เมื่อคืนวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ซึ่งดูนโยบายเกี่ยวกับโควิดทั้งหมด ได้ออกแถลงการณ์ที่ “เป็นความหวัง” ให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) คือการประกาศในทำนอง “เปิดประเทศ” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. นี้ เพื่อหวังให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จะมีกิจกรรมการบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากจาก เทศกาลและช่วงวันหยุดยาว ตั้งแต่เดือน พ.ย.ก็มีลอยกระทง และมาเดือน ธ.ค.ก็มีวันหยุดหลายวันรวมถึงวันปีใหม่

การประกาศเปิดประเทศดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นขาสำคัญของการนำรายได้เข้าประเทศไทย โดยรูปแบบการเปิดประเทศที่ว่า “เป็นการทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป” เพื่อความรอบคอบไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เงื่อนไขจึงเริ่มจากการ “กำหนดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ” ก่อน เบื้องต้นทาง ศบค.จะพิจารณากำหนดประเทศที่เราสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ แล้วให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ “ทางเครื่องบิน” (เพื่อความง่ายในการตรวจหาเชื้อ) โดยมาถึงไทยไม่ต้องกักตัว จากที่เดิมรัฐบาลใช้โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่มีการกักตัวจนครบกำหนดว่าไม่มีการแพร่โรค

เงื่อนไขในการเดินทางมาท่องเที่ยวไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กำหนดว่า ผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ต้อง 1. ต้องมีการฉีดวัคซีนที่เป็นมาตรฐาน ครบ 2 เข็ม ซึ่งไม่ จำเป็นว่าต้องเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง เท่านั้น เพราะหลายตัวที่เป็นมาตรฐานแต่องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับรองก็มี เช่น สปุตนิก 5 ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติก็ให้การยอมรับ  

2. มีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง มีใบรับรอง Fit to Fly 

3. เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วต้องมีการตรวจหาเชื้อในวันแรก ด้วยวิธี RT-PCR และพักที่พื้นที่นั้น 1 คืน เพื่อรอให้ผลการตรวจเชื้ออกก่อน เช่น เมื่อนั่งเครื่องบินมาลงที่สุวรรณภูมิ ก็ต้องตรวจ RT-PCR และให้พักที่ กทม. 1 คืนระหว่างรอผลการตรวจ เบื้องต้นเป็นการกักตัวทางเลือก (alternative state quarantine) ซึ่งน่าจะหมายถึง การเลือกสถานที่กักตัวได้ (น่าจะเป็นโรงแรม เพิ่มเม็ดเงินในธุรกิจนี้ในกรุงเทพฯ) เมื่อผลตรวจเป็นลบจึงเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ (Free to go) เพราะถือว่ามีความปลอดภัย แต่ระหว่างนี้อาจจะมีการรายงานผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในประเทศอื่น

ศบค.จะค่อยๆ พิจารณาประเทศต้นทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นระยะ ซึ่งคงจะทยอยประกาศรายชื่อประเทศออกมาเรื่อยๆ โดยเป้าหมายคือ รับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้ได้มากที่สุดในเดือน ม.ค.ปีหน้า ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารหรือธุรกิจภาคกลางคืนที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น รัฐบาลยังต้องพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราคงจะทราบกันว่า คลัสเตอร์ใหม่เกิดจากการรวมกลุ่มปาร์ตี้ในสถานที่เที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้น การเปิดให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้จะเริ่ม 1 ธ.ค.

สิ่งที่เป็น “ความท้าทาย” ของการเปิดประเทศครั้งนี้ คือ “การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข” พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความมั่นใจถึงเรื่องการมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งพื้นฐานที่จะทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไว้ใจคือ “ความปลอดภัยในประเทศไทย” ด้วย ไม่ใช่ว่าเราเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ประเทศปลายทางยังให้เราติดแบล็กลิสต์เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงอยู่ การนำเข้าวัคซีนก็มีมาเรื่อยๆ ทั้งของภาครัฐนำเข้าอย่างไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา หรือมีโรงพยาบาลเอกชนนำเข้าเป็นตัวเลือกคือโมเดอร์นา ซึ่ง “ความท้าทาย” ถ้าพูดกันง่ายๆ ที่รัฐบาลต้องทำคือ 

1.การเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ให้ประชาชนได้วัคซีนครบโด๊สมากที่สุด และเร็วที่สุด ก่อนจะมีการเปิดธุรกิจสถานประกอบการภาคกลางคืนและอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านได้ในเดือน ธ.ค. เพราะปาร์ตี้ย่อมมีการสังสรรค์เป็นเรื่องธรรมดา

เรื่องการฉีดวัคซีนนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ รัฐบาลจะดึงภาคเอกชนมาช่วยเพิ่มขึ้น หรือการจ่ายค่าล่วงเวลาให้บุคลากรภาครัฐ ตลอดจนท้องถิ่นเองก็ช่วยในการอำนวยความสะดวกในการฉีด เช่นที่ กทม.ทำรถฉีดวัคซีน แต่ของ กทม.ก็ยังทำได้ไม่ค่อยเพียงพอถ้าจะเร่งเปิดเมือง และการฉีดวัคซีนได้มาก เร็ว ก็ไม่ได้มีผลต่อเรื่องการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่มันสำคัญต่อการ เปิดโรงเรียน เพราะการเรียนที่บ้านมันใช้ไม่ได้กับหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาสายวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำแล็บ และปัญหาเรื่องฐานะของประชาชนทำให้ยังมีนักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์

2.กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความมั่นใจเรื่องมาตรการรองรับหากเกิดการกระจายเชื้อ อย่าให้เกิดการขยายเป็น คลัสเตอร์ใหญ่ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์วันนี้เราต้องพร้อม ผู้ป่วยสีเขียวก็ส่งเสริมให้สามารถกักตัวที่บ้านหรือ hospitel ได้โดยไม่ต้องไปใช้เตียงโรงพยาบาล การรักษาต้องทันสมัย มีแพทย์เสนอว่า “เราไม่ควรใช้แต่ ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือใช้สเตียรอยด์เวลาเชื้อลงปอด แต่ต้องมี ยา remdesivir หรือมียาที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานของประเทศที่ระบบสาธารณสุขดีๆ” ..โควิดยังเป็นโรคที่อยู่กับเราอีกนาน เราคงต้องเป็นความคิดว่ามันเป็นโรคร้ายแรง แต่มองว่ามันคือ “โรคประจำถิ่น” ที่มีวัคซีนป้องกัน และมียากินรักษาหายก่อนมันจะอาการรุนแรง

เมื่อสร้างความมั่นใจเรื่องวัคซีน เรื่องยาได้ 3.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้ภาคผู้ประกอบการด้วยว่า “จะไม่มีการเปิดๆ ปิดๆ เมือง” เพราะการกลับมาตรการไปมา มันบาดเจ็บต่อกันเป็นห่วงโซ่ อย่างช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดเมืองให้ร้านอาหาร สถานประกอบการได้แป๊บเดียว ก็ต้องสั่งปิดด้วย คลัสเตอร์ทองหล่อ แต่ในระหว่างที่เปิดได้สั้นๆ นั้น สถานประกอบการลงทุนอะไรไปตั้งเท่าไร ทั้งค่าเช่าที่ ค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าจ้างพนักงาน ..เรียกว่า บางสถานประกอบการอย่าเพิ่งพูดถึงการคืนทุนเลย ไอ้ที่กู้มาใหม่เพื่อหวังต่อลมหายใจกิจการก็เล่นเอาหน้ามืดเพราะโดนปิดอีก .. ผลคือเมื่อเขาทำงานไม่ได้ เปิดกิจการไม่ได้ เจ้าของกิจการก็อยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องจ่ายเยียวยาแบบให้เปล่าหรือปล่อยซอฟต์โลน แต่ถึงดอกเบี้ยต่ำ บางเจ้าก็ไม่รู้หาเงินชำระหนี้จากไหน

การสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการเปิดๆ ปิดๆ เมือง ที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การเข้าถึงการตรวจด้วย ATK แบบราคาถูกได้ และต้องเป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐาน ถ้าการตรวจ ATK ทำได้ราคาถูกก็จะช่วยประหยัดเงินให้เจ้าของกิจการสามารถซื้อเครื่องมือมาให้ลูกจ้างตรวจ และมีปัญหาส่งเข้าระบบรักษาได้โดยเร็ว …ย้ำว่า ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เปิดๆ ปิดๆ เมืองอีก เพราะผู้ประกอบการคงรับไม่ไหวแล้ว โอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มันก็เป็น “ลมหายใจ” อีกเฮือกที่ผู้ประกอบการหวังว่าจะสร้างเม็ดเงินทดแทนในช่วงที่ขาดรายได้

