คนสูงอายุลื่นหกล้มดูเป็นเรื่องปกติที่เราได้พบบ่อยอยู่เสมอ ส่วนใหญ่มักจะประมาทไม่ค่อยระวังถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นเชื่อมือว่าทำได้ต้องผ่านไปได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยเหลือ บางครั้งก็ผ่านไปได้ด้วยดีโดยเฉพาะการขึ้นลงบันไดบ้าน จะพบอุบัติเหตุบ่อยเสมอ แม้จะขึ้นลงทุกวันก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ขั้นสุดท้ายมักมองไม่ค่อยเห็นสำหรับคนที่สายตาไม่ค่อยดีมักจะนึกว่าหมดขั้นบันไดแล้วเลยก้าวยาวเต็มที่ไปเลยเพื่อให้ถึงพื้น แต่มันยังมีอีกขั้นหนึ่งยังไม่ถึงพื้น ทำให้เสียจังหวะลื่นไปในบันไดขั้นสุดท้าย ถ้ามือยังเกาะราวบันไดอยู่แน่นก็ไม่เป็นไร ถ้าเพียงเกาะหลวม ๆ หรือไม่ได้เกาะเพราะคิดว่าจะถึงพื้นอยู่แล้วก็จะพลาดลื่นล้มทำให้เกิด

ภยันตรายถึงกระดูกหักได้ โรคกระดูกเปราะกระดูกพรุน จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุหญิง เกิดจากการสร้างสะสมแคลเซียมของกระดูกน้อยเกินไป ทำให้เปราะบางเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเกิดหกล้มโอกาสกระดูกจะหักในสตรีผู้สูงอายุจึงมีมาก มีผลไปจนถึงการรักษาทำให้กระดูกมาเกาะติดกันช้าไปด้วย ต้องใช้เวลานานราว2-3 เดือน จึงจะติดพอเข้าที่ได้

ปัญหาเรื่องสายตา สายตามองไม่ค่อยเห็น จากสาเหตุหลาย ๆ อย่างของดวงตา เลนส์ ขุ่นแว่นตาใส่แล้วมองยังไม่ชัดเข้าที่ดีเมื่อมองไม่ชัดก็คาดคะเนไม่ถูก บางคนก็อาจเอาไม้เท้ามาช่วย นำดูก่อนก้าวออกไป ไม้เท้าจะช่วยบอกให้รู้ถึงความลึก และมีอะไรขวางกั้นอยู่หรือเปล่า แว่นตา ไม้เท้า คนช่วยพยุง จึงจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ตามองไม่ชัดอย่างมาก

โรคประจำตัว เวียนหัวใจสั่น ล้วนทำให้การเดินไม่มั่นคงโดยเฉพาะการขึ้นลงบันได อาจจะลื่นล้มตอนใดตอนหนึ่งก็ได้จึงต้องแก้ไขเสียให้ดีก่อนจะเคลื่อนย้ายตัวเองออกเดินทาง เพราะอยู่ ๆ อาจล้มลงได้ทางเดินต้องเรียบ ไม่เป็นหลุมบ่อ ขรุขระ แสงสว่างต้องมีเพียงพอ ในที่มืด ๆ ก็ คำนวณไม่ถูกว่าจะพบอะไร ไม่แน่ใจก็ไม่ควรออกเดิน ต้องมีความพร้อมทุกอย่างจึงค่อยเดินด้วยความมั่นใจ

ตัวอย่างคนไข้ คนไข้หญิงอายุ80ปีช่วยตัวเองได้เป็นปกติดีมาตลอดบันไดบ้าน 2-3 ชั้นก็ขึ้นลงอยู่ทุกวันเป็นประจำ วันหนึ่งตอนลงบันไดก็คิดอย่างที่เคยเกริ่นไว้แล้วนึกว่าขั้นสุดท้ายหมดแล้ว จะถึงพื้นแล้ว ความจริงยังไม่หมด เหลืออีก 1 ขั้น จึงก้าวผิดจังหวะไป ทำให้ลื่นออกไปล้มลง ข้อศอกและตะโพกกระแทกพื้น ลุกไม่ไหวปวดมาก ต้องเรียกรถพยาบาลมารับไปเอกซเรย์ดูพบกระดูกข้อศอกหัก กระดูกหัวเหน่าร้าว รับไว้รักษาที่ รพ.ราชวิถี

การผ่าตัดรักษา ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์รพ.ราชวิถี นพ.บรรจบ อริยะบุญศิริ, นพ.พงศกรบุบผะเรณู และคณะ ได้ผ่าตัดดามกระดูกที่หักที่ข้อศอกเข้าด้วยกัน ส่วนที่หัวเหน่าเป็นเพียงรอยร้าวสามารถติดเองได้ หลังผ่าตัดได้ทำกายภาพบำบัดทุกวัน ขยับแขนขาให้ข้อได้เคลื่อนไหวสำหรับข้อตะโพกก็มีเครื่องผูกให้ข้อตะโพกได้เคลื่อนงอสูงขึ้นทุกวัน วันละ1 ชม. กายภาพบำบัดจะทำให้กระดูกที่ไม่ติดได้เคลื่อนไหวและยุบบวมได้เร็วขึ้น

ข้อควรระวัง โรคกระดูกหักในผู้สูงอายุต้องใช้เวลานานหน่อยราว2-3 เดือนกว่ากระดูก จะติด และต้องฝึกเดินให้พอเดินได้ไม่ปวด ไม่บวม ซึ่งต้องไปทำที่บ้านต่อ ล้วนต้องใช้เวลาและต้องหาคนดูแลใกล้ชิดด้วย ครอบครัวใดที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านจึงต้องระมัดระวังหาคนดููแลด้วย เจ็บป่วยแต่ละครั้งต้องใช้เวลารักษายาวนาน คนไข้มิใช่หักครั้งเดียว ถ้าไม่ดูแลให้ดีหักแล้วก็หักซ้ำอีกได้ดังตัวอย่างคนไข้รายนี้หักต้องอยู่โรงพยาบาลผ่าตัดดามกระดูกหลายครั้งมาแล้ว ก็ต้องช่วยกันระวังต่อไปอีกด้วยคนสูงอายุจะล้มป่วยเมื่อใดย่อมได้เสมอ มีโรคหลายโรคคอยรุมล้อมตลอด จึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองไว้ให้ดีออกกำลังกายทุกวัน
ทำสมาธิให้จิตผ่องใสจะช่วยให้เจ็บป่วยน้อยลง

ผู้สูงอายุลื่นหกล้มแขนขาหัก เป็นเรื่องที่พบบ่อย ต้องยึดถือไว้เลยว่าไม่ควรประมาท เดินช้า ๆ สติให้อยู่กับตัว มีราวให้ยึดเกาะก็เกาะให้แน่น มั่นใจว่าไม่ล้มแล้วค่อยปล่อยมือ กระดูกแขนขาหักเป็นภาระต่อคนดูแลกับคนทั้งบ้าน กว่าจะหายแขนขาใช้ได้ต้องใช้เวลานาน คนช่วยเหลือดูแลก็หายากทุกอย่างเป็นภาระต่อผู้ดูแลอย่างมาก.

————————-

นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี