การก่อจลาจลในปี 2517 โดยกลุ่มนายทหารหนุ่มที่ยึดมั่นอุดมการณ์ กลายเป็นการลุกฮือที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เมื่อฝูงชนที่ปิติยินดี เข้าร่วมการปฏิวัติด้วย

เนื่องจากมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากกองกำลังผู้ภักดี พวกเขาจึงใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ในการโค่นล้มเผด็จการที่ปกครองโปรตุเกสอย่างเด็ดขาด รุนแรง และเข้มงวด มาตั้งแต่ปี 2469 ในสมัยนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ เด โอลิเวรา ซาลาซาร์ และจากปี 2511 ในสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์เซโล แคทาโน

อนึ่ง การจลาจลอย่างสันติที่ได้รับการขนานนามว่า “การปฏิวัติคาร์เนชัน” ซึ่งตั้งตามชื่อของดอกไม้ที่กลุ่มผู้ประท้วงวางในปืน และรถถังของกองทัพ ถือเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากยิ่ง สำหรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

euronews

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 25 เม.ย. 2517 กลุ่มกบฏที่มีชื่อว่า “ขบวนการกองกำลังติดอาวุธ” เผยแพร่ข้อความทางวิทยุ เพื่อเรียกร้องให้ชาวโปรตุเกสอยู่ในบ้าน และอยู่ในความสงบระหว่างการรัฐประหาร ทว่าประชาชนที่เหนื่อยหน่ายเต็มทนกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และสงครามอาณานิคมที่สร้างหายนะ ต่างออกมาบนท้องถนน รวมตัวกันตามุมเมือง และปะปนกับกองทหารกบฏ

ในภายหลัง ร.อ.โชเซ ซัลเกโร ไมอา กัปตันทหารม้าวัยรุ่น ถูกส่งไปรับการยอมจำนนของแคทาโน ซึ่งหลบภัยอยู่ที่ค่ายตำรวจหลักในกรุงลิสบอน

ขณะเดียวกัน ฝูงชนชาวโปรตุเกสรวมตัวกันที่จตุรัสคาร์โม ในกรุงลิสบอน และร้องเพลงชาติ ก่อนที่จะออกเดินทางเพื่อยึดสำนักงานใหญ่ของตำรวจการเมืองที่น่าเกรงขาม “พีไอดีอี” ซึ่งในการปฏิวัติครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของพีไอดีดี ยิงใส่ฝูงชน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย

euronews

ต่อมา พล.อ.อันโตนิโอ สปิโนลา อดีตเสนาธิการกองทัพโปรตุเกส และหัวหน้าขบวนการกบฏ ประกาศการจัดตั้งรัฐบาล ในนามของกลุ่มกบฏ ซึ่งเขาเสนอการมอบอำนาจให้กับประชาชนพลเรือน ด้วยการเลือกตั้งที่เสรี และนโยบาย “3 ดี” (Three Ds) ซึ่งสื่อถึงการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratisation), การปลดปล่อยอาณานิคม (Decolonisation) และการพัฒนา (Development)

การปฏิวัติดังกล่าว นำไปสู่การเลือกตั้งโดยเสรีครั้งแรกของโปรตุเกส ในอีก 1 ปีถัดมา ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศเอกราชให้กับประเทศอาณานิคม ยังช่วยยุติสงครามอาณานิคมในแอฟริกา ที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 13 ปี ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 8,000 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20,000 คน

แม้โปรตุเกสต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างหลังจากนั้น แต่การเข้าร่วมกลุ่มที่กลายเป็น “สหภาพยุโรป” (อียู) ในปี 2529 ก็ทำให้ประเทศได้รับการกระตุ้นอย่างแท้จริง และกลับเข้าสู่ประชาคมประชาธิปไตยในยุโรปอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การปฏิวัติคาร์เนชัน เป็นแหล่งความภาคภูมิใจในโปรตุเกส ซึ่งวันครบรอบของเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นวันหยุดประจำชาติที่เรียกว่า “วันแห่งอิสรภาพ”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP