ใครที่ชอบการทำอาหาร…เชื่อว่าต้องเคยเลื่อนเจอเฟซบุ๊กกลุ่มแบ่งปันสูตรและเทคนิคการปรุงอาหารที่ชื่อ “ตำรับข้างวัง” อย่างแน่นอน เพราะเป็นหนึ่งในเพจสุดฮิตของคนที่สนใจการทำอาหารที่มีสมาชิกติดตามเกือบ 500,000 คน โดยวลีที่สมาชิกกลุ่มมักนำมาเป็นสร้อยต่อท้ายกระทู้ที่โพสต์บ่อย ๆ ก็คือ “สูตรเชฟอร่อยมาก!!!” ซึ่งนอกจากคำชื่นชมแล้ว…หลายคนยังมีคำถาม… “จริง ๆ แล้วเชฟคือใคร???” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไป “เปิดสูตรชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังเพจดัง” เพจนี้…

เจ้าของสูตรอาหารคาวหวาน และเป็นเจ้าของวลี “สูตรเชฟ” ที่ว่านี้คือ “เชฟธอมัส-ดร.วรพล อิทธิคเณศร” เจ้าของเพจดัง “ตำรับข้างวัง Truly Thai Recipes” และหมวกอีก 2 ใบของเชฟคนนี้คือ กรรมการผู้จัดการบริษัท Thomas Food Intelligent รวมถึง อาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยด้วย โดย เชฟธอมัส ได้เล่าถึงเส้นทางชีวิตว่า… เกิดที่ จ.จันทบุรี และโตที่ จ.เพชรบุรี โดยเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่คุณปู่เป็นหมอยาโบราณ คุณย่าเป็นแม่ครัวทำงานที่วัด และคุณยายเป็นคนชอบทำอาหารไทยกับขนมไทย ทำให้ได้มีโอกาสซึมซับเกี่ยวกับเรื่องอาหารมาตั้งแต่เด็ก ๆ

“ความที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะอะไรมาก ทำให้เราคิดแบบเด็ก ๆ ว่า ถ้าอยากกินอยู่อย่างสบาย ก็ต้องโตไปเป็นเชฟ เป็นคนทำอาหารนี่แหละ มันเป็นเรื่องที่ซึมซับมาเรื่อย ๆ และอีกด้านเราชอบทำงานฝีมือ พวกกระทงใบตอง งานดอกไม้ ก็เลยเข้าไปเรียนรู้และช่วยงานช่างต่าง ๆ เพื่อหาเงินเรียน และยังฝึกรำมาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เพราะคุณยายชอบดูลิเก ท่านก็จะพาเราไปโรงลิเกบ่อย ๆ ที่สุดก็ตามใจคุณยาย โดยเลือกเรียนโขนและเรียนนาฏศิลป์ที่จันทบุรี จนกระทั่งโตมาจึงเลือกเรียนด้านอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี”

เชฟธอมัส ย้อนเส้นทางวัยเยาว์ให้ฟัง พร้อมเล่าต่อไปว่า หลังเข้าเรียนด้านอาหารและโภชนาการ ด้วยความที่เป็นลูกศิษย์ที่ขลุกอยู่กับอาจารย์ตลอด อาจารย์ของเชฟจึงมักจะพาไปเป็นลูกมือบ่อย ๆ เช่น ในพื้นที่นั้น เมื่อก่อนถ้าเป็นงานรับเสด็จแถวโรงเรียนตระเวนชายแดน หรือแถบชนบท วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรีจะได้รับหน้าที่ทำงานถวาย อาจารย์ก็มักจะพาเขาไปช่วยทำงานถวายบ่อย ๆ หรือถ้าหากมีพิธีไหว้ครูครั้งใหญ่ ก็จะให้ไปช่วยงานด้วยการช่วยเตรียมอาหารและขนมไทยสำหรับพิธีบวงสรวง หรือไม่ก็ทำบายศรี จัดดอกไม้ จนเรียกว่าได้มีโอกาสซึมซับกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด จนช่วงเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หลักสูตรคหกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาอาหารและโภชนาการ โดยได้คะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 ก็ได้ทุนไปเรียนต่ออาชีวศึกษาที่ออสเตรเลีย โดยเลือกเรียนอุตสาหกรรมการเกษตรเกี่ยวกับ Flower Design เพราะก็ชอบจัดดอกไม้มาก ซึ่งระหว่างเรียนนั้นก็ทำงานเป็นหัวหน้าเชฟร้านอาหารด้วย จนได้รับ Sponsor Visa โดยหลังเรียนจบก็จึงอยู่ทำงานอีก 5 ปี รวมเวลาใช้ชีวิตอยู่ออสเตรเลีย 7 ปี จึงตัดสินใจกลับไทย เพราะอยากนำความรู้ที่มีมาสอนคนอื่น

“เราอยากเป็นครู พอกลับมาไทยจึงไปเรียนปริญญาโทด้านธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้และคุณวุฒิที่เหมาะสม ก่อนจะเข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหาร ที่บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ต่อมาก็รู้สึกอยากจะเปิดมุมมองด้านธุรกิจอาหารให้กว้างขึ้น จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก ด้านการบริหารธุรกิจ จนทุกวันนี้พูดได้เลยว่าได้ทำหน้าที่ครูชัดเจนมาก ผ่านทางการสอนทำอาหารในเพจ และเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย” ทาง เชฟธอมัส เล่าเรื่องนี้กับ “ทีมวิถีชีวิต”

กับบทบาท “ครูเชฟ”

ก่อนจะบอกอีกว่า อาจเป็นความโชคดีของเขา ที่บ้านเกิดอยู่จันทบุรี ซึ่งคุณปู่กับคุณย่าทำสวนพริกไทยด้วย ทำให้ได้คลุกคลีกับสมุนไพรต่าง ๆ มาตลอด และพอย้ายมาอยู่ที่เพชรบุรี ก็เป็นเมืองขึ้นชื่อด้านอาหารหวาน หรือพูดง่าย ๆ คือ อยู่จันทบุรีได้อาหารคาว อยู่เพชรบุรีก็ได้อาหารหวาน ประกอบกับสั่งสมประสบการณ์จากรั้ววิทยาลัยอาชีวศึกษา ก็ยิ่งเสริมสร้างพื้นฐานการทำอาหารแน่นขึ้น ระหว่างที่เรียนก็เริ่มเข้าสู่แวดวงการแข่งขันทำอาหาร โดยเริ่มแข่งตั้งแต่อายุ 16 ปี ซึ่ง เคยได้รับรางวัลพระราชทาน และเคยได้ทำอาหารถวาย “ในหลวงรัชกาลที่ 9” รวมถึง “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ตอนอายุ 18-19 ปี

ทาง เชฟธอมัส ยังบอกว่า ช่วงแรกเริ่มต้นที่อาหารไทย พอเข้าสู่สายประกวดก็เบนเข็มมาที่อาหารฝรั่ง ถ้าถามว่าชอบทำอาหารสัญชาติไหนมากกว่า ส่วนตัวแล้วอยากบอกว่า “พออยู่วงการอาหารมานานก็มองเห็นว่า อาหารเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตคน ไม่ว่าจะอาหารคาว อาหารหวาน อาหารสัญชาติไหน ล้วนมีแก่นแท้เหมือนกัน นั่นคือการทำให้คนกินมีความสุข ด้วยเหตุนี้จึงเปิดรับทุกความรู้ ใครสอนอะไรมาก็เรียนหมด” เขาเล่าถึงเรื่องนี้อย่างอารมณ์ดี

ส่วน “ที่มาของชื่อเพจ” คือเพจ “ตำรับข้างวัง (Truly Thai Recipes)” นั้น เขาบอกว่า มาจากการที่สมัยยังเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษา เคยได้รับโอกาสให้สอนทำอาหารผ่านสถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม วังไกลกังวล เริ่มจากเป็นผู้ช่วยสอน ซึ่งสถานีโทรทัศน์นี้ตั้งอยู่ข้างวังไกลกังวล จึงอยากใช้คำว่า “ตำรับข้างวัง” เพื่อจะสื่อถึงจุดเริ่มต้นการทำหน้าที่ครูของเขา อีกทั้งสูตรที่นำมาสอนในเพจช่วงแรก ๆ ก็เป็นสูตรที่เคยใช้สอนผ่านสถานีโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมตอนนั้นด้วย

กับบทบาท “อาจารย์”

“นี่คือที่มาของตำรับข้างวัง ซึ่งไม่ได้อยู่ในวัง แต่อยู่ข้างวังจริง ๆ ซึ่งพอไม่ได้อธิบาย คนทั่วไปก็อาจจะงง ๆ ว่าทำไมต้องข้างวัง… คือเป็นการระลึกถึงเรื่องราวครั้งยังเด็ก และสิ่งที่อยากนำเสนอในอีกแง่มุมคือ ความวิจิตรและความประณีตของอาหารนั้นคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งแก่นของอาหารที่เรียกว่าชาววังคือการใส่ใจรายละเอียด ดังนั้น เมื่อใส่ใจรายละเอียดก็สามารถจะปรุงและกินอาหารแบบชาววังได้” ทาง เชฟธอมัส ระบุไว้

