หลังการเลือกตั้งห่างหายไปนานหลายปี ตั้งแต่มีการรัฐประหาร 2557 จึงเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่การทำงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังจะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน และให้การเลือกตั้งโปร่งใส ที่สำคัญถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในอนาคตด้วย

ทีมงาน 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า จากการรับสมัครผู้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รอบนี้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 138,087 คน ถือว่ามากกว่าครั้งก่อน แม้ในช่วงที่รับสมัครจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่บางแห่งก็เจอกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเราได้กำชับไปยัง กกต.จังหวัด ให้ระมัดระวัง และสังเกตการณ์หากผู้สมัครเป็นกลุ่มเสี่ยงจะต้องจัดพื้นที่แยกในการสมัคร หรือบางที่กรรมการที่รับสมัครก็ป้องกันโดยการใส่ชุดพีพีอี เพื่อป้องกัน และไม่ให้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโควิด  ด้วยความที่เราไม่ได้เลือกตั้ง อบต. มานานกว่า 8 ปี ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญของการเมืองท้องถิ่นของไทย ที่จะมีการจัดเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ      

จากเดิม ที่แต่ละ อบต. จะเลือกตั้งไม่พร้อมกัน เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับวาระของนายก อบต. นี่จึงเป็นความพิเศษของการเลือกตั้งในครั้งนี้ ที่จะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไปมีการเลือกตั้งพร้อมกันเหมือนครั้งนี้ พอครบวาระ 4 ปีแล้วก็จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศพร้อมกัน แต่อาจมีบางที่ถ้ามีกรณี นายกลาออกก่อน ก็จะทำให้การจัดการเลือกตั้งในคราวถัดไปเร็วกว่าที่อื่น เป็นสิ่งที่กกต. ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น

ปรับแผน 4 ประสานต้านทุจริต

เลขาฯกกต. กล่าวต่อว่า สำหรับหน้าที่ของ กกต.ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ มีความเคร่งครัดในการอบรมกรรมการประจำหน่วย ทั้งการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้งจะต้องมีเทคนิคในการป้องกันไม่ให้มีการปลอมแปลง หรือการนับคะแนนที่โปร่งใส โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดพื้นที่ในการเลือกตั้ง ภายใต้การดูแลควบคุมของเจ้าหน้าที่ กกต. ต้องยอมรับว่า การเป็นกรรมการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นกับระดับประเทศค่อนข้างต่างกัน เนื่องจากการเลือกตั้งระดับประเทศแรงเสียดทานค่อนข้างสูง เพราะมีประเด็นทางการเมืองค่อนข้างเยอะ ต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่นโยบายของผู้สมัครจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ และเมื่อมีความขัดแย้งก็มักจะควบคุมได้ง่ายกว่าระดับประเทศ ที่มีประเด็นเพียงเล็กน้อย ก็จะมีการขยายประเด็นให้ใหญ่ขึ้น จนทำให้การทำงานค่อนข้างยาก แต่ กกต. ก็ต้องวางตัวให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาหาเสียง เราปรับแผนการทำงานโดยใช้โมเดล “4 ประสาน ต้านทุจริต” ซึ่งจะประสานกันระหว่าง 1.ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 2.ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็ว 3.กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ 4.ภาคประชาชน เช่น การขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องการทุจริตในพื้นที่ ซึ่งเมื่อมีเหตุผิดปกติสามารถแจ้งมายังผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในการเข้าไปหาหลักฐาน โดยจะมีตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วที่เรามีการแต่งตั้งเพื่อให้ร่วมเข้าไปดูแลด้วย

“การทำงานแบบ 4 ประสาน ถือเป็นโมเดลใหม่ ที่ กกต. นำมาใช้ในการควบคุมดูแลการเลือกตั้ง เพราะผู้ตรวจการเลือกตั้งเพิ่งมีการแต่งตั้ง จากเดิมที่จะเป็นหน้าที่ของ กกต.จังหวัด โดยหน้าที่จะเป็นการตรวจสอบในพื้นที่เพื่อป้องกันและหาผู้กระทำผิดการเลือกตั้ง มากกว่าจะมานั่งบริหารการเลือกตั้งเหมือนแบบเดิม ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะมีการคัดเลือกบุคคลที่มีศักยภาพ มีความรู้ วุฒิภาวะ โดยบุคคลที่มาสมัครจะต้องมีตำแหน่งระดับสูงในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าเอาเด็ก ๆ มาเป็นได้”

