เป็นอีก “ไวรัลโด่งดังในโลกโชเชียล” สำหรับ “คลิปการแสดงนาฏศิลป์การรำ” ในชื่อชุดว่า “นางเมือง” ซึ่งเป็นผลงานศิลปนิพนธ์ของ นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย สาขาวิชาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยผู้สร้างสรรค์คลิปการแสดงรำที่ได้รับความสนใจโดยมีผู้ติดตามชมล้นหลามนี้ คือ 3 นักศึกษาเก่ง ประกอบด้วย… “การ์ฟิวส์-ณัฐพร เข็มเพชร” “ฟุ้ง-คริษฐา บรรเทิงกุล” “ปุ๊-นาฏนัน รักบำรุง” โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ “อ.วุฒิชัย ค้าทวี” เป็นบุคคลสำคัญผู้ให้คำแนะนำการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานการสร้างสรรค์การแสดงที่วิจิตรตระการตาชุดนี้กัน…

เริ่มจาก “ปุ๊-นาฏนัน รักบำรุง” ที่เล่าว่า…เป็นเด็กสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอายุ 23 ปี และเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยเป็นหนึ่งในทีมงานผู้สร้างสรรค์ผลงาน “นางเมือง” นี้ ซึ่งเขาเล่าให้ฟังถึงที่มาการแสดงชุดนี้ว่า นางเมืองเป็นชื่อเรียกตัวหนังตะลุงตัวหนึ่งที่มีฐานะเป็นนางกษัตริย์ โดยตามขนบของการแสดง ตัวหนังนางเมืองนี้จะออกคู่กับตัวหนังเจ้าเมืองเพื่อตั้งนามเมือง และในการดำเนินเรื่องนั้น นอกจากจะเป็นมเหสี เป็นแม่ที่ดีของลูกแล้ว ยังมีบทบาทเป็นตัวละครลูกคู่ เพื่อคอยรับ-ส่งมุกตลกให้กับตัวหนังที่เป็นเจ้าเมืองอีกด้วย

พร้อมกันนี้เขายังได้อธิบายให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า นางเมืองเป็นตัวละครฝ่ายดี ที่มีหน้าที่คอยช่วยเหลืองานบ้านเมือง จนทำให้ตัวละครตัวนี้จึงเป็นที่รักของข้าราชบริพารและประชาชน โดยเขาเผยความรู้สึกหลังผลงานเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนว่า “อย่างแรกเลยคือดีใจมาก ตื่นเต้นด้วย เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะดังขนาดนี้ ซึ่งเราทั้งสามคนตั้งใจกับงานชิ้นนี้มาก ยิ่งพอเป็นไวรัลดัง กับมีคนชื่นชมพูดถึงเยอะ ๆ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเหมือนว่าพวกเราประสบความสำเร็จในด้านของการทำงานที่เราตั้งใจมาตลอด ส่วนแรงบันดาลใจของการแสดงชุดนี้ เราได้จากการแสดงหนังตะลุง โดยเราเลือกตัวละครชื่อนางเมืองมานำเสนอผ่านการเลียนแบบท่าทางของตัวหนังตะลุง โดยผสมผสานเข้ากับนาฏศิลป์ภาคใต้” ปุ๊ บอกเล่าความรู้สึก กับเบื้องหลังก่อนที่จะมาเป็นการแสดงรำชุดนี้

เขายังเล่าให้ฟังอีกว่า สาเหตุที่เลือกตัวละครนางเมืองนี้ เพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวจากตัวหนังตะลุงทั้งหมด ซึ่งใครที่เคยดูหนังตะลุงจะทราบดีว่า ส่วนใหญ่ผู้ชมจะเห็นและจำได้แค่ตัวละครอย่าง… ไอ้เท่ง ไอ้ทอง ไอ้ไข่นุ้ย และตัวตลกทั่วไป แต่ทั้งสามคนนี้มองว่า ตังละครนางเมืองนี้ก็มีความสำคัญเหมือนกัน โดยจะออกแทบทุกครั้งที่มีการแสดงหนังตะลุง แต่อาจจะถูกลืมไปบ้าง ดังนั้นก็เลยอยากจะนำเสนอตัวละครอย่างนางเมือง ในรูปแบบหนังตะลุงผสมผสานกับนาฏศิลป์ภาคใต้

ปุ๊ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเอาไว้อีกว่า พวกเขาทั้งสามคนคุ้นชินกับวัฒนธรรมของภาคใต้ เพียงแต่ยังไม่เคยเห็นรูปแบบหนังตะลุงที่เป็นคนแสดงจริง ๆ ซึ่งที่เคยเห็นก็จะเป็นเงา 2 มิติ แต่พอเอาหนังตะลุงมาอยู่ในรูปแบบนาฏศิลป์ ก็จะทำให้ผู้ชมมองเห็นเป็นรูปแบบ 3 มิติ ส่วนกระบวนการทำงานนั้น หลังจากตกตะกอนจนได้หัวข้อ “นางเมือง” แล้ว จากนั้นก็ค้นคว้าหาข้อมูล และไปปรึกษากับอาจารย์เพื่อวางสตอรี่เรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งทีมก็มองว่า ตัวนางเมืองเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง ดังนั้นจะมีตัวเดียวโดด ๆ ไม่ได้ ต้องมีนางกำนัล มีคนติดตามรับใช้ ก็จึงวางสตอรี่เอาไว้ว่าตอนแรกในการแสดงก็จะตั้งนางเมืองเหมือนหนังตะลุง จากนั้นก็เขียนบทให้ตัวนางเมืองไปออกพระราชโองการ และเสด็จไปประพาสเยี่ยมชมบ้านเมือง

“เราเอาข้อมูลนี้ไปคุยกับอาจารย์ แล้วก็คัดเลือกนักแสดงที่จะมาเล่นเป็นนางกำนัลจากน้อง ๆ ในสาขา โดยคัดจากบุคลิกภาพภายนอก และความสามารถ ซึ่งแต่ละคนก็มีพื้นฐานการรำอยู่แล้ว หลังได้นักแสดงก็เอามาฝึกฝน โดยสิ่งที่ยากในการทำงานคือ ท่าทางการรำ ที่เราจะต้องสร้างซิกเนเจอร์ให้ดูเป็นหนังตะลุงให้มากที่สุด โชคดีที่ได้ทาง อ.วุฒิชัย มาช่วยเกลาให้ จึงออกมาสวยงามได้อย่างที่เห็น” หนึ่งในทีมเบื้องหลังการสร้างสรรค์การแสดงรำชุดนี้ที่ชื่อ “ปุ๊-นาฏนัน” ระบุ อีกทั้งยังบอกว่า “กว่าจะมาเป็นนางเมืองที่ทุกคนเห็นใน TikTok นั้น ใช้เวลาโดยรวมทั้งหมดถึง 1 ปี” โดยเริ่มต้นทำกันเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปี 3 ตั้งแต่ช่วยกันหาหัวข้อ และนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบท่ารำกับชุดที่จะสวมใส่ ซึ่งพอได้กระแสตอบรับดี ทุกคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานก้าวแรกแล้ว

“ตอนนี้พวกเราก็ใกล้จะเรียนจบแล้ว ซึ่งถ้าหากถามว่าความฝันในอาชีพของเราคืออะไร เราอยากทำงานเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ด้วยการนำความรู้ความสามารถไปต่อยอด หรืออาจจะเป็นงานที่เกี่ยวกับพวกแฟชั่น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่เราชอบและถนัด ทำให้น่าจะทำออกมาได้ดีในอาชีพเหล่านี้” ปุ๊ บอกถึงความฝันทางอาชีพ

ด้าน “การ์ฟิวส์-ณัฐพร เข็มเพชร” ทีมงานเบื้องหลังคนสำคัญอีกหนึ่งคน ปัจจุบันอายุ 22 ปี โดยเขาบอกว่าเป็นคนนครศรีธรรมราช และได้เล่าถึงการทำงานชิ้นนี้ให้ฟังว่า งานชิ้นนี้เป็นศิลปนิพนธ์ โดยในทีมจะมีด้วยกัน 3 คน ซึ่งเริ่มต้นทำงานด้วยการหาหัวข้อก่อน และด้วยความที่พวกเขาทั้งสามคนนั้นเป็นเด็กใต้ จึงคุ้นชินกับวัฒนธรรมภาคใต้ ทำให้คิดถึงหนังตะลุง จึงเลือกการแสดงรูปแบบนี้นำมาทำเป็นธีสิสเกี่ยวกับการแสดง จนเมื่อผลงานปรากฏออกไปภายนอก และมีกระแสตอบรับล้นหลาม เขาบอกว่า “ทั้งดีใจ และภูมิใจ” โดยมองว่าเป็นของขวัญที่ได้รับจากการทำงานหนักมาตลอดระยะเวลา 1 ปี

“ยิ่งเห็นคนดูตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ดูการแสดง พวกเราก็ยิ่งมีความสุขมาก แต่ก็ยอมรับว่านอกจากฟีดแบ็กดี ๆ แล้ว ก็มีที่ไม่ดีรวมอยู่ด้วย โดยที่เจอก็จะมีอาทิ ไม่ชอบ เพราะทำลายวัฒนธรรมเก่า ๆ ซึ่งอยากจะบอกว่าพวกเราไม่ได้ทำลายหรือดัดแปลงวัฒนธรรมเลย เพียงแต่หยิบยกมาสร้างเป็นสิ่งใหม่ตามยุคสมัย และก็พยายามทำให้ดี ซึ่งการแสดงชุดนี้พวกเราหยิบยกข้อมูลสิ่งที่ยังมีอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงรูปแบบใหม่ ในรูปแบบที่ร่วมสมัยขึ้น ดังนั้นพวกเราอยากให้มองว่าการแสดงชุดนี้เป็นผลงานแบบร่วมสมัยมากกว่า” การ์ฟิวส์ ระบุ

ส่วนถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกเรียนด้านศิลปวัฒนธรรม การ์ฟิวส์บอกว่า เท่าที่จำความได้ ตัวเองชอบการรำและการแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็เลยคิดว่าถ้าได้เรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงดี ซึ่งก็ตัดสินใจไม่ผิดเพราะมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียน ซึ่งการเรียนแขนงนี้เป็นตัวตนของเราจริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะสืบทอดวัฒนธรรมที่สวยงามเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป ส่วนความฝันอาชีพในอนาคตนั้น “การ์ฟิวส์-ณัฐพร” บอกว่า “ฝันอยากจะทำงานเบื้องหลัง” …และเหล่านี้ก็เป็นคำบอกเล่าจากอีกหนึ่งทีมงานเบื้องหลังคนสำคัญของการแสดงที่เป็นไวรัลโด่งดังชุดนี้

ขณะที่อีกหนึ่งผู้สร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ แถมรับบทนักแสดง โดยเธอแสดงเป็นตัวละครสำคัญคือ “นางเมือง” ด้วย นั่นก็คือ “ฟุ้ง-คริษฐา บรรเทิงกุล” ปัจจุบันเธออายุ 22 ปี เป็นคนกระบี่ โดยเธอเป็นนักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิชาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ซึ่งฟุ้งเล่าว่า การแสดงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการโชว์ความสวยงามของนางเมือง โดยได้นำมาผสมผสานเข้ากับท่าทางการเชิดหุ่นตัวหนังตะลุง ทำให้การแสดงชุดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเลียนแบบท่าทางของตัวหุ่นหนังตะลุงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีท่าร่ายรำของนาฏศิลป์ภาคใต้ด้วย

“เสน่ห์ของการแสดงนี้ที่ทำให้คนพูดถึงเยอะ คือท่ารำ ที่จะไม่เหมือนกับนาฏศิลป์ที่เคยทำกันมา แต่จะมีท่าใหม่ ๆ ที่คิดขึ้นใหม่ ดูแล้วเพลิดเพลิน สนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจ และที่ดีใจก็คือมีคนเอาท่ารำของเราไป cover ต่อ ส่วนเครื่องแต่งกายนั้น เราได้แรงบันดาลใจมาจากตัวหนังตะลุง โดยนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัยเพิ่มขึ้น” ฟุ้ง ที่รับบทแสดงเป็น “นางเมือง” บอกเล่ารายละเอียดนี้

ณัฐพร เข็มเพชร / คริษฐา บันเทิงกุล / นาฏนัน รักบำรุง

สำหรับเส้นทางชีวิตในอนาคตหลังจากเธอเรียนจบแล้วนั้น เธอบอกว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้มาเรียนสายงานศิลปวัฒนธรรม คือความรักความชอบอย่างเดียวเลย เพราะเธอเป็นเด็กที่ชอบกิจกรรมทั้งเต้นทั้งรำ ซึ่งเมื่อได้ทำแล้ว เธอรู้สึกมีความสุข เป็นตัวของตัวเอง จึงเลือกเรียนทางด้านนี้ ส่วนในอนาคตหลังเรียนจบ “ฟุ้ง-คริษฐา” บอกถึงฝันของเธอว่า “อยากทำงานทางด้านบันเทิง หรืองานเกี่ยวกับการรำ รวมถึงการเป็นครูสอนนาฏศิลป์” ซึ่งตอนนี้หากมีเวลาว่างเธอก็จะรับงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้กับตัวเอง แถมยังมีรายได้แบ่งเบาภาระของครอบครัวได้อีกด้วย

ทั้งนี้ บทสนทนาช่วงสุดท้ายนั้น “ฟุ้ง-คริษฐา บรรเทิงกุล” ในฐานะตัวแทนของ “การ์ฟิวส์-ณัฐพร เข็มเพชร” และ “ปุ๊-นาฏนัน รักบำรุง” ทีมงานสร้างสรรค์ การแสดงรำ “นางเมือง” ที่เป็น “ไวรัลโด่งดัง” บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า “งานชิ้นนี้พวกเราทั้งสามคนได้ใช้เวลาเตรียมตัวและทำกันมานานมาก แต่สุดท้ายเมื่อผลงานสำเร็จออกมาแล้ว ก็หายเหนื่อย ยิ่งเมื่อผลงานมีคนชอบ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจกันแบบสุด ๆ ยิ่งเมื่อเข้าไปดูคอมเมนต์ใน TikTok แล้วเห็นคนเข้ามาให้กำลังใจ เข้ามาชื่นชม ก็ยิ่งอิ่มใจ…ทำให้ทุกคนรู้สึกใจฟูมาก ๆ”.

อ.วุฒิชัย ค้าทวี

เสียง ‘เบื้องหลังของเบื้องหลัง’

“อ.วุฒิชัย ค้าทวี” ในฐานะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษาทั้งสามคนนี้ เป็นอาจารย์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งได้พูดถึง การแสดงรำชุด “นางเมือง” ที่เมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วได้รับคำชมมากมายกลับมา โดยบอกว่า รู้สึกภูมิใจกับเด็ก ๆ ที่ตั้งใจทำงานชุดนี้กันมาก ส่วนการให้คำแนะนำนั้น จะเริ่มจากวางตัวเองให้เป็นผู้ชม เพื่อที่จะบอกกับตัวเองว่า เราอยากดูอะไร เราอยากชมโชว์แบบไหน จากนั้นก็จะเปรียบเทียบโชว์ ว่ารูปแบบที่เด็ก ๆ จะทำนั้นซ้ำกับที่คนอื่นเคยทำไปแล้วหรือไม่ หรือมีอะไรที่ไม่เหมาะ ที่ควรตัดออกไป ต่อมาเมื่อได้แนวทางแล้วก็จะ แนะนำเทคนิคให้ รวมถึง พยายามหาเรฟเฟอเรนซ์ เพื่อนำมาให้เด็ก ๆ ค้นคว้ากันต่อ

ส่วน “คอมเมนต์เชิงลบ” ที่เด็ก ๆ ได้รับนั้น เรื่องนี้ทางอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า “เป็นธรรมดาของโลกโซเชียล ที่จะมีคอมเมนต์ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานสายศิลปะต้องเจอกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ถ้าหากเราทำงานในกรอบที่ถูกต้อง ถ้าเรามั่นใจ ก็อย่าได้ท้อถอย”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน