วันนี้ขอพูดเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา กันอีกครั้ง! เพื่อขุดก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน และเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

หลังจากมีคนบางกลุ่มที่ไม่เคยรู้สึกกับบทเรียนกรณี “เขาพระวิหาร” เนื่องจากตอนนี้กำลังปั่นกระแสว่าไม่ต้องการเสีย “เกาะกูด” ให้กัมพูชา ทั้งที่เกาะกูดเป็นกิ่งอำเภอของ จ.ตราด มาตั้งแต่ปี 2533 และถูกยกฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่ปี 2550

นอกจากนั้นยังพยายามโยงโน่น โยงนี่กันมั่วไปหมด กรณี “ทักษิณ ชินวัตร” พบ “สมเด็จฮุน เซน” และ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะยกคณะไปเยือนกัมพูชาตามคำเชิญของสมเด็จฮุน เซน

ประมาณว่า 2 ตระกูลนี้ จะเจรจาขุดก๊าซฯน้ำมันดิบในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา มาแบ่งปันกัน! แต่พวกคลั่งเกาะกูด! ไม่ได้บอกว่า “แหล่ง JDA” ที่ไทยมาเลเซีย พัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมากว่า 10 ปีแล้ว ขุดก๊าซฯ ใต้ท้องทะเลขึ้นมาแบ่งปันกันใช้แบบ 50:50 นั้น! ครอบครัว “ชินวัตร” ไปได้รับประโยชน์อีกหรือเปล่า 555

วันก่อน “พยัคฆ์น้อย” อ่านข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีภารกิจหลักในการกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เกี่ยวกับรายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ปีงบประมาณ 66 (ต.ค. 65-ก.ย. 66)

โดยรายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วย ค่าภาคหลวงจากระบบสัมปทาน ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมและส่วนแบ่งกำไรของรัฐจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้อื่น (ค่าตอบแทนจากการต่อระยะเวลาการผลิต) และรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งจัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร มีรายละเอียดดังนี้

รายได้ที่จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 1.ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน 27,796 ล้านบาท 2.ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต 7,086 ล้านบาท 3.ส่วนแบ่งกำไรของรัฐจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต 19,617 ล้านบาท

4.รายได้จากองค์กรร่วม ไทยมาเลเซีย 11,410 ล้านบาท 5.เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 3,826 ล้านบาท รายได้อื่น (ค่าตอบแทนจากการต่อระยะเวลาการผลิต) 4,414 ล้านบาท รายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร 1.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 44,554 ล้านบาท รวมรายได้ของรัจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งสิ้นจำนวน 118,701 ล้านบาท

แล้วพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) คืออะไร? พื้นที่ OCAมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนกัน และตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ไทยและกัมพูชาพยายามเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกัน ภายใต้ความตกลง MOU 2544 มีสาระสำคัญ คือ ให้ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือ

1.พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจน 2.พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน

ทั้งนี้ ข้อตกลงใน MOU 2544 ให้ดำเนินการทั้งสองประการควบคู่กันไปไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยพื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ ต้องเจรจาภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ และกรมอุทกศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ กระทรวงพลังงานจะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาร่วมให้กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อใช้สำหรับเป็นกรอบเจรจา เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวแก่ทั้งสองประเทศ

พยัคฆ์น้อย” ย้ำว่าการพัฒนาพื้นที่ OCA มีความจำเป็นและสำคัญมากกับคนไทยกว่า 66 ล้านคน ทั้งความมั่นคงทางพลังงาน เสถียรภาพของค่าไฟฟ้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าขืนล่าช้า!จะส่งผลกระทบต่อโรงผลิตไฟฟ้าต่างๆ-ธุรกิจปิโตรเคมี-โรงงานอุตสาหกรรม-รถยนต์เอ็นจีวี สร้างความเสียหาย-เสียโอกาสกับระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง!!.

………………………..
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทควมทั้งหมดที่นี่…