นี่เป็น “ความสำคัญ” ของ “คลังเก็บรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุ” ภายใน ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย หรือ TBRC ซึ่ง เก็บรวบรวมรักษาจุลินทรีย์กับชีววัสดุไว้มากเกือบ 100,000 สายพันธุ์!! ถือว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน…

มีประโยชน์ไม่เฉพาะแค่การวิจัย

แต่ยัง “ใช้เป็นฐานทรัพยากรต้นน้ำ”

“เพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจชีวภาพไทย”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการจัดงาน “เปิดบ้าน TBRC” และมีการเปิดเผยถึง คลังเก็บรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย หน่วยงานในสังกัด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยนอกจากรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์แล้ว คลังนี้ยังมีบริการต่าง ๆ เช่น การรับฝากและคัดแยกจุลินทรีย์ การจำแนกชนิดและวิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงการฝึกอบรมการเก็บรักษาและการจัดการคลังจุลินทรีย์ด้วย ซึ่งการที่ไทยมีคลังเก็บรักษาจุลินทรีย์นี้…

ก็จะ “มีทรัพยากรต้นน้ำเพื่อวิจัย”

จะ “มีประโยชน์ต่อโอกาสการพัฒนา”

“นอกจากเป็นทรัพยากรต้นน้ำให้นักวิจัยได้ศึกษาแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมชีวภาพ หรือเพิ่มโอกาสให้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจชีวภาพของไทย รวมถึงช่วยลดการสิ้นเปลืองจากการลดการนำเข้าเชื้อจุลินทรีย์จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้งานสำหรับภาคอุตสาหกรรมด้านนี้ของไทยด้วย”…เป็นประโยชน์ที่ทาง ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รอง ผอ.ไบโอเทค ระบุไว้ จากการมี “คลังเก็บรักษาจุลินทรีย์” เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งนอกจากกระตุ้นให้เกิดการสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมแล้ว ยัง ช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ด้วย…

นี่เป็น “ความสำคัญของคลังจุลินทรีย์”

รอง ผอ.ไบโอเทค ให้ข้อมูลเพิ่มไว้อีกว่า… ไบโอเทคได้จัดตั้ง “ศูนย์จุลินทรีย์” ตั้งแต่ปี 2539 และพัฒนาเรื่อยมา จนกลายเป็น “ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” ในปัจจุบัน เพื่อ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ชีววัสดุชั้นนำของอาเซียน โดยมีระบบเชื่อมโยงการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด สนับสนุนการสร้างความเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมชีวภาพของไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากล …นี่เป็นเป้าหมาย

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ สุริยฉัตรกุล หัวหน้าทีมวิจัยความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ของ TBRC เสริมไว้ว่า… ที่นี่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเก็บรักษา ให้บริการ และบริหารจัดการ “ทรัพยากรจุลินทรีย์” รวมถึงชีววัสดุที่เกี่ยวข้อง โดย จุลินทรีย์และชีววัสดุที่เก็บรักษาไว้ ประกอบด้วย… แบคทีเรีย รา ยีสต์ ไวรัส และโปรโตซัว ซึ่งมีอยู่มากเกือบ 100,000 สายพันธุ์ โดยเป็นการเก็บรักษาไว้ในสภาพแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -80 องศาเซลเซียส ซึ่งถูกเก็บไว้ในถังไนโตรเจนเหลว และอีกวิธีคือการเก็บรักษาเอาไว้ในแบบแห้ง โดยจะอยู่ในหลอดแก้วสุญญากาศ ซึ่งตัวอย่างที่ได้จัดเก็บรักษาเอาไว้นี้…

สามารถ “เก็บเอาไว้ได้นานกว่า 20 ปี”

ในสภาพที่ “จุลินทรีย์ยังมีชีวิตรอดอยู่”

ขณะที่ ดร.สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัยอาวุโส และทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์และชีวสารสนเทศ ระบุไว้ว่า… นอกจากส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และชีววัสดุแล้ว TBRC ยังมีโครงการวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อจะค้นหาจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ๆ ของโลก รวมถึงร่วมพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ กับพันธมิตรในภารกิจต่าง ๆ อาทิ การตรวจหาติดตามดีเอ็นเอชุมชนจุลินทรีย์ เพื่อวิเคราะห์ความหลากหลายและบทบาทของจุลินทรีย์, จัดทำชีวสารสนเทศและฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อให้การวิเคราะห์ชนิดและความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์ระดับยีนทำได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น…

สนอง “ความต้องการในอุตสาหกรรม”

ที่จะ “ใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ชีววัสดุ”

นอกจากภารกิจข้างต้นแล้ว ดร.สุภาวดี ให้ข้อมูลไว้อีกว่า… TBRC ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้กับโลกด้วย โดยมีการ ดูแลทรัพยากรจุลินทรีย์ในระดับสกุล (genus) มากกว่า 1,500 สกุล และระดับชนิด (species) มากกว่า 4,300 ชนิด รวมถึงยังช่วย ส่งเสริม “สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ในด้านการขึ้นทะเบียนเป็น “ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์” เพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็น “แหล่งรวมข้อมูลพันธุกรรม (Bioresources) ที่สำคัญของประเทศ” เพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เข้ามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็นำข้อมูลมาเล่าสู่

กับกรณี “คลังจุลินทรีย์และชีววัสดุ”…

ที่ “ไทยมี” และ “น่าลุ้นโอกาสไทย”.