อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องระวังปัญหาสุขภาพแล้ว กับอีก “ภัยที่เกิดง่ายในฤดูร้อน” ภายใต้ “อากาศร้อนจัด-แสงแดดจัด” ก็ยังมีกรณี “ไฟไหม้รถยนต์” ที่ก็จะ “ต้องระวัง” ด้วย!!โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดเหตุ “รถไฟไหม้บนมอเตอร์เวย์โคราช” ซึ่งสันนิษฐานว่า… อาจจะมีสาเหตุมาจากระบบระบายความร้อนเกิดขัดข้อง ประกอบกับช่วงนี้ “อากาศร้อนจัด” จึงทำให้เกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้…

เสมือน “คำเตือน” ว่า “อย่าประมาท”

กับ “ภัยไฟไหม้รถ” ที่ “มักเกิดประจำ”

อีกหนึ่งภัยที่ “มักเกิดในฤดูร้อนทุกปี”

ทั้งนี้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำเรื่องนี้มาสะท้อนย้ำเตือน ก็เพราะเหตุที่ว่า… ถ้าลองไล่เรียงดูจากข่าว “เหตุการณ์รถไฟไหม้” ปี 2566 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับช่วงนี้ของปี 2567 คือในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ก็จะพบว่า… มีเหตุไฟไหม้รถเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนจำนวนไม่น้อยเลย และก็มีรายงานว่าฤดูร้อนปีนี้จะร้อนจัดเหมือนปีที่แล้ว ดังนั้นจึงนำเรื่องนี้มาบอกเล่าเพื่อเตือนกันไว้อีก รวมถึงสะท้อน “คำแนะนำ-แนวทาง” เพื่อ “ป้องกันเกิดเหตุ-ป้องกันภัย” โดย “ภัยรถไฟไหม้” นั้น…

ไม่เพียงก่อความเสียหายต่อทรัพย์สิน

แต่ “อาจอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิต”

ย้อนดูเหตุ “รถไฟไหม้” ที่เคยปรากฏเป็นข่าวช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2566 เพื่อเป็นอุทาหรณ์ พบว่า… ในช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุ “ไฟไหม้รถ” เกิดขึ้น เช่น… วันที่ 26 ก.พ. เกิดเหตุ “ไฟลุกไหม้รถเก๋ง” ในพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยสาเหตุคาดว่า… อาจจะเกิดจากเครื่องยนต์เกิดการโอเวอร์รันจนร้อน, วันที่ 26 มี.ค. มีเหตุ “ไฟไหม้รถยนต์” ในพื้นที่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งสาเหตุคาดว่า… เกิดจากการดัดแปลงสภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน …นี่เป็นตัวอย่างที่เกิด ปี 2566 ซึ่ง “อากาศร้อนจัดก็อาจมีเอี่ยว”

ขณะที่ปี 2567 นี้ นอกจากกรณีที่เกิดช่วงต้นเดือน มี.ค. ดังที่ระบุข้างต้นแล้ว ย้อนไปช่วงเดือน ก.พ. ก็มีเหตุลักษณะนี้เกิดต่อเนื่องได้แก่ วันที่ 9 ก.พ. ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเหตุ “ไฟไหม้รถกระบะ” โดยกรณีนี้สาเหตุเกิดจากเจ้าของรถจุดธูปเทียนไหว้แม่ย่านางรถในเทศกาลวันตรุษจีน ส่วนอีกเหตุการณ์นั้นเกิดเมื่อวันที่ 19 ก.พ. มี “รถเก๋งไฟไหม้ทั้งคัน” บนถนนสายนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี …นี่เป็นตัวอย่างเหตุ “ไฟไหม้รถ” ที่เกิดช่วงต้นปีนี้

ซึ่ง “ยุคร้อนจัดอย่างยุคนี้ภัยนี้ยิ่งเกิดชุก”

ทั้ง “รถส่วนตัว-รถโดยสารสาธารณะ”

ก็ถือเป็น “ภัยใกล้ตัวที่ห้ามประมาท!!”