โดยเฉพาะ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจภาคกลางคืน ผับ บาร์ ร้านอาหาร ..เราอย่าโลกสวยกันว่าประเทศนี้เมืองพุทธไม่สนับสนุนให้ขายเหล้า การ “แฮงก์เอาต์” หรือ “ปาร์ตี้” ที่สร้างเม็ดเงินในภาคการท่องเที่ยวไทยมีเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวมาก เฉพาะใน กทม. เงินสะพัดในภาคการท่องเที่ยวกลางคืนตั้งไม่รู้กี่แสนล้านต่อปี ผับ บาร์ ลานเบียร์อะไรรับลมหนาวช่วงปีใหม่เปิดตั้งกี่แห่งในเมืองใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ ..ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการเที่ยวกลางคืนหรือ nightlife เรียกว่าลำดับต้น ๆ ของโลกด้วยซ้ำ …แต่พอมีปัญหาธุรกิจกลุ่มภาคกลางคืน กลุ่มขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกปิดก่อน และปิดยาวกว่าชาวบ้าน รัฐบาลจะมองข้ามพวกเขาไม่ได้ มีคนอยู่ในระบบจำนวนมาก   

เมื่อรัฐบาลประกาศจะ “เปิดประเทศ” สิ่งที่คนคาดหวังคือการ “เปิด” จริงๆ ไม่ใช่ลักปิดลักเปิด โดยภาคส่วนต่างๆ ก็เริ่มขยับทันทีหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ อาทิ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็จะสรุปรายชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ โดยจะเสนอรายชื่อไป 20 ประเทศ ให้ ศบค.เลือก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  บอกว่า เป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว หากไม่เปิดประเทศก็ไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น และควรเปลี่ยนความคิดเรื่องโฟกัสจำนวนคนติดเชื้อ แต่ควรมองที่ จำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือผู้เสียชีวิตลดลง และให้อะไรๆ กลับมาเป็นปกติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ดี เพราะการประกาศชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการและนักเดินทางรู้ล่วงหน้าและเตรียมตัวที่ดีขึ้น โดยหอการค้าไทย คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วง 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) อีก 5 หมื่นราย-1 แสนราย คาดว่ามีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีก 5,000-10,000 ล้านบาท และถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มขึ้นเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 แสนราย มีเงินสะพัดจากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 1.5-2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นจีดีพีได้ระดับหนึ่ง  

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งว่า ในเบื้องต้นประเทศที่เปิดทั้ง 10 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี นอร์เวย์ ฝรั่งเศส จีนรวมฮ่องกง (ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาไทยมาก) รัสเซีย (นี่ก็เที่ยวเยอะแถวพัทยา) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ สิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นไป.. สิ่งสำคัญในขณะนี้คือการสื่อสารไปยังประเทศต่างๆ เรื่องความพร้อมในการควบคุมการระบาดของรัฐบาล มีมาตรการรัฐที่ปรับให้เหมาะกับสถานประกอบการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามได้ และรัฐบาลต้อง ออกนโยบายกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมให้คนไทยจับจ่ายใช้สอย ด้วย การบริโภคในประเทศจะช่วยในช่วงแรกก่อนการเปิดเมืองเต็มตัว

people riding on boat on river during daytime

โดยภาพรวม เสียงตอบรับในการเปิดเมืองออกมาในลักษณะค่อนข้างดี เพราะจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่างคนต่างทำมาหากินได้ มันมาถึงจุดที่ทั่วโลกต้องปรับตัวและอยู่กับโควิดให้ได้ เปรียบมันเป็นโรคประจำถิ่นที่ป้องกันรักษาได้แล้ว จากวิทยาการที่นานาชาติร่วมกันพัฒนา การปิดเมืองไม่ช่วยอะไร นอกจากจะบาดเจ็บกันไปหมดทั้งระดับเศรษฐกิจจุลภาคและมหภาค แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจเรื่องความพร้อม หากเกิด “อุบัติเหตุ” การระบาดอีกรอบ ..ต้องเป็นความพร้อมที่ไม่ทำให้ใครเจ็บตัวอีก  มันก็เป็นโจทย์ของเราว่าจะทำอย่างไรที่ถ้าเกิดเหตุ จะบริหารโดยกระทบกระเทือนน้อยที่สุด ไม่ใช่การกู้มาแจกแบบให้เปล่าไปเรื่อยอีก   

แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ต้องดูฝีมือของ “โกเกี๊ยะ” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในการ หาจุดขายใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ เปิดการท่องเที่ยวเมืองรอง เมือง unseen อะไรก็ได้ที่ให้การท่องเที่ยวสามารถกระจายได้ทั่วประเทศ รวมถึง สนับสนุนอุตสาหกรรม soft power หรือ สื่อบันเทิง ให้เกิดความอยากบริโภคหรืออยากเที่ยวตามรอย การเปิดเมืองเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องเผชิญ

ก็ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการได้ด้วยดี เพราะมันคือการเติบโตทางเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศ.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : Unsplash,Getty image