ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้นำเสนอไปแล้ว…กับการ “เข้าใจสื่อสัญญาณจากลูกตั้งแต่วัยทารกก็เรื่องสำคัญ!!”…ทั้งนี้ “บ่อยครั้งที่ลูกร้องไห้แต่คุณแม่ไม่รู้ว่าลูกต้องการอะไร เพราะลูกยังสื่อสารเป็นคำพูดไม่ได้ คุณแม่จึงไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสาร ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกไม่เหมาะสม ส่งผลให้คุณแม่เกิดความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก อีกทั้งยังอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างคุณแม่และลูกได้อีกด้วย” …นี่เป็น “ปัญหาใหญ่” ที่เหล่าคุณแม่ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังประสบ ซึ่งนี่ถือว่า “ไม่ใช่เรื่องเล็ก!!”…

การ “ไม่เข้าใจสื่อสัญญาณจากทารก”

กรณีนี้ “อาจจะเกิดผลลบในระยะยาว”

เกี่ยวกับการไม่เข้าใจสัญญาณของทารก ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกน้อยสื่อสารออกมาเพื่อบอกความต้องการกับคุณแม่ นั้น นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่ มีคุณแม่ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะ “กลุ่มคุณแม่มือใหม่” ที่เพิ่งมีบุตรเป็นคนแรก ซึ่งการที่คุณแม่บางคน “ไม่สามารถเข้าใจถึงสื่อสัญญาณของลูก” นั้น ไม่เพียงทำให้คุณแม่ “รู้สึกเครียด-รู้สึกวิตก” แต่ยัง “ส่งผลเสียต่อลูก” รวมถึงในแง่ “ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างคุณแม่กับคุณลูก” ด้วย ดังนั้นคุณแม่ที่ประสบกับปัญหาเรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือและช่วยเสริมทักษะในด้านนี้ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อตัวทารกและคุณแม่…

ทั้งนี้ กับการช่วยเหลือคุณแม่มือใหม่ในกรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลแนวทางน่าสนใจ เกี่ยวกับ “นวัตกรรมเรียนรู้สื่อสัญญาณทารก” ผลงานนักวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย สุดหทัย ศิริเทพมนตรี อาจารย์ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ซึ่งได้รับการรับรองลิขสิทธิ์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว โดยนวัตกรรมนี้ต่อยอดจากงานวิจัยที่มีชื่อโครงการว่า “โปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารก ต่อการตอบสนองความต้องการของทารกและความรักใคร่ผูกพันระหว่างมารดา-ทารก ในมารดาที่มีบุตรคนแรก”

สำหรับรายละเอียดเรื่องนี้ อาจารย์สุดหทัย มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… การตอบสนองความต้องการของทารก เป็นความสามารถที่มารดาแสดงออกเพื่อให้ทารกได้รับสิ่งที่ต้องการซึ่งเกิดขึ้นจากการรับรู้และการแปลความหมายสื่อสัญญาณของทารกที่แสดงออกมา โดยหากมารดาสามารถอ่านและแปลความหมายจากสื่อสัญญาณของทารกได้อย่างถูกต้อง กรณีนี้ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการของทารกได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม…ถ้าหากไม่สามารถรับรู้และแปลสื่อสัญญาณได้ถูกต้อง กรณีนี้ย่อมส่งผลทำให้มารดาตอบสนองความต้องการของทารกไม่เหมาะสม…

เมื่อ “ตอบสนองลูกได้ไม่เหมาะสม”…

นี่ก็ “อาจจะเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด!!”

อนึ่ง จากการศึกษาพบว่า…มารดาที่มีปัญหาการเข้าใจ “สื่อสัญญาณของทารก” มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มคุณแม่มือใหม่ที่มีบุตรคนแรก ที่มักจะไม่สามารถแปลความหมายพฤติกรรมของทารกที่แสดงออกมาได้ ทำให้ไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการของลูกน้อยได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังคลอดลูกออกมา ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้คณะวิจัยได้พัฒนารูปแบบ โปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดา-ทารก ที่ศึกษาทำความเข้าใจถึงปัญหาของคุณแม่กลุ่มนี้ และเพื่อที่จะหาแนวทางช่วยเหลือ โดยผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างคุณแม่ที่ได้รับการช่วยเหลือตามโปรแกรมที่ออกแบบขึ้นเฉพาะ กับคุณแม่ที่ได้รับการดูแลปกติทั่วไป พบว่า… มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

“ข้อมูลจากผลศึกษาพบว่า…เมื่อเทียบคุณแม่ที่ได้รับการดูแลปกติ กับคุณแม่ที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้ผ่านการให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้อย เพื่อให้รับรู้ถึงสื่อสัญญาณของลูก ช่วยให้คุณแม่เข้าใจพฤติกรรมที่ทารกแสดงออก จนคุณแม่สามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม” …นี่เป็น “ผลลัพธ์-ผลดี” ที่เกิดขึ้นจากทักษะนี้

“เข้าใจสัญญาณทารก” จะ “เกิดผลดี”

ทาง อาจารย์สุดหทัย ยังอธิบายกรณี “สื่อสัญญาณทารก” ไว้ว่า… แบ่งตามความต้องการพื้นฐานช่วงขวบปีแรกได้เป็น 6 ลักษณะ ได้แก่… หิว อิ่ม เล่น นอน พอใจ ไม่สบาย ยกตัวอย่าง เมื่อต้องการสื่อว่าหิว จะสังเกตได้จากการดูดนิ้ว ดูดปาก หรือหันหน้าหาเต้านมแม่, เมื่ออิ่ม จะแสดงออกด้วยการหันหน้าหนี ไม่ยอมดูดนมต่อ หรือหลับคาเต้านม, เมื่อต้องการเล่น หรือพึงพอใจ จะส่งเสียงอ้อแอ้ จ้องมองหน้า ทำตาเบิกกว้าง หรือขยับแขนขา, เมื่อต้องการหลับ จะเคลื่อนไหวช้าลง หรือดันตัวออกจากคุณแม่, เมื่อไม่สบาย จะแสดงออกด้วยการกำมือ นิ่วหน้า แอ่นหลัง ร้องไห้ดิ้นไปมา เป็นต้น

“หากคุณแม่ใส่ใจเรียนรู้สื่อสัญญาณจากลูกน้อยอยู่เสมอ จะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการ ถึงแม้จะปราศจากคำพูดก็ตาม อีกทั้งช่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมถึงช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัยอีกด้วย” …อาจารย์สุดหทัย ย้ำถึงความสำคัญในการเข้าใจเรื่องนี้

“เข้าใจสัญญาณทารก” ถือว่า “สำคัญ”

สำคัญ “โดยเฉพาะแม่ของลูกน้อย”…

เรื่องนี้ก็ “เกี่ยวพันถึงอนาคตลูก”.