แม้ที่ประชุมจะเลื่อนแผนเปิดบริการจากกำหนดเดิมในเดือน เม.ย. 2567 เนื่องจากการหารือร่วมกันเห็นว่าเดือน เม.ย. เป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ของทั้งไทยและสปป.ลาว จึงขยับการให้บริการไปเป็นเดือน พ.ค. แทน แต่ยังนับเป็นข่าวดีที่รถไฟจะเป็นอีกทางเลือกที่อำนวยความสะดวกการเดินทางและการท่องเที่ยวให้ประชาชนรวมทั้งการขนส่งสินค้าของ2ประเทศ จากปัจจุบันเส้นทางอุดรธานี-เวียงจันทน์ มีเพียงรถของบริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.) ที่ให้บริการเท่านั้น

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) แจกแจงว่า  เบื้องต้นการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะขยายการเดินขบวนรถไฟในเส้นทางกรุงเทพฯ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) จากเดิมถึงหนองคาย เปลี่ยนเป็นเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สปป.ลาว

รฟท. และกรมรถไฟ สปป. ลาว อยู่ระหว่างเร่งเตรียมความพร้อมร่วมกัน โดย รฟท. จะเข้าสำรวจตรวจสอบ และซ่อมแซมทางรถไฟของ สปป.ลาว โดยเฉพาะช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง ซึ่งใช้งานมานาน แต่ในส่วนของท่านาแล้ง-เวียงจันทน์(คำสะหวาด) ไม่น่ามีปัญหาใด เพราะเป็นทางที่สร้างขึ้นใหม่ ในการตรวจสอบหากพบว่าต้องซ่อมแซมต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 เม.ย. จากนั้นจะฝึกซ้อมขับเคลื่อนรถไฟให้กับพนักงานขับรถไฟของ สปป.ลาว ในเส้นทางฝั่ง สปป.ลาว ต่อไป ซึ่งทุกอย่างต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ค. ก่อนเปิดบริการประชาชน

รฟท.ได้เตรียมความพร้อมของพนักงานขับรถไฟของสปป.ลาว โดยฝึกอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตรการขับรถจักร ภาคปฏิบัติหลักสูตรการขับรถจักร และการใช้ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารแก่เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวแล้ว 9 คน เพื่อทำหน้าที่ขับรถไฟแทนคนขับของ รฟท. ช่วงการเดินรถจากสถานีหนองคาย-เวียงจันทน์(คำสะหวาด) และเปลี่ยนตัวพนักงานขับรถที่สถานีหนองคาย

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความยุ่งยาก หากพนักงานขับรถของไทยเดินรถเข้าไปยังฝั่งสปป.ลาวแล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุใดๆ ขึ้น พนักงานขับรถไฟฝั่งไทยต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายของสปป.ลาว และต้องขึ้นศาลของฝั่งสปป.ลาวด้วย

ส่วนเรื่องการทำพิธีการตรวจคนเข้าเมือง สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางข้ามแดนจากประเทศไทยไปยังเวียงจันทน์(คำสะหวาด) สปป.ลาว หรือจาก สปป.ลาวมายังประเทศไทยนั้น ในระยะแรกนี้ต้องประทับตราที่จ.หนองคาย ประเทศไทย 1 ครั้ง และที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว 1 ครั้งตามปกติไปก่อน ในอนาคตจะมีการประทับตราตรวจคนเข้าเมืองเพียงครั้งเดียวที่หนองคาย หรือที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว หรือไม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม

ในระยะแรกขบวนรถไฟที่จะให้บริการเส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทน์(คำสะหวาด) จะเริ่มวันละ 2 ขบวน(ไป-กลับ) โดยเป็นขบวนที่ 133 เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย และขบวนที่ 134 หนองคาย-กรุงเทพ ระยะทาง 614 กม. ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้วันละ 2 ขบวน(ไป-กลับ) เป็นรถพัดลม รถเร็ว ประเภทนั่ง ชั้น 2 และชั้น 3 โดยขบวนที่ 133 ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึงหนองคาย 07.55 น. ส่วนขบวนที่ 134 ออกจากหนองคาย 18.50 น. ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  05.20 น. (จากที่มีให้บริการวันละ 6 ขบวนไป-กลับ  ทั้งขบวนรถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถเร็ว ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 9-10 ชั่วโมง(ชม.)

ค่าโดยสารชั้น2 ประมาณ 344 บาท ชั้น 3 ประมาณ 211 บาท หากเดินทางต่อจากหนองคาย-เวียงจันทน์(คำสะหวาด) ระยะทาง 13 กม. จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 20 นาที ค่าโดยสารเพิ่มประมาณ 60-70 บาท     ตกประมาณ 271-281 บาท ไม่ถึง 300 บาท

นอกจากนี้จะมีขบวนท้องถิ่นให้บริการ ได้แก่ ขบวนที่ 481 เส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง และขบวนที่ 482 ท่านาแล้ง-หนองคาย วันละ 2 ขบวน(ไป-กลับ) ค่าโดยสาร 20 บาท เป็นรถพัดลม ประเภทนั่ง ชั้น 3 โดยขบวนที่ 481 ออกจากหนองคาย เวลา 07.30 น. ถึงท่านาแล้ง 07.45 น. และขบวนที่ 482 ออกจากท่านาแล้ง 10.00 น. ถึงหนองคาย 10.15 น. จะขยายเส้นทางเป็นสถานีอุดรธานี-หนองคาย-ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์(คำสะหวาด) คาดว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้ชาว สปป.ลาว นิยมเดินทางมาท่องเที่ยว และรักษาพยาบาลที่ จ.อุดรธานี  

การให้บริการเดินรถต่อขยายไปถึงเวียงจันทน์(คำสะหวาด) จะทำให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเวียงจันทน์(คำสะหวาด) ได้อย่างสะดวกสบาย ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะ ซึ่ง สปป.ลาว ได้จัดเตรียมไว้คอยบริการ อาทิ รถตู้ รถสามล้อ และรถแท็กซี่ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ในระยะทางประมาณ 7-9 กม.

ที่นครหลวงเวียงจันทน์ มีประตูชัย เป็นอนุสรณ์สถาน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญตั้งอยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวพ.ค.นี้ กำเงินไม่ถึง 300 บาทตีตั๋วนั่งรถไฟชิลๆจากกรุงเทพฯยิงยาวรวดเดียวถึงสถานีปลายทาง…นครหลวงเวียงจันทน์.

—————
นายสปีด

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่