ส่วน “คำแนะนำเพื่อให้พ้นภัยรถยนต์ไฟไหม้” นั้น เรื่องนี้ก็มีแนวทางจากทาง สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (สนภ.) กรมการขนส่งทางบก ที่ได้ให้ข้อมูลไว้ผ่าน เว็บไซต์ สนภ. โดยระบุถึง “สาเหตุที่ทำให้รถไฟไหม้” ไว้ดังนี้…

“ระบบเชื้อเพลิงรั่ว” เป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เกิด “ไฟไหม้รถ” ซึ่งถ้าได้กลิ่นน้ำมันหรือกลิ่นแก๊สขณะขับรถ ควรรีบหาที่จอดรถทันที และพยายามออกห่างจากตัวรถ ส่วนวิธีป้องกัน…ควรตรวจเช็กท่อน้ำมันและใต้ท้องรถเสมอ ว่าไม่มีรอยน้ำมันรั่วซึมหยดที่พื้น และควรตรวจสภาพรถตามกำหนด เพื่อป้องกันอุปกรณ์เสื่อมสภาพ และช่วยทำให้ขับขี่รถได้อย่างปลอดภัย

“ระบบไฟฟ้าลัดวงจร” จากการชำรุด หลุดหลวม นี่ก็สาเหตุ ซึ่งไม่ควรดัดแปลงระบบไฟฟ้าเอง เพราะอาจทำให้ระบบไฟฟ้าลัด วงจร อีกทั้งการเดินสายไฟที่ไม่เหมาะสม ใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าเสื่อมสภาพ อาจทำให้เกิดการช็อตได้

“เครื่องยนต์ร้อนเกินไป” โดยเมื่อเครื่องยนต์ร้อนเกินไป จะทำให้ของเหลวต่าง ๆ ในรถมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือเกิดรั่วซึมได้ง่ายขึ้น จนอาจกระจายเข้าสู่ห้องเครื่อง และทำให้เกิด “ไฟไหม้รถ” ได้ วิธีป้องกันคือ…หมั่นสังเกตไฟเตือน-สัญลักษณ์อุณหภูมิเครื่องยนต์บนหน้าปัดรถอยู่เสมอ ถ้าหากมีการแจ้งเตือนให้รีบจอดพักทันที จากนั้นรอให้รถหายร้อน หรือรีบแก้ไข

“สิ่งของในรถเกิดการลุกไหม้” ยุคนี้ก็เป็นสาเหตุ “ไฟไหม้รถ” บ่อย ไม่ว่าจะเป็น… แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ทุกชนิด สเปรย์แอลกอฮอล์ สเปรย์กระป๋อง ไฟแช็ก ฯลฯ ซึ่งเนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว มีแสงแดดแรง และผู้ใช้รถก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเหตุจำเป็นทำให้ต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแดด ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจาก “ไฟไหม้รถ” จึงไม่ควรลืมสิ่งของสุ่มเสี่ยงไว้ในรถ

…เหล่านี้เป็น สาเหตุทำให้ “ไฟไหม้รถ” โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัย “ร้อนจัด-แดดจัด” เข้ามาเสริมแรง ด้วย ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์ สนภ. ก็ยังได้ให้ “หลักปฏิบัติตัวเมื่อต้องเผชิญเหตุรถไฟไหม้” ไว้ด้วยว่า… เมื่อต้องเป็นผู้ประสบภัย ควรเริ่มต้นจาก… ให้ตั้งสติ จากนั้น พยายามประคองรถเข้าไหล่ทางเพื่อจอด และเปิดไฟฉุกเฉิน, กรณี มีควันออกมา ให้ดับเครื่องยนต์ เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟไหม้ ขึ้นกับรถ, กรณี ไฟลุกไหม้รถแล้ว ให้ทิ้งสัมภาระและออกจากรถทันที โดยพยายามอยู่ห่างจากตัวรถไปอย่างน้อย 30 เมตร และอีกคำแนะนำคือ ให้โทรฯ สายด่วน 199 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ร่วม “ย้ำเตือนไว้”

“ยิ่งร้อนระอุ” ก็ “ยิ่งอย่าประมาท!!”…

กับอีกภัยใกล้ตัว “ภัยไฟไหม้รถ!!”.