ในบรรดาคลิปวิดีโอและภาพถ่ายที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์พร้อมทั้งคำกล่าวอ้างว่าเป็นหลักฐานยืนยันว่า “นักท่องเวลา” มีอยู่จริงนั้น คลิปวิดีโอของหญิงสาวที่กำลัง “คุยผ่านโทรศัพท์มือถือ” เมื่อปีค.ศ. 1938 คือหนึ่งในคลิปที่มีคนให้ความสนใจมากที่สุด

นักท่องเวลาหรือ Time traveler นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความสนใจของกลุ่มคนที่สนใจเรื่องไทม์แมชีน (Time machine) หรือเครื่องเดินทางทะลุมิติแห่งการเวลา สามารถย้อนไปหาอดีตหรือเดินทางสู่อนาคตได้ นักท่องเวลาก็คือคนที่เดินทางไปกับไทม์แมชีน สู่ช่วงเวลาต่าง ๆ ตามต้องการ ทั้งเวลาในอดีตและในอนาคต

คลิปวิดีโอของ “หญิงสาวคุยโทรศัพท์มือถือ” นี้มีคนเอามาเผยแพร่ในโลกออนไลน์และก่อให้เกิดกระแสฮือฮาของชาวโซเชียลมีเดียราวช่วงปี 2556 มีคำบรรยายว่าเป็นฟุตเทจภาพยนตร์จากปีค.ศ. 1938 หรือประมาณ 86 ปีที่แล้ว ที่บังเอิญบันทึกภาพของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังพูดคุยผ่านอุปกรณ์บางอย่างที่ดูคล้ายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันระหว่างเดินออกมาจากอาคารแห่งหนึ่ง ทำให้มีหลายคนเชื่อว่าเธอคือ “นักท่องเวลา”

คลิปชุดเดียวกันนี้เผยแพร่ไปตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ถัดจากยูทูบก็เป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊กและติ๊กต็อก พร้อมกับคำบรรยายว่าเป็นคลิปที่ถ่าย “นักท่องเวลา” เอาไว้ได้ ทั้งที่ต้นตอคนที่เอามาโพสต์คนแรกนั้น เขียนกำกับไว้ว่าเป็นเพียงคลิปที่ทำขึ้นมาสนุก ๆ เพื่อหลอกคนเล่นในวัน April Fool’s Day แต่กลับได้รับความนิยมอย่างสูงเกินคาด

ความจริงแล้ว คลิปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สั้น ซึ่งเป็นการบันทึกภาพกลุ่มคนจากบริเวณหน้าโรงงานดูปองค์ในเมืองลีโอมินสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตต์ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 กล่าวคือคลิปวิดีโอเป็นภาพจริง เหตุการณ์จริง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนักท่องเวลา เป็นเรื่องที่คนเอาไป “มโน” กันเอง 

คลิปวิดีโอฉบับเต็มนั้นสามารถรับชมได้ที่ช่องยูทูบของ Leominster Access Television มีชื่อว่า “Leominster 1938 Film Supplemental Footage” อัปโหลดไว้ตั้งแต่ปี 2560 (ช่วงที่มี “หญิงสาวคุยมือถือ” อยู่ประมาณวินาทีที่ 36-40)

เนื่องจากคลิปดังกล่าวเป็นภาพขาวดำ อีกทั้งไม่ได้มีความคมชัดมากและไม่มีเสียง นอกจากนี้อุปกรณ์ในมือของหญิงสาวก็ดูคล้ายโทรศัพท์มือถือรุ่นปัจจุบัน รวมทั้งกิริยาท่าทางของเธอที่ดูคล้ายกับกำลังคุยผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็ทำให้คนที่ได้ดูคลิปหลงเชื่อไปได้ว่านี่คือภาพของนักท่องเวลากำลังใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ล้ำหน้าไปกว่า 80 ปีจริง ๆ