การที่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งลงไปในพื้นที่ทำให้การตรวจสอบต่าง ๆ เร็วขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ กกต. ทั่วประเทศมีแค่ 2,000 กว่าคน เฉลี่ยจังหวัดนึงมีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 20 คน ทำให้การทำงานที่ผ่านมาอาจจะไม่ทั่วถึง แต่พอมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มาทำหน้าที่แบบเฉพาะกิจ ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ก็ทำให้ทำงานง่ายขึ้น

แนวทางป้องกันในช่วงโควิด

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ มีมุมมองด้วยว่า ปัญหาตอนนี้หลังจากรับสมัครการเลือกตั้ง อบต. พบว่า ผู้สมัครส่วนหนึ่งขาดคุณสมบัติเนื่องจากเคยต้องคดีมาก่อน ขณะที่อีกกลุ่มคือ คนที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในครั้งที่ผ่านมา และไม่ได้แจ้งเหตุของการไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งตอนนี้มีผู้สมัครที่ยังไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติประมาณ 100 กว่าราย ขณะเดียวกันการเลือกตั้งครั้งนี้มีการประสานกับกรมควบคุมโรค เพื่อให้มาช่วยดูแลควบคุม ไม่ให้หน่วยเลือกตั้งเป็นที่แพร่เชื้อโควิด เพราะตอนนี้มีเชื้อกลายพันธุ์ที่สามารถติดกันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบางจุดเล็ก ๆ เช่น การเซ็นชื่อของผู้มาเลือกตั้ง จะต้องใช้ปากกาที่ผ่านการทำความสะอาดในทุกครั้ง และห้ามกรรมการประจำโต๊ะส่งปากกาของตัวเองให้ผู้ที่มาเลือกตั้งเซ็น

การแก้ปัญหา หากผู้ที่มาเลือกตั้งมีการเตรียม ปากกาลูกลื่นสีน้ำเงิน มาเองจากบ้าน จะเป็นเรื่องดี ที่ไม่ต้องไปสัมผัสกับปากกาของผู้อื่น โดยจะต้องโชว์ปากกาที่เตรียมมาให้กรรมการประจำหน่วยตรวจสอบก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการทุจริต และตรวจสอบความถูกต้องของปากกา เพราะหลายคนนำปากกาสีดำหรือสีแดงมาจากบ้าน ซึ่งเป็นสีที่ผิดกฎข้อบังคับ และจะทำให้บัตรเลือกตั้งใบนั้นเป็นบัตรเสีย ส่วนการปรับเปลี่ยนในหน่วยเลือกตั้งในภาวการณ์ระบาดของโควิด จะมี อสม.มาวัดอุณหภูมิ หน้าหน่วยเลือกตั้ง หากคนที่มาเลือกตั้งมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าค่าที่กำหนด จะแยกคนนั้นไปในจุดเลือกตั้งต่างหากที่จัดไว้เฉพาะ บุคคลกลุ่มเสี่ยง และจะประสานกับโรงพยาบาลในท้องที่ เพื่อรับไปดูแลรักษาต่อไป

ขณะเดียวกันเรามีการกำหนดปริมาณคนที่จะอยู่ในหน่วยเลือกตั้งไม่เกิน 600 คน จากเดิมที่กำหนดไว้ 1,000 คน เพื่อรักษาระยะห่าง และประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้มาเลือกตั้งสลับเวลากัน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่จะมาเลือกตั้งควรมีการเตรียมความพร้อมในการจำเลขลำดับของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งของตัวเอง ซึ่งจะมีหนังสือแจ้งไปที่บ้าน และจำเลขผู้สมัครที่ต้องการจะเลือก เพื่อป้องกันการสัมผัสเมื่ออยู่หน้าหน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ อยากเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้มาใช้สิทธิในที่ 28 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ซึ่งอยากให้ท่านเลือกคนที่เข้ามาทำงานจริง เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ใกล้กับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นค่อนข้างมาก.