประเทศว่า เรากำลังวิกฤต  เมื่อดูจาก สถานการณ์ช่วงปีใหม่ที่มีการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนกลับภูมิลำเนาพบว่ามีความคึกคักเป็นอย่างมาก สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ว่าไม่ใช่ช่วงวิกฤตของประเทศ  

สว.ตวง' ห่วงคนมองม็อบนักเรียนภัยมั่นคง เดินไปสู่สงครามกลางเมือง - สยามรัฐ

 “มันยากที่จะบอกประเทศที่ปกติให้วิกฤต ถามหน่อยว่าจะบอกว่าประเทศเราวิกฤตเรื่องอะไร วิกฤตเศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้วผมว่ามันลดลง เป็นธรรมชาติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เราอยู่ในภาวะปกติธรรมดา เหมือนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เรากำลังเป็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ถ้าเราจะบอกว่าประชาชนเดือดร้อน ลำบาก เราจะใช้เงินเข้าไปให้เกิดการหมุนของเงินเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายยากพอสมควร การตีความตามความเห็นกฤษฎีกา ไม่ได้เป็นการบอกตรงๆ ซึ่งมองว่ากฤษฎีกาฉลาด พร้อมขอให้ย้อนกลับไปดูความเห็นของกฤษฎีกาในอดีตในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เคยบอกว่า โครงการไหนทำไม่ได้ แม้แต่การเขียนกฎหมาย กฤษฎีกาก็จะไม่บอกว่าผิดหรือถูก อยู่ที่คนบริหารราชการแผ่นดินว่า จะใช้วิจารณญาณอย่างไร อยากให้รัฐบาลทบทวน”นายตวง กล่าว

นายตวง กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กฤษฎีกาก็ไม่ได้บอกว่าผิด หากรัฐบาลนายเศรษฐา จะเดินหน้าต่อ เชื่อว่าเรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้วินิจฉัย ทั้งฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน และศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว  เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง แต่จะลงอย่างไร ให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีและสง่างาม ถ้าลงไม่ได้ในอดีตมีทางที่คนเคยลงคือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ  

นี่คือความเห็นเบื้องต้นหลังกฤษฎีกามีความเห็น สรุปแล้วนายกฯ ยังให้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นต่อ ก็ต้องดูยาวๆ ไปจนถึงขั้นว่าถูกสกัดที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสภาไม่น่าจะมีปัญหา

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”