ชาวเน็ตบางคนก็พยายามอธิบายว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่น่าจะเป็นนักท่องเวลา เพราะจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1930 โดยอ้างถึงอุปกรณ์ช่วยฟังของบริษัทซีเมนส์ ซึ่งมีการจดสิทธิบัตรในปีค.ศ. 1924 หรืออาจจะอุปกรณ์ช่วยฟังออดิโฟน คาร์บอน โมเดล 34A ของบริษัทเวสเทิร์นอิเล็กทริก

ชาวเน็ตอีกรายหนึ่งก็พยายามให้ข้อมูลว่า ในยุคนั้น อุปกรณ์ประเภทวิทยุพกพาขนาดเล็กเป็นเครื่องใช้ที่เห็นได้ทั่วไป ผู้หญิงในคลิปอาจจะกำลังยกวิทยุขึ้นมาแนบหูเพื่อฟังเสียงจากรายการวิทยุให้ชัด ๆ เพราะข้างนอกนั้นมีคนเยอะและคงจะมีเสียงดังรบกวน

แต่ความเห็นนี้กลับโดนปัดตกไปเพราะอุปกรณ์วิทยุพกพานั้นยังไม่ปรากฏในตลาดสหรัฐระหว่างปีค.ศ. 1938

ส่วนชาวเน็ตคนอื่น ๆ ก็มีทฤษฎีหรือคำอธิบายที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าหญิงสาวอาจจะกำลังถือตลับใส่บุหรี่ อีกทั้งยังมีคนเข้ามาตอกย้ำว่าเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะใช้โทรศัพท์มือถือเพราะในปีค.ศ. 1938 นั้น ยังไม่มีโครงข่ายส่งสัญญาณใด ๆ เกิดขึ้น แล้วเครื่องจะทำงานได้อย่างไร

ต่อมาในปี 2556 สำนักข่าวเดลิเมล์ก็ลงบทความเกี่ยวกับคลิปวิดีโอดังกล่าว และอ้างถึงช่องยูทูบที่ชื่อว่า Planetcheck ซึ่งอ้างว่าผู้หญิงในคลิปไวรัลนี้คือ เกอร์ทรูด โจนส์ เป็นย่าทวดของเจ้าของช่อง

บทความดังกล่าวอ้างคำพูดจากยูทูเบอร์เจ้าของช่อง Planetcheck ซึ่งบอกว่า ย่าทวดโจนส์ของเขาในตอนที่โดนบันทึกภาพนั้นมีอายุเพียง 17 ปี ตัวเขาเคยถามเธอถึงคลิปวิดีโอนี้ และเธอก็เล่าให้ฟังว่าโรงงานของดูปองต์นั้นมีแผนกการสื่อสารผ่านโทรศัพท์อยู่ในโรงงานด้วย ตอนนั้นทางโรงงานกำลังทดลองอุปกรณ์โทรศัพท์ไร้สาย ย่าทวดโจนส์และสาว ๆ อีก 5 คนในโรงงานจึงได้รับแจกโทรศัพท์ไร้สายกันคนละเครื่องเพื่อเอาไปทดลองใช้กันคนละ 1 สัปดาห์

ภาพของย่าทวดโจนส์ที่อยู่ในคลิปนั้นเป็นช่วงที่เธอกำลังพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ของโรงงาน ซึ่งก็ใช้โทรศัพท์ไร้สายอีกเครื่องในการติดต่อเธอ โดยเขายืนอยู่ห่างออกไปทางขวาของเธอขณะที่เธอกำลังเดินผ่านไป

แม้จะดูเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าที่สุดแล้วในตอนนี้ แต่ข้อมูลของยูทูเบอร์รายนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างเป็นทางการว่าคือเรื่องจริง อีกทั้งเจ้าของช่อง Planetcheck ก็ไม่ยอมเปิดเผยตัว ขณะที่ทางบริษัทดูปองต์ก็ไม่มีการออกมาชี้แจงใด ๆ เกี่ยวกับคลิปไวรัลที่เผยแพร่วนเวียนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตมานานกว่าทศวรรษแล้ว

ที่มา : snopes.com

เครดิตภาพ : YouTube / Leominster Access Television