สำหรับเมนูที่นำมาสอน เขาบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเมนูไทย โดยบางอย่างเป็น เมนูยอดนิยมในอดีต เพราะปัจจุบันเป็นยุคสังคมผู้สูงวัย ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงวัยถวิลหาคือ การย้อนกลับไปเห็นอะไรที่เคยเห็นตอนเด็ก ๆ เขาก็เลยตามกระแสโดยเอาเมนูเหล่านั้นกลับมานำเสนอ และสำหรับวิธีเลือกเมนู เขาจะเลือกตามเทศกาลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเน้น เมนูที่ทำขายได้ง่าย ๆ โดยจะสอบถามเข้าไปในกลุ่มว่าถ้าสอนเมนูนี้เมนูนั้นอยากเรียนกันไหม ซึ่งกฎเกณฑ์สูตรที่ให้คือ ต้องต่อยอดได้ ฉะนั้นจะบอกวิธีพัฒนาสูตรอย่างละเอียด เช่น จะลดหรือเพิ่มส่วนผสมยังไง รสชาตินั้นรสชาตินี้ทำยังไง เพื่อให้คนที่เรียนนำไปทำได้จริง ๆ

อีกรูปแบบความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ทาง “ทีมวิถีชีวิต” ถามเชฟว่า ทำงานมาหลายอย่าง…มีงานใดที่อยากทำและยังไม่ได้ทำอีกบ้างหรือไม่ กับคำถามนี้ เชฟธอมัส ตอบว่า “งานที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ คือ Organizer หรือนักสร้างจินตนาการงานอีเวนท์” เพราะส่วนตัวเขามองว่า งานนี้ท้าทายมาก เพราะต้องรวมศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน อีกทั้งส่วนตัวแล้วก็คิดว่าน่าจะสนุก เพราะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อจะสร้างความประทับใจให้ผู้ร่วมงาน ดังนั้นงานนี้ก็จึงเป็นงานที่เขาอยากทำให้ได้ในอนาคต

สำหรับแฟนคลับที่ติดตามผลงาน “เชฟธอมัส-ดร.วรพล” ผ่านเพจ “ตำรับข้างวัง Truly Thai Recipes” คงจะชินตากับความแอคทีฟที่จะสอนที่จะให้ความรู้ของเชฟกันเป็นอย่างดี ขณะที่คนใกล้ชิดก็น่าจะไม่แปลกใจที่เห็นเชฟสนใจและหมั่นหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเองเสมอ ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ก็ได้ถามถึง “แรงบันดาลใจ-วิธีคิด” ที่ทำให้เขาเป็นคนสไตล์นี้ โดยเชฟธอมัสให้คำตอบทิ้งท้ายเรื่องนี้เอาไว้ว่า… “สิ่งที่อยากบอกคือ อย่าขีดเส้นความสามารถให้ชีวิตตัวเอง แต่จงปล่อยให้ชีวิตได้เรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เพราะการเรียนรู้จะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่าของชีวิต และเราต้องถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าทำไม่ได้หรือยังไม่ได้ทำ ดังนั้นต้องเปิดใจและลองฝึกฝนสิ่งที่แตกต่าง เพราะเราอาจจะได้พบประสบการณ์ใหม่ที่มีสีสันมากกว่าเดิม ที่สำคัญมันคือการพิสูจน์ตัวเอง ทำให้เรารู้จักคุณค่าของตัวเอง รวมถึงทำให้รู้ว่า…ชีวิตเรามีเรื่องน่าค้นหาเสมอ”.

‘พื้นที่’ เพื่อ ‘พลังชีวิตด้านบวก’

“เชฟธอมัส-ดร.วรพล อิทธิคเณศร” เชฟดีกรีดอกเตอร์ พูดถึง “สิ่งที่ได้จากการทำเพจตำรับข้างวัง” ด้วยว่า “ได้ความสุขทุกวัน” ทุกวันตื่นมาก็จะมีคนในกลุ่มโพสต์อนุโมทนาบุญให้เชฟแต่เช้า เช่น วันนี้ทำขนมไปใส่บาตรมา อิ่มใจมาก หรือวันนี้ทำอาหารให้คุณแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์กินแล้วคุณแม่จำได้ รู้สึกดีใจมาก ซึ่งเมื่อเขาได้ฟังได้อ่านเรื่องแบบนี้ทุกวันก็มีกำลังใจในการใช้ชีวิต และพอมีกำลังใจก็มีความมั่นใจ ทำให้ไม่ว่าจะไปสอน ไปโชว์ หรือไปทำอะไรที่ไหน เขาจึงมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม เพราะได้รับพลังชีวิตดี ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มนี้ ดังนั้น การที่ทำเพจนี้ขึ้น จึงไม่ใช่เขาเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ หากแต่เขายังเป็นผู้รับจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มนี้อีกด้วย นั่นคือ “ได้รับพลังชีวิตด้านบวก” กลับมานั่นเอง… “เวลาเพื่อน ๆ ในกลุ่มโพสต์โชว์รูปอาหารที่ทำขึ้น เราจะชมเขานะ เพราะทุกคนอยากได้กำลังใจ จะเรียกว่าเป็นคอนเซปท์ของเพจนี้ก็ว่าได้ ดังนั้นเวลามีคอมเมนต์ในทางลบ เราจะลบทิ้งทันที เพราะตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่แข่งขัน แต่เป็นพื้นที่ให้กำลังใจกัน”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน