การปิดพรมแดนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งสองฝ่าย โดยสำหรับไนจีเรีย มันส่งผลให้ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศรุนแรงกว่าเดิม และทำให้ชุมชนที่เปราะบางอยู่แล้ว มีความเสี่ยงต่ออาชญากรรมความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ทว่าสำหรับใครหลายคน ชายแดนแห่งนี้ยังคงมีช่องโหว่

ตลาดขายเมล็ดธัญพืช ที่เมืองไจเบีย ทางตอนเหนือของไนจีเรีย

ผู้หญิง 3 คน ผ่านด่านตรวจในเมืองจิเบียอย่างอิสระ ระหว่างการเดินทางจากรัฐคัตซินา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ไปยังหมู่บ้านดานอิสซา ในไนเจอร์ พวกเธอกล่าวว่า การเรียกมอเตอร์ไซค์จ้างให้ไปส่งยังจุดหมายปลายทางของ ต้องเสียเงิน 800 ไนรา (ราว 18 บาท) ซึ่งทั้งสามคนไม่สามารถจ่ายได้เพราะแพงเกินไป ดังนั้นพวกเธอจึงตัดสินใจเดินไปกันเอง

ตามข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไนจีเรียเคยเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของไนเจอร์ โดยส่งออกสินค้ามูลค่า 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,000 ล้านบาท) ไปยังไนเจอร์ เมื่อปี 2565 ขณะที่การส่งออกสินค้าของไนเจอร์ ไปยังไนจีเรีย มีมูลค่ารวม 67.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,400 ล้านบาท) ในปีเดียวกัน

ชาวไนจีเรียสัญจร บริเวณจุดผ่านแดนกับไนเจอร์ ที่เมืองไจเบีย ทางตอนหนือของไนจีเรีย

คนในพื้นที่กล่าวว่า พวกเขาประสบกับ “หายนะสองเท่า” ทั้งราคาอาหารที่พุ่งสูง จนแทบจะไม่สามารถรับประทานอาหารครบสามมื้อต่อวัน นับตั้งแต่การปิดพรมแดนไนจีเรีย-ไนเจอร์ และการปฏิรูปของประธานาธิบดีคนใหม่ของไนจีเรีย ซึ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจในวงกว้าง

หลังจากประธานาธิบดีโบลา อาห์เหม็ด ทินูบู ผู้นำไนจีเรีย เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว เขาดำเนินการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ทว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 3 เท่า และค่าครองชีพพุ่งสูง

ชายขับขี่จักรยานยนต์ บริเวณจุดผ่านแดนกับไนเจอร์ ที่เมืองไจเบีย ทางตอนหนือของไนจีเรีย

นอกจากนี้ การปิดพรมแดนไนจีเรีย-ไนเจอร์ ยังทำให้ความไม่มั่นคงในภูมิภาคเลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งความตึงเครียดระหว่างคนเลี้ยงสัตว์และชาวนา ที่สั่งสมมานานหลายปี แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากร ส่งผลให้เกษตรกรต้องจำใจละทิ้งที่ดินของตนเอง ปล่อยให้กลุ่มโจรขโมยปศุสัตว์, สังหาร, ปล้นสะดม และข่มขู่ประชาชน

ผลกระทบจากการปิดชายแดน ทำให้ชาวไนจีเรียบางคนผันตัวไปเป็นโจร อีกทั้งความยากไร้ยังนำไปสู่การโจรกรรม และการฆาตกรรม หรืออะไรก็ตามเพื่อความอยู่รอด

กระนั้น นายฟิลิป อิกิตา ผู้อำนวยการโครงการขององค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) “เมอร์ซี คอร์ปส์” ในรัฐคัตซินา คนในพื้นที่ไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มโจรเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องเผชิญกับการรีดไถ จากกลุ่มรักษาความปลอดภัยด้วย

“กลุ่มโจรต้องหลบซ่อน เพราะพวกเขาไม่สามารถออกมาในที่โล่งแจ้งได้ แต่คนที่ควรบังคับใช้กฎหมาย และปกป้องพวกเราจากโจร กลับกลายเป็นภาระใหญ่ที่สุดต่อการค้าเสรีของเรา” อิกิตา กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP